อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกเจอผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กันถ้วนหน้า ทั้งจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ผ่านการจำกัดการเดินทางในหลายประเทศ ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น และผู้โดยสารที่ลดลง ทำให้สายการบินต้องปรับตัว ส่วนใหญ่ต้องปรับลดและยกเลิกเที่ยวบินบางส่วน รวมถึงการปรับภายในองค์กรอย่างการลดเงินเดือนด้วย
เริ่มกันที่สายการบินแห่งชาติอย่าง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ประกาศยกเลิกเที่ยวบินชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ถึง 31 พฤษภาคม 2563 จึงพิจารณาจอดเครื่องบินรวม 69 ลำจากจำนวนทั้งหมด 82 ลำ (ไม่รวมเครื่องบินที่ใช้ในบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด)
ทั้งนี้ เครื่องบินที่ยังดำเนินการอยู่จะให้บริการขนส่งสินค้า และอาจจัดเที่ยวบินพิเศษ (หากมีผู้โดยสารตกค้างเป็นจำนวนมาก) ขณะที่เส้นทางการบินในประเทศ ไทยสมายล์ ที่เป็นบริษัทย่อยยังดำเนินการอยู่ อย่างไรก็ตามมีบริการที่ยังให้บริการ เช่น บริการครัวการบิน (อาจต้องลดปริมาณการผลิต) คลังสินค้า บริการภาคพื้นสำหรับสายการบินลูกค้า การจอง-ขายบัตร
ขณะที่ บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ทางบริษัทฯ ให้ความร่วมมือกับประกาศการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2558 (พ.ร.ก. ฉุกเฉิน) เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด -19 จึงหยุดบินชั่วคราวเส้นทางการบินระหว่างประเทศ ระหว่างวันที่ 22 มีนาคม ถึง 25 เมษายน 2563 และเส้นทางการบินภายในประเทศระหว่างวันที่ 1-30 เมษายน 2563
ทั้งนี้ การหยุดบินชั่วคราวจะลดค่าใช้จ่ายขององค์กร เช่น ค่าชั่วโมงบิน ค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิง ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา ฯลฯ ขณะเดียวกันจะเปิดให้ผู้บริหารระดับสูง และพนักงานระดับอาวุโสของ บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ‘สมัครใจ’ รับเงินเดือนลดลงตามระดับตำแหน่ง (ระหว่าง 10-75%) นอกจากนี้ ยังระงับการสรรหาพนักงานใหม่ไว้ชั่วคราว
อย่างไรก็ตาม ทางไทยแอร์เอเชีย อยู่ระหว่างการทบทวนแผนการลงทุน ซึ่งอาจจะระงับ หรือชะลอการลงทุนในสินทรัพย์มูลค่าสูง เพราะต้องพิจารณาฝูงบินให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และอาจระงับการจัดหาเครื่องบินเพิ่มในปีนี้
ด้านบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ที่ให้บริการสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ประกาศหยุดบินชั่วคราวเส้นทางระหว่างประเทศทั้งหมด (20 เส้นทาง) ระหว่างวันที่ 29 มีนาคม ถึง 24 ตุลาคม 2563 ขณะที่เส้นทางในประเทศหยุดบิน 10 เส้นทางจากทั้งหมด 17 เส้นทาง ยกเลิกการบินชั่วคราวเดือนเมษายนถึงตุลาคม 2563
ทั้งนี้ทาง BA มีมาตรการลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้แก่
- การปรับลดเงินเดือนและค่าตอบแทน สำหรับผู้บริหารและพนักงานในอัตรา 10-50% ตามตำแหน่งงาน
- การลาโดยไม่รับค่าจ้างของพนักงาน (Leave Without Pay)
- ปรับลดยกเลิกสวัสดิการของพนักงาน
- การลดค่าใช้จ่ายด้านการปฏิบัติงาน ณ สถานที่ต่างๆ ทุกแห่ง โดยให้พนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ตามสถานที่ต่างๆ กลับมาประจำการที่กรุงเทพมหานคร
- การปรับลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง การโฆษณาประชาสัมพันธ์ ค่าใช้จ่ายด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ฯลฯ
- การเจรจาขอลดค่าใช้จ่ายด้านการปฏิบัติการบินกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เช่น ค่าเช่าพื้นที่ ค่าบริการภาคพื้นดิน ค่าจอดเครื่องบิน ค่าภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บจากค่าน้ำมันเครื่องบิน เป็นต้น
- การลดจำนวนเครื่องบินที่ใช้ปฏิบัติการ รวมทั้งเจรจาต่อรองค่าเช่าเครื่องบินกับผู้ให้เช่าเครื่องบิน
- การขอวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงิน และเจรจาปรับเปลี่ยนตารางชำระหนี้
อย่างไรก็ตาม ทาง BA ระบุว่า รายได้ของบริษัทฯ ในช่วงหยุดบินชั่วคราวจะมีรายได้จากเส้นทางการบินในประเทศอีก 7 เส้นทาง (เช่น กรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-ตราด, กรุงเทพฯ-สมุย ฯลฯ) มีสัดส่วนในการสร้างรายได้ 50% ของรายได้ผู้โดยสารทั้งหมดของบริษัท นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากการขายและการบริการที่มาจากบริษัทย่อยอีก 15% ของรายได้รวมทั้งหมด ขณะที่จะมีรายได้จากเงินปันผลในการลงทุนธุรกิจอื่นราว 2% ของรายได้รวมทั้งหมด
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: