×

รู้สู้โรค เปิดงานวิจัยโควิด-19 ‘ผู้ชาย สูงอายุ สูบบุหรี่ และมีโรคประจำตัว’ กลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวังติดเชื้อมากที่สุด

02.03.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ชาย วัยกลางคนเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ คิดเป็นผู้ชาย 58.1% และช่วงอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุดคือระหว่าง 15-49 ปี (55.1%) โดยค่ามัธยฐานของอายุเท่ากับ 47 ปี ซึ่งจะชวนสังเกตอีกสักหน่อยว่าผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 15 ปีมีเพียง 0.9% เท่านั้น และไม่มีผู้เสียชีวิตเท่ากับว่าเด็กไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของเชื้อนี้เลยโดยอาจมีกลไกบางอย่างที่ทำให้อาการในเด็กไม่รุนแรง
  • ​‘ไอ มีเสมหะ อ่อนเพลีย’ คืออาการเบื้องต้นของโรคโควิด-19 ส่วนอาการไข้ ในงานวิจัยบอกว่าวันที่นอนโรงพยาบาลวันแรก ผู้ป่วยมีไข้เพียง 43.8% เท่านั้น ในขณะที่ถ้านอนโรงพยาบาลแล้วจะพบว่ามีไข้ 88.7% (ขึ้นมาเป็นสองเท่า) ตัวเลขนี้ชวนให้เราคิดได้สองอย่างคือ ผู้ป่วยอาจกินยาลดไข้ก่อนมาหรือไม่ หรืออีกอย่างคือในระยะแรกผู้ป่วยอาจไม่มีไข้ก็ได้
  • ณ วันที่วิเคราะห์ข้อมูล (29 มกราคม 2563) พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังนอนรับการรักษาในโรงพยาบาล (93.6%) หายดีหรือกลับบ้าน 5.8% และเสียชีวิต 1.4% ซึ่งถือว่าไม่มากเมื่อเทียบกับโรคซาร์ส (9.6%) แต่ก็มากกว่าไข้หวัดใหญ่ (0.02%)

​วันนี้ถ้าใครมีเพื่อนเป็นหมอจะเห็นพวกเขาแชร์งานวิจัยชิ้นหนึ่งด้วยความตื่นตัว ‘Clinical Characteristics of Coronavirus Disease 2019 in China’ หรือ ‘ลักษณะทางคลินิกของผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศจีน’

 

แปลแล้วก็ยังงงอยู่ใช่ไหมครับ ‘ลักษณะทางคลินิก’ ก็คือลักษณะของคนไข้ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจรักษาโรคนั่นเอง ซึ่งคนทั่วไปก็สามารถเรียนรู้ไปพร้อมกับหมอๆ ได้ด้วยเช่นกัน  

 

​เพราะโรคโควิด-19 เป็น ‘โรคอุบัติใหม่’ คือเกิดขึ้นใหม่ ขนาดหมอที่เรียนจบมาใหม่ก็ยังไม่เคยเรียนเกี่ยวกับโรคนี้มาก่อน ดังนั้นเวลามีงานวิจัยใหม่ตีพิมพ์ พวกเขา (รวมถึงผม) ก็จะรู้สึกตื่นเต้นอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียวครับ 

 

งานวิจัยชิ้นนี้มีอะไรที่เราควรรู้บ้าง ลองไปดูกันครับ

 

 

กลุ่มเป้าหมาย

ชาย วัยกลางคนเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ คิดเป็นผู้ชาย 58.1% และช่วงอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุดคือระหว่าง 15-49 ปี (55.1%) โดยค่ามัธยฐานของอายุเท่ากับ 47 ปี ซึ่งจะชวนสังเกตอีกสักหน่อยว่าผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 15 ปีมีเพียง 0.9% เท่านั้น และไม่มีผู้เสียชีวิตเท่ากับว่าเด็กไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของเชื้อนี้เลยโดยอาจมีกลไกบางอย่างที่ทำให้อาการในเด็กไม่รุนแรง

 

​‘ชาย อายุเยอะ สูบบุหรี่’ เป็นกลุ่มที่ถ้าหากติดเชื้อแล้วจะมีโอกาสป่วยรุนแรง เช่น ต้องย้ายเข้าหอผู้ป่วยวิกฤต ใส่ท่อช่วยหายใจ หรือเสียชีวิต โดยคิดเป็นผู้ชายมากถึง 67.2% ช่วงอายุที่มีอาการรุนแรงสุดคือตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป (49.2%) และเมื่อเทียบระหว่างผู้ที่สูบบุหรี่อยู่จะมีอาการรุนแรงกว่าผู้ที่หยุดสูบไปแล้ว (25.8% กับ 7.6%) ดังนั้นปัจจัยเสี่ยงที่ยังพอปรับเปลี่ยนได้ก็คือการเลิกสูบบุหรี่

 

ระยะฟักตัว

​‘4 วัน’ เป็นค่ามัธยฐานของระยะฟักตัว หรือระยะที่นับตั้งแต่ผู้ป่วยได้รับเชื้อจนถึงแสดงอาการ โดย ‘ค่ามัธยฐาน’ เป็นค่ากลางอย่างหนึ่งคล้ายกับ ‘ค่าเฉลี่ย’ 

 

แต่สาเหตุที่เขาเลือกคำนวณค่านี้ออกมาก็เพราะระยะฟักตัวมีการกระจายตัวแบบเบ้ขวา คือส่วนใหญ่กินเวลาสั้นระหว่าง 2-7 วัน (ค่าพิสัยควอไทล์) ดังนั้นการ Quarantine หรือการสังเกตอาการตัวเองภายใน 14 วันจึงเพียงพอ  

 

​แต่อย่างไรก็ตาม Dr. Wei-jie Guan หัวหน้างานวิจัยนี้เคยตีพิมพ์บทความที่คำนวณระยะฟักตัวมาก่อนหน้านี้เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ในบทความฉบับนั้นระบุว่าระยะฟักตัวที่นานที่สุดคือ 24 วัน (จะเห็นว่าข้อมูลส่วนใหญ่กองอยู่ทางด้านซ้าย แล้วลาดเอียงมาทางขวายาวมาก) ฉะนั้นหากข้อมูลนี้ถูกต้อง ผู้ที่สังเกตอาการของตัวเองครบ 14 วันแล้วอาจสวมหน้ากากอนามัยต่อไปอีก 2 สัปดาห์ 

 

อาการ

​‘ไอ มีเสมหะ อ่อนเพลีย’ ทุกคนน่าจะคุ้นหูกับอาการของโรคโควิด-19 ดีอยู่แล้ว แต่มีอาการบางอย่างที่ขาดหายไป นั่นคือ ‘ไข้’ ครับ 

 

งานวิจัยชิ้นนี้บอกว่าวันที่นอนโรงพยาบาลวันแรก ผู้ป่วยมีไข้เพียง 43.8% เท่านั้น! (โอกาสต่ำกว่าโยนเหรียญหัวก้อย) 

 

ในขณะที่ถ้านอนโรงพยาบาลแล้วจะพบว่ามีไข้ 88.7% (ขึ้นมาเป็นสองเท่า) ตัวเลขนี้ชวนให้เราคิดได้สองอย่างคือผู้ป่วยอาจกินยาลดไข้ก่อนมาหรือไม่ 

 

​หรืออีกอย่างคือในระยะแรกผู้ป่วยอาจไม่มีไข้ก็ได้ ซึ่งตรงนี้จะโยงไปถึงเกณฑ์การคัดกรองผู้ป่วยของไทย ซึ่งกำหนดไว้ว่าผู้ป่วยจะต้องมีไข้หรืออุณหภูมิร่างกายมากกว่า 37.5 องศาเซลเซียสเสมอ  

 

​สิ่งที่นักวิจัยตั้งข้อสังเกตอีกอย่างคืออาการ ‘ท้องเสีย’ ซึ่งพบน้อยมากเพียง 3.8% ตรงกันข้ามกับโรคซาร์สและโรคเมอร์ส (โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาที่เคยระบาดมาก่อนหน้านี้) ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการท้องเสียมากถึง 1 ใน 4 และสายพันธุ์ก่อนหน้าก็สามารถติดต่อผ่านทางอุจจาระได้ ส่วนโรคโควิด-19 ถึงแม้จะตรวจพบจากการเพาะเชื้ออุจจาระได้เช่นกัน แต่ก็ยังไม่แน่ว่าจะแพร่ผ่านช่องทางนี้ได้หรือไม่ 

 

โรคประจำตัว

​‘ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และโรคถุงลมโป่งพอง’ จัดเป็นโรคเรื้อรังที่พบมากในผู้สูงอายุอยู่แล้ว ยิ่งมาเจอว่าเป็นโรคประจำตัว 3 ลำดับแรกที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่ออาการป่วยรุนแรง (35.8%, 26.9% และ 10.4 % ตามลำดับ) ก็ยิ่งทำให้น่ากังวลในพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายของเรา 

 

ดังนั้นผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ควรระมัดระวังการสัมผัสใกล้ชิดกับท่านในระหว่างที่ Quarantine  

 

ผลการรักษา

​‘1.4-2.1% เสียชีวิต’ ผมขอข้ามผลการวิจัยในส่วนของผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการและการรักษา (ยกให้แพทย์เป็นคนอ่าน) มาที่ผลลัพธ์สุดท้าย ณ วันที่วิเคราะห์ข้อมูล (29 มกราคม 2563) เลยนะครับ โดยพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังนอนรับการรักษาในโรงพยาบาล (93.6%) หายดีหรือกลับบ้าน 5.8% และเสียชีวิต 1.4% ซึ่งถือว่าไม่มากเมื่อเทียบกับโรคซาร์ส (9.6%) แต่ก็มากกว่าไข้หวัดใหญ่ (0.02%)   

 

​‘รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง’ โดย ‘รู้เขา’ ในที่นี้คงไม่ได้หมายถึงการที่เรารู้จัก ‘เชื้อไวรัส’ สายพันธุ์ใหม่นี้อย่างเดียวว่าแพร่กระจายผ่านทางไหน มีวัคซีนหรือยารักษาแล้วหรือยัง แต่เป็นการเรียน ‘รู้’ จาก ‘เขา’ ซึ่งก็คือประเทศจีนที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 มาก่อนหน้าประเทศอื่น 

 

จากนั้น ‘เรา’ ก็ต้องเตรียมตัวป้องกัน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ‘ผู้ชาย สูงอายุ สูบบุหรี่ ความดันฯ เบาหวาน ถุงลมโป่งพอง’ ​ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลอันเป็นที่รักทั้งสิ้น  

นอกจากนี้การที่เราตีกรอบผู้ที่มีโอกาสติดเชื้อแล้วเป็นรุนแรงให้แคบลงเช่นนี้ก็จะช่วยให้เรากระจายทรัพยากรให้เหมาะสม หากอุปกรณ์ในการควบคุมและป้องกันโรคไม่เพียงพอ 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์ 

อ้างอิง:

  • Guan  WJ, Ni  ZY, Hu Y,  et al. Clinical characteristics of 2019 novel coronavirus infection in China. medRxiv. Published February 9, 2020. Accessed February 29, 2010.
  • https://www.medrxiv.org/content/10.1101/2020.02.06.20020974v1
  • Guan W, Ni Z, Hu Y, et al. Clinical characteristics of coronavirus disease 2019 in China. N Engl J Med. DOI: 10.1056/NEJMoa2002032.
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X