ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ร่วงระนาวอีกครั้งเมื่อวานนี้ (12 มีนาคม) หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ไม่อาจคลายความวิตกกังวลของตลาดที่มีต่อภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจ สืบเนื่องจากการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เช่นเดียวกับตลาดหุ้นอังกฤษและยุโรปก็ดิ่งเหวกันถ้วนหน้า หลังธนาคารกลางยุโรป (ECB) ไม่อาจสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน แม้ออกมาตรการช่วยเสริมสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจยูโรโซนแล้วก็ตาม
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรม Dow Jones ตลาดหุ้นนิวยอร์กดิ่งลง 2,352.60 จุด หรือ 9.99% ปิดที่ 21,200.62 จุด ซึ่งเป็นการร่วงลงมากสุดนับตั้งแต่เหตุการณ์ ‘แบล็กมันเดย์’ ในปี 1987 โดยปีนั้นดัชนีร่วงกว่า 22% ขณะที่ S&P 500 ร่วง 9.5% ปิดที่ 2,480.64 จุด ทำสถิติวันที่เลวร้ายที่สุดของดัชนีนับตั้งแต่ปี 1987 เช่นกัน ส่วน Nasdaq Composite ร่วง 9.4% ปิดที่ระดับ 7,201.80 จุด
เปิดตลาดมาช่วงเช้าวานนี้ สหรัฐฯ ต้องใช้เครื่องมือ Circuit Breaker พักการซื้อขายอัตโนมัติเป็นเวลา 15 นาที เนื่องจากดัชนี S&P 500 ดิ่งลงกว่า 7% ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 2 ในรอบสัปดาห์ที่ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทใช้ Circuit Breaker โดยตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กสามารถพักการซื้อขายชั่วคราวได้ใน 3 ระดับ ซึ่งระดับที่ 1 จะใช้ Circuit Breaker เมื่อดัชนี S&P 500 ร่วงลงจากวันก่อนหน้า 7%, ระดับที่ 2 13% และระดับที่ 3 ร่วง 20% ซึ่งจะระงับการซื้อขายไปตลอดทั้งวัน
นักวิเคราะห์จาก UBS ให้ความเห็นว่า ไวรัสโคโรนาเป็นสิ่งที่น่ากลัว และผู้คนก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นตามมา มันเหมือนสึนามิกำลังใกล้เข้ามา เรารู้ว่ามันจะถาโถมใส่เราในวันไหนก็ได้ และไม่มีใครรู้ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร
แม้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะลดช่วงลบได้ในช่วงหนึ่ง หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เผยมาตรการเสริมสภาพคล่องด้วยการอัดฉีดเงินเข้าระบบผ่านทางตลาดพันธบัตรจำนวน 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ แต่สุดท้ายตลาดก็ร่วงต่อจากความตื่นตระหนกเรื่องโรคระบาด
นอกจากตลาดหุ้นวอลล์สตรีทแล้ว ตลาดหุ้นลอนดอนก็เผชิญวันที่เลวร้ายที่สุดนับจาก ‘แบล็กมันเดย์’ ในเดือนตุลาคม ปี 1987 เช่นกัน โดยดัชนี FTSE 100 ตลาดลอนดอนดิ่งลง 10.87% ก่อนปิดที่ 5,237 จุด ซึ่งต่ำสุดนับจากปี 2012
ขณะที่ดัชนี Euro STOXX 600 ตลาดหุ้นยุโรป ร่วงกว่า 11% ทำสถิติวันที่เลวร้ายสุดนับจากปี 1998 โดยตลาดสูญเงินจากการเทขายหุ้นอย่างตื่นตระหนกในวันเดียวราว 3.03 ล้านล้านยูโร
ทั้งนี้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ไม่อาจสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้เมื่อวานนี้ หลังมีมติไม่ลดดอกเบี้ยจากระดับ -0.5% ที่เป็นอยู่ ซึ่งสวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ว่า ECB จะลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.1% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ECB เพียงแต่ประกาศมาตรการเสริมสภาพคล่องโดยการรับซื้อสินทรัพย์ทางการเงินเพิ่มเติมในจำนวน 1.2 แสนล้านยูโรจนถึงสิ้นปีนี้ ซึ่งนักลงทุนมองว่ายังไม่เพียงพอ
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ได้ที่ thestandard.co/coronavirus-coverage
และอัปเดตทุกความเคลื่อนไหวของโรคโควิด-19 ได้ที่ www.facebook.com/thestandardth
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- www.theguardian.com/business/2020/mar/12/us-and-european-markets-plunge-further-after-trump-travel-ban
- www.cnbc.com/2020/03/12/bonds-the-credit-markets-are-signaling-that-a-problem-is-afoot.html
- techcrunch.com/2020/03/12/covid-19-market-turmoil-tests-nyses-shutdown-circuit-breakers/
- www.wsj.com/articles/fed-to-inject-1-5-trillion-in-bid-to-prevent-unusual-disruptions-in-markets-11584033537