โครงการสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติและสถาบันวิจัยปศุสัตว์นานาชาติ เผยแพร่รายงาน เตือนอันตรายของโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน (Zoonotic Diseases) ที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปราศจากการดำเนินการใดๆ เพื่อป้องกัน
เนื้อหารายงานระบุว่า ปัจจัยที่ทำให้โรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน เช่น โรคโควิด-19, อีโบลา หรือโรคซาร์สมีเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณความต้องการบริโภคโปรตีนจากสัตว์และการทำเกษตรกรรมแบบไม่ยั่งยืน ตลอดจนภาวะสภาพอากาศแปรปรวน
การเพิ่มขึ้นของโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คนนี้ มีแรงขับเคลื่อนหลักจากความเสื่อมโทรมในสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ เช่น การเสื่อมสภาพของผืนดิน การหาประโยชน์จากสัตว์ป่า การใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติ และสภาพอากาศที่แปรปรวน
ในแต่ละปีพบว่ามีประชากรทั่วโลกมากกว่า 2 ล้านคน ทั้งในระดับผู้มีรายได้ปานกลางและรายได้น้อย ที่เสียชีวิตเพราะโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน อย่างโรคแอนแทรกซ์ วัณโรค และโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกละเลยให้ความสนใจ
“ช่วงศตวรรษที่ผ่านมา เราได้เห็นการระบาดครั้งใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ อย่างน้อย 6 ครั้ง และช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 โรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คนนั้นก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจมากถึงกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3,100,000 ล้านบาท ข้อมูล ณ วันที่ 7 กรกฎาคม)” อินเจอร์ แอนเดอร์เซน เลขาธิการและผู้อำนวยการบริหารโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ กล่าว
การระบาดของโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คนที่เพิ่มขึ้น ยังพบความเชื่อมโยงมาจากปัญหาอื่นๆ เช่นความใกล้ชิดกับสัตว์ป่าและการพึ่งพิงปศุสัตว์ที่สูงขึ้นทุกปี เห็นได้จากอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์ ที่เพิ่มขึ้นกว่า 260% ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา
“เรามีการทำการเกษตรที่เข้มข้นขึ้น การขยายโครงสร้างพื้นฐานและการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้โดยแลกกับการเสียสละพื้นที่ป่าของเราไป
“เขื่อนและฟาร์มโรงงาน มีความเชื่อมโยงกับโรคติดเชื้อในมนุษย์ 25% การเดินทาง การขนส่งและห่วงโซ่อาหาร ได้ลบเรื่องพรมแดนและระยะทางไป ขณะที่การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศก็มีส่วนทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรค” แอนเดอร์เซน กล่าว
อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับนี้ยังได้นำเสนอยุทธศาสตร์เพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คนในอนาคต เช่น การสร้างแรงจูงใจให้มีการบริหารจัดการผืนดินอย่างยั่งยืน การพัฒนาความหลากหลายทางชีวภาพ และการลงทุนด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้น
“วิทยาศาสตร์นั้นชัดเจนว่าถ้าเรายังคงใช้ประโยชน์จากสัตว์ป่าและทำลายระบบนิเวศของเรา ก็คาดเดาได้เลยว่าเราจะได้เห็นกระแสของโรคระบาดที่กระโดดจากสัตว์สู่คนอย่างต่อเนื่องในอีกหลายปีข้างหน้า” แอนเดอร์เซนกล่าว พร้อมย้ำว่าทั่วโลกต้องคำนึงถึงการปกป้องสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติให้มากขึ้น หากต้องการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คนในอนาคต
ภาพ: Shutterstock
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: