ไม่ว่าจะเป็นโมเดล 3T ของเกาหลีใต้ หรือ TTI ที่อาจเคยได้ยินนักวิชาการบางคนอ้างถึงตัว T หนึ่งในนั้นต้องเป็น ‘Test’ หรือการตรวจหาเชื้อโควิด-19 จนกระทั่งผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกเคยเรียกร้องให้ทุกประเทศ Test, Test, Test เลยก็มี เพราะยิ่งตรวจมากก็ยิ่งเจอมาก บนสมมติฐานที่ว่ามีการระบาดเป็นวงกว้างในชุมชนแล้ว
แต่การตรวจจำนวนมากก็นำไปสู่ ‘ภาวะคอขวด’ ที่ห้องแล็บ จากเดิมที่เคยทราบผลการตรวจภายใน 24 ชั่วโมงก็อาจนานขึ้นเป็น 2-3 วัน ดังนั้นจึงต้องมีการจัดลำดับความสำคัญในการตรวจหาเชื้อ ได้แก่ กลุ่มที่มีอาการทางเดินหายใจ, ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ, กลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง, กลุ่มอาชีพเสี่ยง ฯลฯ
การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก (Active Case Finding) ช่วยทำให้ ‘ตีวง’ การระบาดของโควิด-19 ได้ว่าแพร่กระจายมากน้อยเพียงใดแล้ว โดยเป็นการตรวจหาเชื้อในพื้นที่ที่เชื่อมโยงกับผู้ป่วย รวมถึงผู้ที่ไม่มีอาการ ซึ่งตอบโจทย์การระบาดระลอกใหม่ได้เป็นอย่างดี ประกอบกับห้องแล็บมีจำนวนและความพร้อมมากขึ้นกว่าระลอกก่อน
ทว่าการตรวจหาเชื้อก็ไม่ใช่คำตอบทั้งหมด หากผู้ที่มีความเสี่ยงเข้ารับการตรวจหาเชื้อเร็วเกินไป ผลก็อาจเป็นลบได้ เพราะยังอยู่ในระยะฟักตัวของเชื้ออยู่ ดังนั้นผู้ที่มีความเสี่ยงจึงต้องกักตัวหรือสังเกตอาการจนครบ 14 วัน ถึงแม้จะตรวจแล้วไม่พบเชื้อ ซึ่งหาก ‘จำเป็น’ ต้องตรวจ ควรตรวจหลังจากสัมผัสผู้ป่วย 5 วันขึ้นไป
อ้างอิง:
- กรมควบคุมโรค, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร