×

โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อ ‘ตลาดนักเตะ’ มากน้อยแค่ไหน และเทรนด์ที่น่าจับตามอง

06.10.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • ตลาดการซื้อ-ขายในรอบที่เพิ่งปิดไปถูกจับตามองอย่างมาก เพราะเป็นตลาดนักฟุตบอลรอบแรกหลังโควิด-19 ว่าสโมสรต่างๆ จะปรับตัวอย่างไรในสถานการณ์นี้
  • การใช้จ่ายของ 5 ลีกใหญ่ในยุโรปลดลงทั้งหมด โดยเฉพาะในลาลีกาที่มีการเปิดเผยว่า ลดลงถึง 46% แต่ในพรีเมียร์ลีกยังมีการใช้จ่ายทะลุ 1 พันล้านปอนด์เหมือนเดิม
  • เทรนด์ของนักเตะที่ตลาดต้องการมากเป็นพิเศษในปัจจุบันคือ นักเตะที่เล่นได้หลายตำแหน่ง, กองหลังที่ถนัดเท้าซ้าย และต่อให้อายุมากก็ไม่ใช่อุปสรรค หากคุ้มค่าจะลงทุนด้วย

ในที่สุดตลาดการซื้อ-ขายนักฟุตบอลประจำฤดูร้อน 2020 ได้ปิดฉากลงไปเรียบร้อยแล้วในวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งตลาดผู้เล่นในปีนี้เป็นปีที่ต้องบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์

 

เหตุผลนั้นนอกจากจะเป็นตลาดการซื้อ-ขายรอบที่เปิดและปิดช้าที่สุดจากผลกระทบของโรคโควิด-19 ที่มีต่อโลกทั้งใบ ไม่เว้นแม้แต่ในโลกของเกมฟุตบอล ยังเป็นตลาดที่ถูกจับตามองอย่างมากว่าจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

 

การที่แฟนฟุตบอลไม่สามารถเข้ามาชมเกมในสนามได้ ส่งผลให้สโมสรฟุตบอล โดยเฉพาะในกลุ่มสโมสรระดับท็อปของโลก ที่ปกติแล้วสามารถทำรายได้จากแฟนฟุตบอลมากมายในวันแข่งขัน (Matchday) ขาดแคลนรายได้ในส่วนนี้ไปมากมายมหาศาล

 

นั่นทำให้ทุกสโมสรจำเป็นที่จะต้องพยายามรัดเข็มขัด ประหยัดรายจ่าย และคำนวณการใช้เงินอย่างละเอียดถี่ถ้วน การลงทุนทุกอย่างจะต้องคุ้มค่าและจำเป็นมากพอเท่านั้นจึงจะยอมควักกระเป๋า

 

อย่างไรก็ดี โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อตลาดการซื้อ-ขายผู้เล่นของวงการฟุตบอลมากแค่ไหน? และจากสิ่งที่เกิดขึ้นมีทิศทางอะไรที่น่าสนใจเกิดขึ้นบ้าง?

 

โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อ ‘ตลาดนักเตะ’ มากน้อยแค่ไหน และเทรนด์ที่น่าจับตามอง

 

ทุกลีกรัดเข็มขัด ยกเว้นพรีเมียร์ลีก

มีการทำนายเอาไว้ว่า ผลกระทบของโควิด-19 น่าจะทำให้ตลาดนักเตะในปีนี้หรืออาจจะเลยไปถึงปีหน้าหรืออีกหลายปีข้างหน้า เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งคำทำนายนี้ถือว่าถูก

 

แต่เป็นการถูกแค่ครึ่งหนึ่ง

 

เพราะในขณะที่ลีกระดับท็อป 4 แห่ง ไม่ว่าจะเป็นเซเรีย อา อิตาลี, บุนเดสลีกา เยอรมนี, ลีกเอิง ฝรั่งเศส และลาลีกา สเปน มีตัวเลขในการใช้จ่ายลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่มันก็มีข้อยกเว้นสำหรับพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ที่ยังคงมีการใช้จ่ายเงินมากมายมหาศาลอยู่ แม้ตัวเลขจะลดลงจากเดิมบ้างก็ตาม

 

“ตัวเลขการใช้จ่ายในการจัดหานักเตะนั้นลดลงจากเดิมอย่างมีนัยสำคัญใน 5 ลีกระดับท็อปของยุโรป เมื่อเทียบกับตัวเลขค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมา โดยลดลงตั้งแต่ 7% ของพรีเมียร์ลีก มาถึง 46% ของลาลีกา” บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลการลงทุน Carteret Analytics ให้ความเห็นต่อตลาดนักเตะในรอบนี้

 

“เราพอจะมีข้อสรุปได้ว่า โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อตลาดนักเตะรอบนี้อย่างมหาศาล”

 

ในพรีเมียร์ลีกรวมการซื้อ-ขายของทุกสโมสรในตลาดรอบที่ผ่านมา มีการใช้เงิน 1.218 พันล้านปอนด์ด้วยกัน ลดลงจากปีกลาย 158 ล้านปอนด์ (ปี 2019 ตัวเลขอยู่ที่ 1.376 พันล้านปอนด์) สวนทางกับตัวเลขการใช้จ่ายของลีกอื่นที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยลีกสูงสุดของอังกฤษใช้เงินมากกว่าลาลีกา, บุนเดสลีกา และลีกเอิง ถึง 3 เท่า และมากกว่าเซเรีย อา 2 เท่า

 

โดยเฉพาะในลาลีกาที่เมื่อปีกลายมีการใช้เงินราว 1.2 พันล้านปอนด์ ในฤดูร้อนนี้มีการใช้เงินลดลงไปเกือบครึ่ง โดยสโมสรยักษ์ใหญ่อย่างเรอัล มาดริด ยังรัดเข็มขัด ไม่มีการจ่ายเงินซื้อสตาร์ราคาแพงเข้ามาร่วมทีมแต่อย่างใด และยังมีการปล่อยตัว แกเร็ธ เบล ให้ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ยืมตัวเพื่อลดค่าใช้จ่ายเรื่องค่าเหนื่อยของผู้เล่นอีกด้วย

 

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายสโมสรที่ตัดสินใจปล่อยสตาร์หรือนักเตะอนาคตไกลประจำทีมออกไป เพื่อนำเงินที่ได้มาใช้ประคับประคองกิจการของสโมสร เช่น แซ็งต์ เอเตียน สโมสรในลีกเอิงที่ขาย เวสต์ลีย์ โฟฟานา ดาวเด่นของทีมให้เลสเตอร์ ซิตี้ ในราคา 30 ล้านปอนด์ โดย โคลด ปูแอล โค้ชของทีม กล่าวว่า “ระหว่างการรักษาสโมสรและทำให้คนในสโมสรยังมีงานทำ กับการเก็บเวสลีย์ไว้กับทีม เรื่องนี้ไม่มีอะไรต้องมาถกเถียงกัน”

 

โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อ ‘ตลาดนักเตะ’ มากน้อยแค่ไหน และเทรนด์ที่น่าจับตามอง

ดีโอโก โชตา เล่นได้ทุกตำแหน่งในแนวรุก ทำให้ลิเวอร์พูลตัดสินใจไม่ยากในการซื้อมาร่วมทีม

 

นักเตะสารพัดประโยชน์พิมพ์นิยม

สำหรับเทรนด์ของการย้ายทีมในตลาดรอบนี้ เพื่อรองรับกับฤดูกาลแข่งขันที่หนักหน่วง และมีโปรแกรมการแข่งขันที่อัดแน่น ทำให้นักเตะที่เล่นได้หลายตำแหน่งจะได้รับความสนใจมากกว่า

 

เรื่องนี้สังเกตได้จากตัวอย่างของ 3 สตาร์ค่าตัวแพงที่ได้ย้ายทีมในพรีเมียร์ลีกอย่าง ไค ฮาเวิร์ตซ์, ติโม แวร์เนอร์ (เชลซีทั้งคู่) และ ดีโอโก โชตา (ลิเวอร์พูล) เป็นนักเตะที่เล่นได้หลากหลายตำแหน่งในแนวรุก

 

เพราะในฤดูกาลนี้แนวโน้มชัดเจนว่าจะมีการสับเปลี่ยนผู้เล่นในแต่ละนัดเป็นจำนวนมาก และมีโอกาสสูงที่ผู้เล่นจะบาดเจ็บระหว่างฤดูกาล เพราะโปรแกรมที่อัดแน่นและมีการเตรียมความพร้อมค่อนข้างน้อย ดังนั้นนักเตะที่เล่นได้หลายตำแหน่งจึงเป็นที่ต้องการสำหรับสโมสร

 

ในขณะที่นักเตะที่ถนัดในการเล่นตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งเป็นพิเศษจะมีโอกาสจำกัด

 

โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อ ‘ตลาดนักเตะ’ มากน้อยแค่ไหน และเทรนด์ที่น่าจับตามอง

กาเบรียล มากัลเญส กองหลังซ้ายธรรมชาติ เป็นที่ต้องการของตลาด

 

เซ็นเตอร์แบ็กซ้ายธรรมชาติได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ

นอกเหนือจากนักเตะที่เล่นได้สารพัดประโยชน์แล้ว นักเตะตำแหน่งเซ็นเตอร์แบ็กที่ถนัดเท้าซ้ายที่สามารถขึ้นเกมได้ด้วย ก็เป็นที่ต้องการของตลาดเช่นเดียวกัน

 

หนึ่งในเหตุผลเป็นเพราะในปัจจุบันทุกสโมสรพยายามที่จะเซ็ตบอลจากแดนหลังมากกว่าการเตะสาดขึ้นไปลุ้นที่กลางสนาม ดังนั้นหากทีมใดมีกองหลังที่เล่นบอลกับเท้าได้ดี มีความสามารถในการเปิดเกมได้ และพาบอลขึ้นมาได้ด้วยจะได้เปรียบเป็นพิเศษ

 

และยิ่งเป็นนักเตะที่ถนัดซ้ายด้วย ถือว่าเป็นของดีที่หายาก

 

ในพรีเมียร์ลีก 4 จาก 11 อันดับแรกของฤดูกาลที่แล้วที่ซื้อเซ็นเตอร์ถนัดซ้ายมาเสริมทีม โดยแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ซื้อ นาธาน อาเก มาจากบอร์นมัธ, อาร์เซนอลได้ กาเบรียล มากัลเญส และซื้อขาด ปาโบล มารี ส่วนเซาแธมป์ตันได้ โมฮัมเหม็ด ซาลิซู และเชลซีได้ มาแล็ง ซารร์ มาเสริมทัพ

 

ขณะที่ในบุนเดสลีกา แอร์เบ ไลป์ซิก คว้าตัว จอสโก กวาร์ดิออล และลีลล์ ซึ่งขายกาเบรียลให้อาร์เซนอล ก็ซื้อกองหลังถนัดซ้ายอย่าง สเวน บอตแมน เพื่อทดแทน

 

 

เอดินสัน คาวานี ได้โอกาสร่วมเล่นกับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แม้จะอายุ 33 ปีแล้ว

 

อายุเป็นเพียงตัวเลข ถ้าราคาโอเค

ถึงแม้ว่าเทรนด์ของสโมสรสมัยใหม่จะเน้นการซื้อผู้เล่นอายุน้อยที่มีอนาคตไกลมาปั้นเอา มากกว่าจะซื้อสตาร์ที่เก่งมาแบบสำเร็จรูปอยู่แล้ว แต่ดูเหมือนในฤดูกาลนี้จะมีข้อยกเว้นอยู่บ้าง

 

เราได้เห็นสโมสรที่ยอมแหกนโยบายอย่างลิเวอร์พูล ที่ยอมจ่ายเงิน 27 ล้านปอนด์ เพื่อขอซื้อ ติอาโก อัลกันตารา กองกลางจอมทัพทีมชาติสเปนจากบาเยิร์น มิวนิก ทั้งๆ ที่นักเตะอายุเข้า 29 ปีแล้ว และเหลือสัญญากับทีมแค่ปีเดียว

 

ขณะที่อาร์เซนอลที่กำลังก่อร่างสร้างตัวใหม่ มิเกล อาร์เตตา กุนซือหัวสมัยใหม่ ก็ขอให้สโมสรคว้าตัว วิลเลียน ปีกทีมชาติบราซิลที่หมดสัญญากับเชลซี มาร่วมทีม แม้ว่าจะต้องยอมเสียค่าเหนื่อยมหาศาลก็ตาม นอกจากนี้ก่อนตลาดปิดเรายังได้เห็นแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด คว้า เอดินสัน คาวานี กองหน้าระดับเวิลด์คลาสมาร่วมทีมแบบฟรีๆ (แต่หนักตรงค่าเหนื่อยและค่าเอเจนต์) แม้ว่าจะอายุ 33 ปีแล้วก็ตาม

 

อย่างไรก็ดี ทั้งสามกรณีข้างต้นนั้นสโมสรยอมจ่ายเพราะพิจารณาแล้วว่า ‘คุ้ม’ ที่จะลงทุนโดยมีความเสี่ยงน้อย

 

และทั้งหมดคือสิ่งที่พอจะสรุปได้จากตลาดการซื้อ-ขายนักฟุตบอลแรกในยุคหลังโควิด-19 ที่พอจะทำให้ได้เห็นภาพสะท้อนของทิศทางของวงการฟุตบอลหลังจากนี้

 

ว่าในขณะที่ชาวโลกใช้ชีวิตกันอย่างระมัดระวัง พรีเมียร์ลีกยังคงเป็นลีกที่ใช้ชีวิตกันเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

FYI
  • มีสโมสร 6 แห่งในพรีเมียร์ลีกที่ ‘ทุบสถิติสโมสร’ ได้แก่ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ (รูเบน ดิอาส 65 ล้านปอนด์), วูล์ฟส (ฟาบิโอ ซิลวา 35.6 ล้านปอนด์), แอสตัน วิลลา (ออลลี วัตกินส์ 28 ล้านปอนด์), ลีดส์ ยูไนเต็ด (โรดริโก 26 ล้านปอนด์), เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด (เรียน บริวสเตอร์ 23.5 ล้านปอนด์) และ เวสต์ บรอมวิช อัลเบียน (เกรดี ดิยานกานา 18 ล้านปอนด์)
  • นักเตะพรีเมียร์ลีกที่ย้ายค่าตัวสูงสุดในตลาดรอบนี้คือ ไค ฮาเวิร์ตซ์ 71 ล้านปอนด์
  • ในวันสุดท้ายของการย้ายทีม (Deadline-Day) มีการย้ายทีมของพรีเมียร์ลีกเกิดขึ้น 12 ราย โดยบิ๊กเนมคนสุดท้ายก่อนตลาดปิดคือ โธมัส ปาร์เตย์ ที่อาร์เซนอลคว้าตัวมาจากแอตเลติโก มาดริด ด้วยค่าตัว 45 ล้านปอนด์
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising