×

สำรวจแนวทางพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ หากวัคซีนที่มีอยู่ใช้ไม่ได้ผลดี โอกาสได้วัคซีนใหม่ ช้า-เร็ว แค่ไหน?

โดย THE STANDARD TEAM
28.01.2021
  • LOADING...
สำรวจแนวทางพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ หากวัคซีนที่มีอยู่ใช้ไม่ได้ผลดี โอกาสได้วัคซีนใหม่ ช้า-เร็ว แค่ไหน?

วัคซีนต้านโควิด-19 ถือเป็นการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคระบาดที่รวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ โดยหลายกลุ่มวิจัย เช่น Moderna, Pfizer-BioNTech หรือมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ร่วมกับ AstraZeneca ใช้เวลาเพียงไม่ถึง 12 เดือน ก็ได้วัคซีนที่มีทั้งประสิทธิภาพและความปลอดภัยในระดับสูงมากพอใช้งาน

 

แต่การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 หรือไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ปรากฏในหลายประเทศ โดยเฉพาะสหราชอาณาจักรและแอฟริกาใต้ มีแนวโน้มแพร่ระบาดได้รวดเร็วและมีอันตรายร้ายแรงกว่า อีกทั้งยังอาจ ‘ทนทาน’ ต่อวัคซีนที่มีอยู่ได้มากกว่า ทำให้บรรดาผู้พัฒนาวัคซีนต่างต้องเร่งหาทางรับมือ ท่ามกลางความกังวลว่าวัคซีนที่มีอยู่จะไม่สามารถใช้ป้องกันการติดเชื้อได้

 

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ผู้พัฒนาวัคซีนมั่นใจว่าสามารถพัฒนาวัคซีนเพื่อรับมือเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ที่พบได้ แต่คำถามสำคัญคือ ต้องใช้เวลานานแค่ไหน?

 

Moderna ประกาศเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (25 มกราคม) เชื่อว่า วัคซีนโควิด-19 ที่ทางบริษัทพัฒนานั้นสามารถต้านทานเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ได้ แต่ก็เตรียมพร้อมเริ่มต้นการทดลองในมนุษย์ สำหรับวัคซีนตัวใหม่ที่มุ่งป้องกันเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้

 

“เราแค่อยากให้ระมัดระวังให้มากที่สุด เพราะไวรัสตัวนี้มีความซับซ้อน ขณะที่เราทุกคนยังได้เรียนรู้ถึงความยากลำบากจากเมื่อปีที่แล้ว” สเตฟาน บานเซล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทผลิตยา Moderna กล่าว พร้อมยืนยันว่าต้องเริ่มดำเนินการตอนนี้ เนื่องจากอาจใช้เวลาอีกหลายเดือนในการพัฒนาวัคซีนใหม่สำหรับรับมือไวรัสกลายพันธุ์

 

ขณะที่ Moderna ตัดสินใจเริ่มต้นการทดลองวัคซีนตัวใหม่ หลังค้นพบว่าวัคซีนที่มีอยู่ให้ผลในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย เพื่อป้องกันเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ หรือที่เรียกว่าสายพันธุ์ 501.v2 ได้ต่ำกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ถึง 6 เท่า 

 

อีกสาเหตุที่ทำให้ต้องเร่งพัฒนาวัคซีนใหม่ เพราะยิ่งไวรัสกลายพันธุ์ตัวนี้แพร่ระบาดมากเท่าไร มันก็จะยิ่งมีการกลายพันธุ์มากขึ้น

 

แดน บารัช ผู้อำนวยการศูนย์ไวรัสวิทยาและวิจัยวัคซีนของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ชี้ว่า วัคซีนที่ใช้กันอยู่ ณ ปัจจุบัน ต่างพัฒนาจากพื้นฐาน DNA ไวรัสที่มาจากเมืองอู่ฮั่นของจีน ซึ่งผลกระทบจากการกลายพันธุ์ของไวรัสที่มีต่อวัคซีนนั้น มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อวัคซีนทุกตัว

 

สำหรับแนวทางพัฒนาวัคซีนเพื่อรับมือกับเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์นั้น ขั้นตอนเร่งด่วนคือการเตรียมพร้อมพัฒนาวัคซีนต้นแบบและบูสเตอร์ หรือวัคซีนสำหรับฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยให้ผู้พัฒนาสามารถเดินหน้าการทดลองวัคซีนในอาสาสมัครกลุ่มเล็กๆ ได้อย่างรวดเร็ว

 

ขณะที่เทคโนโลยีในการพัฒนาวัคซีนที่มีอยู่แล้ว ยังสามารถนำมาใช้เพื่อให้การพัฒนาและผลิตวัคซีนตัวใหม่ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดย Moderna นั้นใช้เวลาเริ่มพัฒนาวัคซีนโควิด-19 จากลำดับพันธุกรรมไวรัสจนถึงได้วัคซีนโดสแรกในเวลา 42 วัน แต่สำหรับวัคซีนเวอร์ชันใหม่ที่ใช้ต้านเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์จะเร็วกว่านั้น เนื่องจากสูตรในการพัฒนาวัคซีนแทบทุกอย่างจะคงเดิม ยกเว้นลำดับพันธุกรรมจากไวรัสกลายพันธุ์ที่ต่างออกไป

 

ด้านบริษัท BioNTech ของเยอรมนี ที่พัฒนาวัคซีนร่วมกับ Pfizer ชี้ว่า การพัฒนาวัคซีนตัวใหม่จากเทคโนโลยี mRNA ที่ใช้อยู่นั้น สามารถทำได้รวดเร็ว และผลิตวัคซีนตัวใหม่ได้ภายใน 6 สัปดาห์

 

“ความสวยงามของเทคโนโลยี mRNA คือเราสามารถเริ่มสร้างวัคซีนที่เลียนแบบการกลายพันธุ์ใหม่นี้ได้โดยตรง และเราสามารถผลิตวัคซีนใหม่ได้ภายใน 6 สัปดาห์” อูกูร์ ซาฮิน ซีอีโอของ BioNTech กล่าว ขณะที่ AstraZeneca ที่ใช้เทคโนโลยี mRNA เช่นกัน เผยว่าอาจใช้เวลาพัฒนาวัคซีนใหม่ราว 4-6 สัปดาห์

 

สำหรับในสหรัฐฯ วัคซีนที่ได้รับการอนุมัติใช้งานจากองค์การอาหารและยา หรือ FDA จะใช้เวลาในการตรวจสอบข้อมูลประสิทธิภาพและความปลอดภัย เฉลี่ยราว 2 เดือน ซึ่งสำหรับวัคซีนใหม่ที่พัฒนาจากเทคโนโลยี mRNA จะมีข้อได้เปรียบคือ FDA ไม่บังคับให้ต้องทำการทดลองความปลอดภัยหากส่วนประกอบของวัคซีนยังเหมือนเดิม และมีเพียงลำดับพันธุกรรมไวรัสที่เปลี่ยนแปลงไป

 

ภาพ: Cryptographer via ShutterStock

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising