‘เจอ แจก จบ’ เป็นแนวทางใหม่ในการรักษาผู้ป่วยโควิด เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่สายพันธุ์โอมิครอนรุนแรงน้อยกว่าเดลตา สาเหตุจากทั้งไวรัสมีความรุนแรงลดลง และคนมีภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีน กระทรวงสาธารณสุขจึงปรับการรักษาผู้ป่วยสีเขียวเป็นแบบผู้ป่วยนอก (OPD) หรือเจอ แจก จบ โดย
- ‘เจอ’ หมายถึง การตรวจ ATK พบผลบวก
- ‘แจก’ หมายถึง แพทย์จะพิจารณาจ่ายยารักษา 3 สูตร ได้แก่ 1. ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ไอ 2. ยาต้านไวรัส เช่น ฟาวิพิราเวียร์ และ 3. ยาฟ้าทะลายโจร
- ‘จบ’ หมายถึง การที่ผู้ติดเชื้อดูแลตนเองที่บ้าน
ผู้ป่วยที่สามารถรักษาตามแนวทางนี้ได้จะต้องเป็นผู้ป่วย ‘สีเขียว’ ซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ / สบายดี หรือมีอาการเล็กน้อย เช่น ไข้ต่ำกว่า 39 องศาเซลเซียส ไอ เจ็บคอ ไม่มีอาการหายใจหอบเหนื่อย ระดับออกซิเจนในเลือดมากกว่า 94% และไม่มีปัจจัยเสี่ยง เพราะจะรักษาตามอาการเป็นหลัก เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ ให้รับประทานยาลดไข้ / แก้ปวด มีอาการไอ ให้รับประทานยาแก้ไอ
- หากไม่มีอาการ / สบายดี จะไม่ได้รับยาต้านไวรัส เพราะส่วนมากหายได้เอง และแพทย์อาจจ่ายยาฟ้าทะลายโจรให้ตามดุลยพินิจ
- หากมีอาการเล็กน้อยและไม่มีปัจจัยเสี่ยง อาจได้รับยาต้านไวรัส (ไม่จำเป็นต้องรับประทาน หากยามีจำกัด แพทย์จะไม่ได้จ่ายให้) ส่วนยาฟ้าทะลายโจร ห้ามรับประทานร่วมกับยาต้านไวรัส เพราะอาจเกิดผลข้างเคียง
ส่วนหากมีอาการเล็กน้อย แต่มีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ อายุมากกว่า 60 ปี, โรคปอดเรื้อรัง, โรคไตเรื้อรัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคหัวใจแต่กำเนิด, โรคหลอดเลือดสมอง, เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้, ภาวะอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 90 กก. หรือ BMI ≥30 กก./ตร.ม.), ตับแข็ง และภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ถือว่าเป็นผู้ป่วยสีเหลือง จะได้รับการรักษาในระบบรักษาที่บ้าน (Home Isolation: HI) หรือ Hospitel
ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะได้รับยาต้านไวรัส เช่น ฟาวิพิราเวียร์ 5-10 วัน โดยต้องเริ่มยาเร็วที่สุด และตามแนวทางของประเทศไทยไม่แนะนำให้ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์หากมีอาการมานานเกิน 4 วันแล้ว
สุดท้ายผู้ป่วยปอดอักเสบ หรือมีอาการรุนแรง เช่น หายใจหอบเหนื่อย ระดับออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 94% จัดเป็นผู้ป่วยสีแดง ต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล และจะได้รับยาต้านไวรัสเรมเดซิเวียร์ รวมถึงยาอื่นๆ ตามแนวทางของประเทศไทย
ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาตามแนวทาง ‘เจอ แจก จบ’ ต้องแยกตนเองจากสมาชิกคนอื่นในบ้านจนครบ 10 วันนับจากวันที่เริ่มมีอาการหรือตรวจพบเชื้อ (หากไม่มีอาการ) สังเกตอาการตนเอง หากมีอาการหายใจเร็ว หายใจหอบเหนื่อย สำหรับผู้ป่วยเด็กคือ หายใจลำบาก ซึมลง ดื่มนมหรือรับประทานอาหารน้อยลง ให้รีบติดต่อโรงพยาบาลที่ท่านรักษาอยู่ เพื่อรับการรักษาเพิ่มเติม
ภาพประกอบ: พรวลี จ้วงพุฒซา
อ้างอิง:
- แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ฉบับปรับปรุง วันที่ 1 มีนาคม 2565 https://covid19.dms.go.th/Content/Select_Landding_page?contentId=161