×

กูรูแนะ จับตาโควิดในจีน ปัจจัยเสี่ยงใหญ่คุกคามเศรษฐกิจโลกที่ยังถูกเมิน

18.04.2022
  • LOADING...
โควิดในจีน

ในขณะที่ทั่วโลกต่างกังวลและให้ความสำคัญกับปัญหาเงินเฟ้อที่ล่าสุดยังไม่มีทีท่าว่าจะแผ่วลง แม้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้วระลอกแรก กระนั้นบรรดาผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งต่างออกโรงเตือนว่า ปัญหาการระบาดระลอกใหม่ของโควิดในจีนต่างหากที่เป็นปัจจัยเสี่ยงหลักซึ่งกำลังคุกคามเศรษฐกิจโลกอยู่ในเวลานี้ แต่กลับยังไม่ได้รับความสนใจหรือเป็นที่พูดถึงสักเท่าไรนัก

 

สถานีโทรทัศน์ CNN รายงานว่า การระบาดครั้งใหม่ของโควิดในจีนส่งผลให้ประชากรจีนเกือบ 400 ล้านคน ใน 45 เมืองทั่วประเทศ ต้องถูกล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดภายใต้นโยบาย Zero-COVID โดย Nomura Holdings ประเมินว่า เมืองทั้งหมดที่เจอล็อกดาวน์มีมูลค่า 40% หรือ 7.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของจีน

 

เหล่านักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งเตือนว่า นักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดรับรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นในจีน แต่กลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสักเท่าไรนัก กล่าวคือยังไม่มีการประเมินผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจทั้งของจีนและของโลกอย่างถูกต้องเท่าที่ควร

 

ลู่ถิง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จีนของ Nomura กล่าวว่า ตลาดโลกยังประเมินผลกระทบจากโควิดในจีนต่ำเกินไป เนื่องจากนักลงทุนเกือบทั้งหมดให้ความสำคัญกับความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed เพื่อสกัดเงินเฟ้อ

 

ทั้งนี้ การล็อกดาวน์เมืองต่างๆ ในจีน โดยเฉพาะเซี่ยงไฮ้ ศูนย์กลางทางการเงิน การส่งออก และโรงงานอุตสาหกรรมของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ไม่เพียงทำให้กำลังการบริโภคภายในประเทศหายไปเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อตลาดโลก โดยเฉพาะแนวโน้มปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทาน เพราะต้องมีการปิดท่าเทียบเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลก

 

ทั้งนี้ ท่าเรือเซี่ยงไฮ้ซึ่งรองรับการขนส่งสินค้ากว่า 20% ของจีนในปี 2021 ขณะนี้ต่างอยู่ในภาวะหยุดนิ่ง สินค้าหลายรายการ โดยเฉพาะอาหาร ถูกทิ้งไว้และกำลังเน่าเสีย ขณะที่สินค้านำเข้าหลายรายการก็ติดอยู่ท่าเรือเซี่ยงไฮ้ และใช้เวลาเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 7-8 วันกว่าที่จะดำเนินการขนส่งไปยังที่อื่น ทำให้ภาวะขาดแคลนสินค้าเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

 

เซี่ยงไฮ้ถือเป็นแหล่งผลิตสินค้าส่งออกที่มีสัดส่วน 6% ของ GDP จีน และการปิดโรงงานทั้งในและรอบๆ เซี่ยงไฮ้ ทำให้ห่วงโซ่อุปทานที่มีได้รับผลกระทบมากขึ้น

 

มีรายงานว่า โรงงานซัพพลายเออร์ของ Sony และ Apple โดยรอบเซี่ยงไฮ้ต้องปิดทำการชั่วคราว ขณะที่ Quanta ผู้ผลิตโน้ตบุ๊กตามสั่งของโลกและผู้ผลิต MacBook ก็มีรายงานหยุดการผลิตทั้งหมดเช่นกัน โดยโรงงานแห่งนี้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของกำลังการผลิตโน้ตบุ๊กของ Quanta ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทคาดว่าจะสามารถจัดส่งได้ 72 ล้านเครื่องในปีนี้ และ Tesla ประกาศปิดโรงงาน Shanghai Giga ซึ่งผลิตรถยนต์ไฟฟ้าประมาณ 2,000 คันต่อวันเป็นการชั่วคราว

 

ก่อนหน้านี้กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีนกล่าวในแถลงการณ์ว่า ได้ส่งคณะทำงานไปยังเซี่ยงไฮ้ เพื่อเร่งดำเนินการตามแผนที่จะทำให้โรงงาน 666 แห่งในเมืองที่ถูกล็อกดาวน์ กลับมาเปิดทำการอีกครั้งภายในเร็ววัน

 

ไมเคิล เฮอร์สัน หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการประจำจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ Eurasia Group กล่าวว่า ผลกระทบต่อจีนเป็นเรื่องใหญ่และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกค่อนข้างมีนัยสำคัญ และขณะนี้ทั่วโลกกำลังเผชิญกับความผันผวนและความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างน้อยในอีก 6 เดือนข้างหน้า

 

ขณะเดียวกัน แม้ว่าการหยุดชะงักของการผลิตและการขนส่งของจีนยืดเยื้อเป็นเวลานาน สามารถช่วยเสริมแนวนโยบายของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ที่ต้องการลดการพึ่งพาสินค้าจีนให้มากขึ้น แต่ไม่ได้เป็นผลดีกับเศรษฐกิจโลกโดยรวม

 

และแม้จะยังไม่ลงรอยกัน แต่ข้อมูลจาก Rhodium Group พบว่า สหรัฐฯ กับจีน ต่างมีการลงทุนในหุ้นและพันธบัตรของกันและกันสูงถึง 3.3 ล้านล้านดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2020

 

ขณะนี้บรรดานักวิเคราะห์เริ่มไม่เชื่อแล้วว่าเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2022 ที่ 5.5% ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ทะเยอทะยานน้อยที่สุดของประเทศในรอบ 3 ทศวรรษของจีนนั้นจะสามารถเป็นจริงได้ ขณะที่ธนาคารโลก หรือ World Bank ได้ปรับประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในสัปดาห์นี้ลงมาอยู่ที่ 5% แต่ตั้งข้อสังเกตว่า หากนโยบายที่เข้มงวดในการจัดการกับโควิดยังคงดำเนินต่อไป อาจทำให้การเติบโตของจีนปีนี้ลดลงเหลือ 4%

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้บรรดานักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำในจีนต่างออกมาคาดการณ์ก่อนที่จะมีการเปิดเผยตัวเลข GDP ไตรมาสแรกของประเทศว่า เศรษฐกิจของจีนอาจเติบโตในอัตราระหว่าง 4-5% โดยให้เหตุผลว่า การค้าขายยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลักให้เศรษฐกิจจีนเดินหน้าไปต่อได้ แต่การระบาดของโควิดในเซี่ยงไฮ้ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

 

นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งเชื่อว่าการล็อกดาวน์เพื่อสกัดโควิดจะส่งผลกระทบต่อการผลิตน้อยกว่าการบริโภค ขณะที่การลงทุนของภาครัฐและเอกชนจะยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ยังสามารถเติบโตได้อีกแม้ยอดขายลดลง เนื่องจากโครงการในปัจจุบันยังต้องเดินหน้าก่อสร้างให้แล้วเสร็จ

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X