×

2020 เมื่อโควิด-19 ระบาด ประวัติศาสตร์และโบราณคดีจึงกลับมาโกยความนิยมแบบออนไลน์

28.12.2020
  • LOADING...
2020 เมื่อโควิด-19 ระบาด ประวัติศาสตร์และโบราณคดีจึงกลับมาโกยความนิยมแบบออนไลน์

HIGHLIGHTS

6 mins. read
  • โบราณคดีออนไลน์สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ เพจของนักโบราณคดีอิสระ และเพจของนักโบราณคดีทางการ ทั้งสองกลุ่มนี้มุ่งผลิตความรู้คนละชุดกัน ซึ่งเป็นผลจากพันธะสัญญาของชีวิตที่มีไม่เหมือนกัน 
  • เพจของนักโบราณคดีอิสระ เป็นไปตามชื่อคือ เมื่ออิสระก็มีสิทธิ์ที่จะนำเสนอเรื่องราวใหม่ๆ ที่แตกต่างไปจากงานโบราณคดีมาตรฐานหรือแบบเดิมๆ ได้ไม่ยาก
  • โควิด-19 นี้ได้สร้างภาวะปั่นป่วนให้เกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคตอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้คนพยายามย้อนกลับไปหาอดีตเพื่อเป็นที่พักพิงทางใจ ในขณะที่เพจของนักโบราณคดีอิสระนั้นได้เป็นทางเลือกเปิดออกไปสู่โลกภายนอก ซึ่งดูจะเป็นแนวโน้มของคนในยุคปัจจุบันที่ต้องการแสวงหาความรู้ที่กว้างใหญ่มากขึ้น และเป็นความรู้ที่ร่วมสมัยกว่าความรู้โบราณคดีแบบดั้งเดิมที่จำกัดอยู่เองอยู่ในรัฐชาติ  

 

โควิด-19 ส่งผลให้แวดวงโบราณคดีทั่วโลกต้องปรับตัวกันครั้งใหญ่ จากเดิมที่ทุกปีจะต้องมีการขุดค้น ออกสำรวจภาคสนาม และสัมมนาวิชาการระดับโลกกัน แต่ตอนนี้ต้องเปลี่ยนมาเป็นการทำงานในโลกออนไลน์กันแทน ทำให้ข้อมูลจำนวนมหาศาลที่มักปิดกันอยู่ในวงแคบๆ กระจายออกไปสู่สาธารณชนในวงกว้างอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน 

 

แต่นั่นก็คงเป็นเรื่องปกติที่เมื่อเจอปัญหาก็ต้องหาทางออก แต่สิ่งหนึ่งที่ผมว่าน่าสนใจมากกว่าการเปลี่ยนแพลตฟอร์มในการนำเสนอความรู้นั้นก็คือ หนึ่ง การเพิ่มขึ้นของคอนเทนต์หรือเนื้อหาใหม่ๆ ในแวดวงโบราณคดีในประเทศไทย และสอง ความนิยมและการเข้ามามีส่วนร่วมของคนในสังคมต่องานโบราณคดีในโลกโซเชียลมีเดียมากขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นจากการมีเวลาว่างหรือเพราะต้องจำใจอยู่บ้านกัน แต่ที่ลึกไปกว่านั้นคือ สาม เนื้อหาทางเลือกด้านโบราณคดีที่ผลิตขึ้นมานั้นกำลังสะท้อนอะไร และสะท้อนให้เราเห็นอะไรในสังคมไทย 

ผมขอแบ่งกลุ่มของโบราณคดีออนไลน์ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ เพจของนักโบราณคดีอิสระและเพจของนักโบราณคดีทางการ เรียกได้ว่าทั้งสองกลุ่มนี้มุ่งผลิตความรู้คนละชุดกันเลย ซึ่งเป็นผลจากพันธะสัญญาของชีวิตที่มีไม่เหมือนกัน บางเพจนั้นแอ็กทีฟก่อนหน้าโควิด-19 บางเพจนั้นก็เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 นี้ครับ

 

 

กลุ่มแรก เพจของนักโบราณคดีอิสระ ซึ่งเป็นไปตามชื่อ ในเมื่ออิสระก็มีสิทธิ์ที่จะนำเสนอเรื่องราวใหม่ๆ ที่แตกต่างไปจากงานโบราณคดีมาตรฐานหรือแบบเดิมๆ ได้ไม่ยาก 

 

เพจที่เกิดขึ้นในช่วงโควิดคือ เพจ Archaeologeek เพจนี้ทำโดยนักโบราณคดีอิสระชื่อว่า ต้น-นรุตม์ โล้กูลประกิจ ซึ่งปัจจุบันได้ทำบริษัทรับทำงานด้านโบราณคดีชื่อว่า Re:Form Archaeology & CRM ไอเดียหลักของแอดมินคือ งานโบราณคดีทางเลือกที่ใช้งาน Pop Culture เป็นสะพานในการสื่อสาร เพื่อทำให้คนทั่วไปเห็นว่า งานโบราณคดีนั้นมันแทรกอยู่ในภาพยนตร์แอ็กชัน สัตว์ประหลาด ละคร และสื่อบันเทิง ไม่จำกัดเฉพาะในหลุมขุดค้นเท่านั้น 

 

ต้นได้ให้สัมภาษณ์ว่า “โจทย์หลักของเราคือ ทดลองสร้างสะพานความรู้ เพราะตอนเรียนโท ทำวิจัยเกี่ยวกับการสื่อความหมายในพิพิธภัณฑ์ แล้วตัวเองก็ทำงานโบราณคดีด้วย จะทำยังไงให้คนอื่นๆ สนใจโบราณคดี ฝึกเขียนๆ โพสต์ๆ ในหน้าเฟซบุ๊กส่วนตัวไปก็เริ่มมีคนติดตาม มีรุ่นน้องเชียร์ว่าให้เปิดเพจเถอะ คอนเทนต์มันทำงานนะ โพสต์ล่าสุดตอนนั้นคือเรื่องโบราณคดีของการชักว่าว มีคนแชร์ไปเป็นพันเลย ตอนนั้นรู้สึกว่ามีคนเข้ามาหน้าเฟซบุ๊กส่วนตัวเยอะไปแล้ว ถ้าอย่างนั้นเปิดเพจดีกว่า เลยได้รุ่นน้องที่ไปล่าสัตว์ประหลาดที่ญี่ปุ่นด้วยกันช่วยตั้งชื่อให้ ก็มันเป็นเรื่องกี๊กๆ นี่เนอะ เลยคิดว่าเป็น Archaeologeek แล้วกัน”

 

 

เพจโบราณคดีจีน 中国考古学 เป็นอีกเพจที่ความจริงแล้วก็ตั้งมาตั้งแต่ปี 2561 แล้ว แต่มาแอ็กทีฟเอามากๆ ก็ช่วงโควิด-19 แอดมินเพจคือ ลูกฟูก-ภัทรพร สะลีมา ที่ขณะนี้ปริญญาเอกด้านโบราณคดีที่คณะประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเสฉวน 

 

เธอได้กล่าวถึงสาเหตุที่ทำเพจได้ว่า “เป้าหมายหลักคือเพื่อเผยแพร่ข้อมูลโบราณคดีจากฝั่งจีนที่บ้านเรามีข้อมูลน้อย และข้อมูลที่มีก็ค่อนข้างจะเก่ามาก ก็เลยคิดว่าถ้ามีเพจเผยแพร่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนที่สนใจ ซึ่งผมก็เห็นด้วย เพราะข้อมูลโบราณคดีจีนกว่าร้อยละ 90 นั้นเป็นภาษาจีน ทำให้คนไทยยากที่จะเข้าถึง เนื่องจากเราใช้ภาษายุคอาณานิคมคืออังกฤษและฝรั่งเศสเป็นหลัก ในขณะที่เรามักบอกว่า ไทยอยู่บนเส้นทางระหว่างจีนกับอินเดียแท้ๆ แต่ข้อมูลทางฝั่งจีนกลับยังศึกษากันน้อย เพจโบราณคดีจีนจึงเป็นเพจที่ทำให้เราหูตากว้างไกลขึ้นครับ”

 

 

อีกเพจหนึ่งคือ อดีตกินได้ The Edible Past ตั้งโดย โจ้-ณัฏฐา ชื่นวัฒนา เมื่อปลายปี 2562 ปัจจุบันเธอกำลังเรียนปริญญาเอกที่ภาควิชามานุษยวิทยา​ มหาวิทยาลัยโทรอนโต​ ประเทศแคนาดา​ ศึกษาด้านโบราณพฤกษคดี​ ณัฏฐาให้เหตุผลที่เขียนบทความต่างๆ มากมายว่า 

 

“อยากเขียนเรื่องโบราณคดีให้เป็น​ ‘เรื่องที่กินได้’ ทั้งที่เป็นเรื่องอาหารและเรื่องในอดีตของมนุษย์ที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่าย​ เพราะโบราณคดีศึกษามนุษย์​ พอทำๆ ไป​ ก็ขยายเรื่องราวจากโบราณคดีไปเป็นประวัติศาสตร์อาหารด้วย”​ 

 

ถ้าใครสนใจงานของเธอก็สามารถติดตามได้ใน The101.World ครับ ในภาพรวมของเพจก็อย่างที่คนเขียนบอกคือ นำเสนอข้อมูลโบราณคดีที่เกี่ยวข้องกับอาหารและพืชพันธุ์ต่างๆ ในอดีต และพยายามเชื่อมโยงกับปัจจุบัน บางครั้งก็เป็นเรื่องงานค้นคว้าที่เกี่ยวข้องกับอาหาร 

 

 

อีกเพจที่ค่อนข้างแอ็กทีฟในช่วงโควิด-19 ก็คือ The PITT ทำโดยนักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ชื่อ ดร หรือ ธรรดร กุลเกลี้ยง เป็นเพจที่ทำมาสัก 2 ปีแล้ว แต่พอช่วงโควิด-19 ก็เขียนบทความเพิ่มขึ้น พร้อมกับยอดคนดูที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน 

 

ดรเล่าให้ฟังว่า “สาเหตุที่ทำเพจนี้เป็นไอเดียที่คิดกับเพื่อนครับ ตอนแรกอยากทำเป็นวารสาร รวมบทความวิชาการเพี้ยนๆ ที่พวกผมชอบคุยกันเวลากินเหล้า แต่ผมคิดว่าไอเดียวารสารแจกฟรีมันไม่เวิร์กแล้ว เลยเอามาทำเป็นเพจแทน” 

 

ประเด็นหลักๆ ที่เพจนำเสนอคือ ข่าวสารและหลักฐานที่ค้นพบใหม่ในแวดวงโบราณคดีทั้งไทยและเทศ รวมถึงพยายามจัดเสวนาออนไลน์เกี่ยวกับโควิด-19 กับงานโบราณคดีเป็นเจ้าแรกอีกด้วย แต่ช่วงนี้แอดมินเพจกำลังเขียนวิทยานิพนธ์อย่างคร่ำเคร่ง คงอีกสักพักถึงจะออกจากถ้ำมาเขียนอะไรจริงจังอีกที 

 

นอกจากนักโบราณคดีอิสระที่เรียนจบโบราณคดีมาโดยตรงจากสถาบันแล้ว ยังมีนักโบราณคดีอีกกลุ่มที่เรียกว่า นักโบราณคดีสมัครเล่น ซึ่งผมคงจะไม่ลงรายละเอียด เพราะเคยเขียนลงไปแล้วใน THE STANDARD เรื่อง รู้จัก ‘โอตะแห่งวงการโบราณคดี’ ปรากฏการณ์นี้สะท้อนอะไร 

 

สรุปสั้นๆ คือนักโบราณคดีกลุ่มนี้เน้นการสำรวจแหล่งโบราณคดี โบราณสถาน ที่อยู่ในพื้นที่เขตบ้านและท้องถิ่นของตนเองเป็นหลัก ถึงบางเรื่องจะยังอยู่ในกรอบความคิดของการจัดแบ่งยุคสมัยของประวัติศาสตร์โบราณคดีชาติ แต่ก็ช่วยทำให้เข้าใจพัฒนาการของท้องถิ่นนับจากสมัยโบราณถึงปัจจุบันได้ชัดเจนขึ้น และทำให้เห็นว่างานโบราณคดีสามารถเริ่มต้นจากใครก็ได้ที่สนใจ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักโบราณคดีอาชีพเพียงอย่างเดียว

 

กลุ่มที่สอง เพจของทางราชการ ก็เห็นจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากกรมศิลปากร ซึ่งช่วงนี้ต้องยอมรับว่า เขาท็อปฟอร์มและแอ็กทีฟกันมากกับการผลิตคอนเทนต์ เท่าที่สังเกตแล้วแบ่งกลุ่มของข้อมูลออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ถ้าเป็นฝ่ายของสำนักโบราณคดีจะเน้นการนำเสนอข้อมูลแหล่งโบราณคดีเป็นหลัก เช่น อายุสมัย หลักฐานที่พบ ตำแหน่งที่พบ และนำเสนอการตีความเบื้องต้น เช่น เครื่องมือหินช่วยบอกเราว่าคนที่ใช้เครื่องมือพวกนี้อยู่ในสังคมล่าสัตว์-หาของป่า อีกชุดมาจากสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ซึ่งมักนำเสนอเรื่องราวในอดีตผ่านสิ่งของหรือโบราณวัตถุ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องน่าชื่นชม เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมา กรมศิลปากรค่อนข้างอ่อนเรื่องการนำเสนอหลักฐานต่างๆ ผ่านโซเชียลมีเดีย ความจริงเรื่องนี้ไม่ได้เป็นผลมาจากโควิด-19 โดยตรง แต่เกิดจากนโยบายก่อนหน้านี้ หากแต่จริงจังมากขึ้นในช่วงโควิด-19 เช่น แนวคิดเรื่องพิพิธภัณฑ์ออนไลน์ เป็นต้น 

 

อย่างไรก็ตามถ้าเปรียบเทียบกับเพจต่างๆ ของนักโบราณคดีอิสระ จะเห็นได้ถึงความแตกต่างด้านกราฟิก คอนเทนต์ แนวคิดทฤษฎีที่สอดแทรกอยู่ในการโพสต์ กระทั่งบางเรื่องก็เชื่อมโยงเข้ากับประเด็นทางการเมือง ซึ่งเพจในกลุ่มราชการนี้มีข้อจำกัด เพราะต้องพยายามสร้างความเป็นกลางให้เกิดขึ้น ซึ่งก็เป็นอะไรที่เข้าใจได้ อีกทั้งยังเน้นข้อมูลด้านโบราณคดีภายในของหน่วยงานเป็นหลัก ไม่มีอัปเดตความรู้ใหม่ๆ ในต่างประเทศหรือแชร์มาจากสำนักข่าวหรือเพจที่น่าเชื่อถือ ทำให้งานขาดการมองภาพในระดับ Global ไปในหลายประเด็น ความรู้จึงจำกัดแค่เรื่องของไทยเท่านั้น

 

ที่น่าสนใจด้วยคือ บางเพจ เช่น ของกรมศิลปากร มีคนเข้าไปแสดงความคิดเห็นอย่างมากมาย จนต้องมีการประชุมปัญหาเรื่องแนวทางจัดการเรื่องโซเชียลมีเดียกันอยู่หลายครั้ง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้น่าสนใจ อาจบอกว่าเป็นเรื่องดราม่ากันไปเอง แต่มันก็สะท้อนถึงการที่ประชาชนอยากเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรมของตนเองมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของสังคมที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นนั่นเอง

 

ในความจริงแล้ว เพจของนักโบราณคดีอิสระนั้นก็อยากที่จะนำเสนอหลักฐานทางโบราณคดีในแบบงานราชการอยู่บ้าง แต่ก็ติดปัญหาหลายอย่าง ซึ่งเป็นทางหนึ่งที่บังคับให้ต้องสร้างคอนเทนต์ในแนวใหม่ๆ ขึ้นมา แอดมินเพจ Archaeologeek ได้ให้ข้อมูลว่า 

 

“งานโบราณคดีบ้านเราไม่เหมือนงานประวัติศาสตร์ หรืองานประวัติศาสตร์ศิลปะ หลายๆ กรณี งานโบราณคดีมีเจ้าของลิขสิทธิ์ และเรื่องสิทธิ์ในการเผยแพร่ข้อมูลยังคงมีอยู่ เราเลยไม่สามารถเขียนแชร์งานของเราเองได้โดยตรง แต่อย่างไรก็ตามเรายังคิดว่าจะหาทางทำออกมาให้ได้ อย่างน้อยพวกเนื้อหาเกี่ยวกับโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ในบ้านเรา Archaeologeek อยากนำเสนอมากๆ” 

 

ปัญหาเรื่องนี้คงอยู่ที่การขาดความชัดเจนในเรื่องลิขสิทธิ์ ความจริงแล้วทางหน่วยงานราชการควรขีดเส้นแบ่งง่ายๆ ว่าเมื่อรายงานเบื้องต้นได้ถูกตีพิมพ์แล้ว หรือในปัจจุบันที่มีการเผยแพร่ออนไลน์กันบ้าง ควรถือว่านักวิชาการหรือคนทั่วไปสามารถใช้ข้อมูลได้ แต่ต้องไม่ใช่การใช้แบบสรุปความรายงานนั้นออกมาทั้งชิ้น เพื่อไปตีพิมพ์บทความทางวิชาการเพื่อใช้ในการขอตำแหน่งหรือประโยชน์ทางการค้า เช่น การพิมพ์ขายทั้งเล่มหรือบางส่วน เป็นต้น 

 

ในความคิดของผมมองว่า หากไม่สร้างเส้นแบ่งให้ชัดเจน จะก่อให้เกิดความชะงักงันในการวิเคราะห์ ความร่วมมือกันทำงานนั้นเป็นสิ่งสำคัญของการศึกษาอดีต เพราะเราไม่อาจรู้อดีตและกุมอดีตไว้ในมือได้เพียงผู้เดียว  

 

 

ความจริงนอกจากเพจพวกนี้ก็มีทั้งเพจ บล็อก และเว็บไซต์ของสื่อต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แต่ผมไม่ได้ตามทั้งหมด แต่ก็มีปรากฏการณ์คล้ายๆ กัน กระทั่งเพจที่ผมเป็นคนดูแลเองคือ โบราณคดีเชิงวิพากษ์ Critical Archaeology ก็พบว่า ในช่วงโควิด-19 ที่ผมมีเวลาว่างมากขึ้น ก็โพสต์เรื่องราวต่างๆ มากขึ้น คนเข้าดูเพจก็เพิ่มปริมาณสูงขึ้นเช่นกัน และเมื่อนำภาพถ่ายเก่าของไทยช่วงร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ยอดไลก์และแชร์นั้นสูงขึ้นอย่างมหาศาล ด้านหนึ่งอาจบอกได้ว่า ทั้งแอดมินและคนอ่านนั้นว่างถึงทำให้ยอด Reach และ Engagement เพิ่มขึ้น ซึ่งสามารถเข้าใจได้ง่าย 

 

แต่ผมคิดว่า โควิด-19 นี้ได้สร้างภาวะปั่นป่วนให้เกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคตอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เมื่อเป็นเช่นนั้น ทำให้คนพยายามย้อนกลับไปหาอดีตเพื่อเป็นที่พักพิงทางใจ ในขณะที่เพจของนักโบราณคดีอิสระนั้นได้เป็นทางเลือกเปิดออกไปสู่โลกภายนอก ซึ่งดูจะเป็นแนวโน้มของคนในยุคปัจจุบันที่ต้องการแสวงหาความรู้ที่กว้างใหญ่มากขึ้น และเป็นความรู้ที่ร่วมสมัยกว่าความรู้โบราณคดีแบบดั้งเดิมที่จำกัดอยู่เองในรัฐชาติ 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X