×

โควิด-19 แพร่ระบาดได้แม้ผู้ป่วยไม่มีอาการ สรุปเบาะแสและข้อค้นพบสำคัญสู่การป้องกันโรคที่ดีขึ้น

03.04.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • หลักฐานชิ้นล่าสุดที่ทำให้ได้ข้อสรุปว่า โควิด-19 สามารถแพร่ระบาดได้โดยที่ผู้ป่วยยังไม่มีอาการคือ รายงานเรื่อง Presymptomatic Transmission of SARS-CoV-2 – Singapore, January 23 – March 16, 2020 ที่ตีพิมพ์ในวารสาร MMWR เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2563 เป็นข้อค้นพบที่ประเทศสิงคโปร์ว่า จากการสอบสวนโรค ผู้ป่วย 243 ราย มีผู้ป่วย 7 กลุ่มก้อน (Cluster) ที่มีความเป็นไปได้ว่า จะเกิดการแพร่เชื้อในขณะที่ยังไม่มีอาการ
  • เราใช้เวลา 3 เดือน ในการพิสูจน์ว่า โควิด-19 สามารถแพร่เชื้อจากผู้ป่วยคนหนึ่งไปยังผู้สัมผัสได้ก่อนที่เขาจะมีอาการ คำถามที่เกิดขึ้นตามมาคือ เขาสามารถแพร่เชื้อได้อย่างไร 
  • ผู้วิจัยของสิงคโปร์สันนิษฐานว่า การแพร่เชื้อในผู้ที่ไม่มีอาการก็เกิดขึ้นแบบเดียวกันได้คือ การติดต่อผ่านละอองขนาดใหญ่จากการพูดหรือการออกเสียง โดยเฉพาะการร้องเพลง ซึ่งสร้างละอองน้ำลายออกมา และการติดต่อผ่านการสัมผัสสิ่งของ (Formites) ต่อจากผู้ป่วย

ผู้ที่ไม่มีอาการ แพร่เชื้อได้หรือไม่ 

 

ผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนใหญ่มีอาการน้อย และมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ไม่แสดงอาการ คำถามนี้จึงเกิดขึ้น เพราะมีไวรัสบางชนิดที่เรารู้จักมาก่อนหน้านี้ว่า สามารถแพร่ให้กับผู้อื่นได้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ (Asymptomatic หรือ Pre-symptomatic transmission) เช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่สามารถติดต่อได้ตั้งแต่ 1-2 วัน ก่อนที่จะมีไข้ หรือไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหัด สามารถติดต่อได้ตั้งแต่ 3-5 วัน ก่อนที่จะออกผื่น

 

 

ตามธรรมชาติของการติดเชื้อในร่างกาย เมื่อได้รับเชื้อแล้ว เรายังไม่แสดงอาการทันที แต่จะมีระยะที่เชื้อแบ่งตัวเพิ่มจำนวนก่อนเรียกว่า ‘ระยะฟักตัว (Incubation Period)’ จากนั้นเมื่อเกิดการตอบสนองของร่างกายก็จะมี ‘อาการ’ ไข้ และอาการตามระบบที่ติดเชื้อ เช่น ระบบทางเดินหายใจจะมีอาการไอ มีเสมหะ ระบบทางเดินปัสสาวะก็จะมีอาการปัสสาวะแสบขัด หากร่างกายสามารถจัดการได้หรือได้รับการรักษาก็จะ ‘หาย’ จากโรค

 

ในขณะที่ถ้าหากพูดถึงการแพร่เชื้อให้กับผู้อื่น ส่วนใหญ่มักจะมี ‘ระยะแพร่เชื้อ (Infectious Period)’ ตรงกับช่วงที่มีอาการ แต่ถ้าหากโรคนั้นสามารถแพร่เชื้อในขณะที่ไม่มีอาการได้ จะเรียกว่า ‘Asymptomatic Transmission’ (A แปลว่า ไม่ + symptom แปลว่า อาการ) ส่วนถ้าต่อมาผู้ป่วยรายนั้นมีอาการในภายหลัง แต่เกิดการแพร่เชื้อไปแล้ว จะเรียกว่า ‘Pre-symptomatic transmission’ (Pre แปลว่า ก่อน คือก่อนที่จะมีอาการ)

 

