ตามรอยคู่ปรับอย่างเครือ LVMH มาติดๆ สำหรับอีกหนึ่งยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมแฟชั่นหรูอย่าง Kering ซึ่งมีแบรนด์ในมืออย่าง Gucci, Saint Laurent, Bottega Veneta และ Balenciaga ซึ่งได้รายงานผลประกอบการในช่วงไตรมาส สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2020 พบว่ายอดขายได้รับผลกระทบเกินความคาดหมาย อันเป็นผลจากการระบาดของโควิด-19
Kering รายงานรายได้รวมลดลง 15.4% เหลือ 3.2 พันล้านยูโร หรือ 1.13 แสนล้านบาท มากกว่าผลประเมินที่บริษัทออกมาคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่ารายได้จะลดลงระหว่าง 13-15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งหากตัดผลกระทบของการเข้าซื้อกิจการและการผันผวนของค่าเงิน จะพบว่าไตรมาสนี้รายได้ลดลงถึง 16.4%
การระบาดของโควิด-19 ทำให้ร้านค้าทั่วโลกของ Kering ต้องปิดชั่วคราวถึง 53% ในไตรมาสแรก แต่สถานการณ์ที่เลวร้ายในช่วงต้นเดือนเมษายนทำให้ต้องปิดร้านค้าเพิ่มเติมในญี่ปุ่นและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมๆ แล้วสัปดาห์ที่ผ่านมามีร้านค้าต้องปิดชั่วคราวมากถึง 2 ใน 3
Gucci ซึ่งเป็นแบรนด์หัวหอกที่ทำรายได้มากกว่า 60% ของเครือ Kering และเป็น 82% ของกำไรจากการดำเนินงานในปีที่ผ่านมาพบว่ายอดขายลดลง 23.2% ซึ่งนับว่าน่าตกใจเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ของปี 2019 ที่เติบโต 10.5% และ 20% ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว
จริงๆ แล้วในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2020 Gucci ทำผลงานได้ดีมาก เพราะยอดขายในอเมริกาเหนือเพิ่มขึ้นเป็นเลขสองหลัก ทว่าความสุขอยู่กับ Gucci ได้ไม่นาน เพราะที่สุดแล้วผลกระทบจากยอดขายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกทำให้ภาพรวมต้องติดลบ ทั้งนี้สถานการณ์ของโรคระบาดที่ดีขึ้นในจีนแผ่นดินใหญ่ทำให้ยอดขายของ Gucci กลับมาเติบโตบ้างแล้ว แต่บริษัทแม่ก็บอกว่าเร็วเกินไปที่จะสรุปผลเกี่ยวกับการฟื้นตัว เพราะร้านค้าบางแห่งเพิ่งเปิดช่วงปลายเดือนมีนาคม และส่วนใหญ่ยังอยู่ในเมืองหลวงคือปักกิ่งเท่านั้น
สำหรับแบรนด์อื่นๆ ก็มียอดขายที่ลดลงเช่นเดียวกัน Balenciaga และ Alexander McQueen ยอดขายลดลง 5.4% โดยสินค้ากลุ่มนาฬิกาและเครื่องประดับได้รับผลกระทบมากกว่าสินค้ากลุ่มเครื่องหนัง
เพื่อรับมือกับรายได้ที่ลดลง Kering วางแผนที่จะลดค่าใช้จ่ายอย่าง ‘รุนแรง’ บางแบรนด์จะลดลงในระดับตัวเลข 2 หลัก แต่จะรักษาการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ไว้ ทั้งการลงทุนเพื่อเสริมประสิทธิภาพของโลจิสติกส์ การปรับปรุงขีดความสามารถด้านดิจิทัล อีคอมเมิร์ซ และไอที นอกจากนี้ยังได้ปรับเงินปันผลลง 30% และกำลังเจรจากับเจ้าของพื้นที่เพื่อต่อรองเรื่องค่าเช่า
“เรารู้ว่าจะเผชิญกับไตรมาสที่ยากลำบากมากและยังเป็นปีที่ท้าทายอีกด้วย แต่ฉันรับรองได้ว่าเราไม่เพียงแต่ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดได้ดีเท่านั้น เรายังใช้บทเรียนเหล่านี้เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ ความยืดหยุ่น และความคล่องตัวให้ดีขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต” ฌอง-มาร์ก ดูเพลซ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของ Kering กล่าว
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายสำนักเชื่อว่า Kering จะรับมือกับวิกฤตครั้งนี้อย่างไม่ยากลำบากมากนัก เพราะบริษัทมีเงินสดที่แข็งแกร่งและมีแนวโน้มที่จะได้รับประโยชน์มากกว่าคนอื่นๆ จากการขายในช่องทางอีคอมเมิร์ซเพื่อชดเชยผลกระทบจากการปิดร้าน มีการเปิดเผยว่ายอดขายไตรมาสนี้จากช่องทางออนไลน์ของเครือเพิ่มขึ้น 20% เฉพาะ Gucci แบรนด์เดียวยอดขายก็เพิ่มขึ้นมากกว่า 100% เลยทีเดียว
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- https://www.reuters.com/article/us-kering-results/kering-cautious-on-china-rebound-after-coronavirus-hits-gucci-sales-idUSKCN2232E2
- https://wwd.com/business-news/financial/kering-q1-sales-fall-15-4-as-gucci-takes-coronavirus-hit-1203565674/
- https://keringcorporate.dam.kering.com/m/2cba00c5810d76b7/original/CP-EN-Q1-PRESSE-1.pdf