มกราคม 2563

หลักฐานชิ้นแรกที่มีการพูดถึงการแพร่เชื้อขณะที่ไม่มีอาการคือ Transmission of 2019-nCoV Infection from an Asymptomatic Contact in Germany ที่ตีพิมพ์ในวารสาร NEJM เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563 (สังเกตว่าชื่อโรคยังเป็นชื่อเดิมอยู่) เป็นข้อค้นพบที่ประเทศเยอรมันว่า มีนักธุรกิจหญิงชาวจีนคนหนึ่ง เดินทางจากเซี่ยงไฮ้มาประชุมธุรกิจที่บริษัทใกล้กับมิวนิก จากนั้นผู้ที่เข้าร่วมประชุมกับเธอมีอาการป่วย และตรวจพบว่าเป็นโควิด-19

 

ตอนแรกเธอให้ประวัติว่า เริ่มมีอาการป่วยบนเครื่องบินเที่ยวกลับ แพทย์จึงสรุปว่า กรณีนี้เกิดจากการติดเชื้อในขณะที่ผู้ป่วยไม่มีอาการ แต่ต่อมาแพทย์ได้ซักประวัติเธออย่างละเอียดอีกครั้งกลับพบว่า เธอเริ่มรู้สึกตัวร้อนหลังจากเข้าประชุมวันแรก ไม่มีไข้ แต่ได้กินยาที่มีส่วนผสมของยาพาราเซตามอลด้วย ทำให้มีการแก้ไขรายงานชิ้นนั้นในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ และข้อเสนอเรื่องการแพร่เชื้อในขณะที่ไม่มีอาการจึงยังไม่เป็นที่ยอมรับ

 

กุมภาพันธ์ 2563

หลักฐานชิ้นถัดมาคือ Presumed Asymptomatic Carrier Transmission of COVID-19 ที่ตีพิมพ์ในวารสาร JAMA เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นข้อค้นพบที่เมืองอันหยาง ประเทศจีน ว่ามีผู้ป่วยโควิด-19 ในครอบครัวเดียวกัน 5 ราย โดยติดมาจากสมาชิกคนหนึ่งที่มาจากเมืองอู่ฮั่น แต่ระหว่างที่กลับมาแล้วเขาไม่แสดงอาการเลย จนกระทั่งสมาชิกคนอื่นมีอาการป่วย แพทย์ถึงตรวจพบว่า มีไวรัสอยู่ในตัวเขา ทำให้ข้อเสนอนี้เริ่มเข้าเค้ามากขึ้น

 

มีนาคม 2563

หลักฐานชิ้นล่าสุดที่น่าจะทำให้เราได้ข้อสรุปในเรื่องนี้แล้วคือ Presymptomatic Transmission of SARS-CoV-2 – Singapore, January 23 – March 16, 2020 ที่ตีพิมพ์ในวารสาร MMWR เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2563 เป็นข้อค้นพบที่ประเทศสิงคโปร์ว่า จากการสอบสวนโรค ผู้ป่วย 243 ราย มีผู้ป่วย 7 กลุ่มก้อน (Cluster) ที่มีความเป็นไปว่า จะเกิดการแพร่เชื้อในขณะที่ยังไม่มีอาการ ซึ่งจะเป็นเช่นนี้ได้ก็ต่อเมื่อ 

 

  1. ผู้ป่วยที่เป็นแหล่งโรค (Source Patient) ไม่มีอาการในขณะที่มีการสัมผัสโรค 

 

  1. ผู้ป่วยที่รับเชื้อต่อมา (Secondary Patient) ไม่มีหลักฐานว่าได้รับเชื้อมาจากที่อื่นนอกจากผู้ป่วยที่เป็นแหล่งโรคเท่านั้น

 

ยกตัวอย่าง Cluster A เริ่มต้นจากผู้หญิงอายุ 55 ปี (A1) และผู้ชายวัย 56 ปี (A2) เดินทางกลับมาจากอู่ฮั่นวันที่ 19 มกราคม 2563 (น่าจะเป็นสามีภรรยากัน) และได้เดินทางไปโบสถ์แห่งหนึ่งในวันเดียวกันนั้นเลย (ตรงกับวันอาทิตย์พอดี) ต่อมาผู้หญิงมีอาการวันที่ 22 มกราคม ส่วนผู้ชายมีอาการในวันที่ 24 มกราคม มีผู้ป่วย 3 คน ที่คาดว่าติดเชื้อจากสามีภรรยาคู่นี้ ได้แก่ ผู้ชายอายุ 53 ปี (A3), ผู้หญิงอายุ 39 ปี (A4), และผู้หญิงอายุ 52 ปี (A5) ซึ่งเข้ามาที่โบสถ์ในวันเดียวกัน และต่อมามีอาการในวันที่ 23 มกราคม, 30 มกราคม, และ 3 กุมภาพันธ์ ตามลำดับ โดยผู้ป่วย A5 ได้นั่งเก้าอี้ตัวเดียวกับที่ผู้ป่วย A1 และ A2 นั่งอยู่ (จากการตรวจสอบกล้องวงจรปิด) ส่วนผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่โบสถ์ในวันเดียวกันอื่นไม่มีอาการเพิ่มเติม

 

 

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ Cluster B ผู้หญิงวัย 54 ปี (B1) สัมผัสกับผู้ป่วยคนก่อนหน้าจากการกินอาหารเย็นในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563 จากนั้นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ได้เข้าร่วมกิจกรรมร้องเพลงกับผู้หญิงอายุ 63 ปี (B2) อีก 2 วันถัดมา ผู้ป่วย B1 ถึงจะมีอาการ และผู้ป่วย B2 มีอาการในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ข้อสรุปที่ได้จากกลุ่มก้อนผู้ป่วยเหล่านี้คือโควิด-19 สามารถติดต่อกันได้ในขณะที่ยังไม่มีอาการ คือช่วง 1-3 วัน ก่อนที่ผู้ป่วยจะมีไข้ ไอ เจ็บคอ หรืออาการอื่น

 

ข้อค้นพบนี้สอดคล้องกับรายงานเรื่อง Temporal dynamics in viral shedding and transmissibility of COVID-19 ที่ตีพิมพ์ลงในวารสารออนไลน์ medRxiv เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2563 ซึ่งผู้วิจัยวิเคราะห์ระยะระหว่างผู้ป่วยรายแรกมีอาการจนถึงผู้ป่วยรายที่สองมีอาการ (Serial Interval) และผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบว่า ไวรัสนี้อาจหลั่งออกมา (Viral Shedding) จากร่างกายตั้งแต่ 2-3 วัน ก่อนที่จะมีอาการ ทำให้มีการแพร่เชื้อไปแล้วมากถึง 44%

 

ผู้ที่ไม่มีอาการ แพร่เชื้อได้อย่างไร 

 

เราใช้เวลา 3 เดือน ในการพิสูจน์ว่า โควิด-19 สามารถแพร่เชื้อจากผู้ป่วยคนหนึ่งไปยังผู้สัมผัสได้ก่อนที่เขาจะมีอาการ คำถามที่เกิดขึ้นตามมาคือ เขาสามารถแพร่เชื้อได้อย่างไร เพราะเรารู้มาก่อนหน้านี้ว่า โรคนี้แพร่ผ่านละอองขนาดใหญ่ (Droplet Transmission) ซึ่งผู้ป่วยจะต้องไอจามออกมาก่อน ถึงจะเกิดละอองน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะ กระเด็นไปหรือตกลงบนพื้นผิวสิ่งของ

 

ผู้วิจัยของสิงคโปร์ได้สันนิษฐานว่า การแพร่เชื้อในผู้ที่ไม่มีอาการก็เกิดขึ้นแบบเดียวกันได้คือ การติดต่อผ่านละอองขนาดใหญ่จากการพูดหรือการออกเสียง โดยเฉพาะการร้องเพลง ซึ่งสร้างละอองน้ำลายออกมา และการติดต่อผ่านการสัมผัสสิ่งของ (Formites) ต่อจากผู้ป่วย อย่างที่เป็นข่าวเมื่อไม่นานมานี้ว่า คณะนักร้องประสานเสียงในรัฐวอชิงตันป่วยเป็นโควิด-19 มากถึง 40 ราย ก็อาจเกิดจากระยะแพร่เชื้อที่ยังไม่มีอาการนี้ได้

 

คำตอบของคำถามนี้จะนำมาสู่การป้องกันตัวเรา ในเมื่อรูปแบบการติดต่อทั้ง 2 ระยะ คือระยะที่ผู้ป่วยยังไม่มีอาการ และระยะที่ผู้ป่วยมีอาการนั้นเหมือนกัน ดังนั้น วิธีการป้องกันจึงยังคงเหมือนเดิมคือ การล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ การเว้นระยะห่างจากผู้อื่น (ส่วนใบหน้าของเราก็ต้องเว้นระยะห่างจากมือที่ไม่สะอาดด้วย) และการสวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องพบปะกับผู้อื่น หากจะเพิ่มเติมก็คือ การเปลี่ยนความรู้สึกที่ยังไม่คุ้นเคยกับสุขอนามัยนี้ให้กลายเป็นความเคยชิน

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising