×

โควิด-19 รอบใหม่สายพันธุ์อังกฤษอัตรารอดชีวิตลดลง ศบค. ยังยืนยันคนตายเพิ่มตามอัตราผู้ติดเชื้อ จับตาวิกฤตขาดเตียง ICU

23.04.2021
  • LOADING...
โควิด-19 รอบใหม่สายพันธุ์อังกฤษอัตรารอดชีวิตลดลง ศบค. ยังยืนยันคนตายเพิ่มตามอัตราผู้ติดเชื้อ จับตาวิกฤตขาดเตียง ICU

ศบค. รายงานสถานการณ์วันที่ 23 เมษายน มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เสียชีวิตเพิ่ม 4 ราย นับเป็นวันที่ 7 ติดต่อกันที่มีผู้เสียชีวิต และมีบางเคสพบว่าเป็นคนอายุน้อย และเสียชีวิตลงอย่างรวดเร็วนับจากวันที่มีอาการและเข้ารับการรักษา

 

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ยังคงยืนยันว่าอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นมาจากอัตราผู้ติดเชื้อที่มากขึ้น แต่ THE STANDARD มีมุมมองที่ต่างออกไป จากข้อมูลของ นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ซี่งระบุว่า เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษ นอกจากจะแพร่เชื้อได้เร็ว ยังมีโอกาสที่จะลงปอดได้สูงขึ้น

 

นพ.โอภาสให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ว่า “ตอนนี้ไวรัสที่เป็นสาเหตุของโควิด-19 ในประเทศไทยมันเป็นสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งที่ตรวจเจอส่วนใหญ่และกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คือสายพันธุ์อังกฤษ ซึ่งข้อมูลจากประเทศอังกฤษศึกษามาแล้วพบว่า สายพันธุ์นี้มีคุณสมบัติเปลี่ยนไปจากสายพันธุ์ดั้งเดิมคือ ปริมาณเชื้อในโพรงจมูกจะเยอะขึ้น เชื้อแบ่งตัวได้ดีขึ้น ก็มีผลในแง่ของการไปกระจายเชื้อ เพราะถ้าเชื้อเยอะ เวลาจาม พูด ไอ ก็จะแพร่กระจายเชื้อได้มากขึ้น

 

“คุณสมบัติของเชื้อจับกับเซลล์ที่โพรงจมูกได้ดีขึ้น กับเยื่อบุทางเดินหายใจ เวลาติดและรับเชื้อเข้าไปไม่ต้องเยอะมาก แต่ก็จะติดได้ดีขึ้น จึงเป็นสาเหตุของคำอธิบายว่าทำไมเชื้อมันถึงติดได้ง่ายขึ้น

 

“เนื่องจากปริมาณเชื้อในทางเดินหายใจเยอะ เวลาสูดหายใจเข้าไป โอกาสที่มันจะตกเข้าไปในปอดมันก็จะเยอะขึ้น เพราะฉะนั้น การเกิดปอดอักเสบอธิบายได้ว่า ปริมาณเชื้อมันเยอะ มันจับกับเซลล์ของมนุษย์ได้ดีขึ้น เลยทำให้มันลงปอดได้ดีขึ้น ทำให้เกิดปอดอักเสบได้ง่ายกว่าสายพันธุ์เดิมที่เคยระบาดในระลอกแรกและระลอกที่สอง”

 

นพ.โอภาสกล่าวด้วยว่า “มีหลายประเทศที่เขาศึกษาดูว่าตกลงสายพันธุ์อังกฤษทำให้อัตรการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นไหม ข้อมูลคือของอังกฤษที่นำเคสสายพันธุ์อังกฤษที่กำลังระบาดในบ้านเรากับเคสสายพันธุ์อื่น เขาทำเทียบกันประมาณ 50,000 คน พบว่ามันมีความแตกต่างกันในแง่ของการรอดชีวิต คนที่ติดสายพันธุ์อังกฤษอัตราการรอดชีวิตมันลดลง”

 

อย่างไรก็ตาม วิกฤตสำคัญที่ต้องจับตาอย่างน่าห่วงคือ ศักยภาพการรองรับผู้ป่วย ที่หากทำได้ไม่ดีจะเพิ่มอัตราการเสียชีวิตให้สูงขึ้นไปกว่าเดิม 

 

“ถ้าเรายังมีเคสจำนวนไม่เยอะมากพอ ปริมาณของทรัพยากร บุคลากรทางการแพทย์ ปริมาณเตียงที่จะรองรับกับการเกิดเคสที่รุนแรงแบบนี้ อัตราการเสียชีวิตก็จะไม่เยอะขึ้น แต่ถ้ามันกระจายเยอะขึ้น ผู้ที่มีความเสี่ยงที่มีอาการรุนแรงเยอะขึ้นในโรงพยาบาล อาจจะทำให้เรามีอุปสรรคในการดูแลคนไข้ อาจจะเห็นการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น คือโอเค สายพันธุ์นี้อาจจะรุนแรงเพิ่มขึ้น แต่อัตราการเสียชีวิตมันขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นด้วย

 

“ตอนนี้สงครามยังไม่จบ ผมคิดว่าเราต้องตามดูต่อ ถ้าสมมติเคสมันเพิ่มไม่เยอะอัตราการเสียชีวิตก็จะไม่เยอะมาก ถ้าเรามีทรัพยากรในการดูแลรักษาได้แบบสู้กับเชื้อได้ แต่เมื่อใดก็ตามที่เคสเยอะขึ้นแล้วเราเริ่มมีการขาดแคลนทรัพยากรบางอย่าง อาจจะเห็นว่าอัตราการเสียชีวิตอาจจะสูงขึ้นก็ได้ เราอยู่ในช่วงของการเริ่มต้นการระบาดของสายพันธุ์อังกฤษนี้ อีกอย่างที่จะแจ้งให้ทราบคือ เวลาติดเชื้อคนไข้คนหนึ่งในวันนี้อาจจะไม่รุนแรง อีก 1-2 สัปดาห์ถึงเริ่มมีอาการให้เห็นว่ารุนแรงเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น เวลานับว่าคนไข้ยังไม่รุนแรง ต้องรอดูว่าอีก 1-2 สัปดาห์เขาจะเป็นอย่างไร มันเป็นตัวเลขที่ยังไม่สามารถสรุปได้ ตอนนี้ต้องพยายามช่วยกันเต็มที่ที่จะทำให้เตียงเพียงพอ ทำให้ทรัพยากรในการรักษาเพียงพอ ยาเพียงพอ เพื่อจะลดอัตรการเสียชีวิตในโรงพยาบาลให้มากที่สุด”

 

ขณะที่ล่าสุด โฆษก ศบค. เปิดเผยว่า เตียง ICU ในกรุงเทพมหานคร รองรับผู้ป่วยได้แค่ 6-8 วัน ส่วนเตียง ICU ทั้งประเทศ รองรับผู้ป่วยได้อีกแค่ 19 วัน และยังมีผู้ติดโควิด-19 รอการรับเข้ารักษาอีกกว่า 1,423 คน โดยข้อมูลล่าสุดวันนี้สามารถนำเข้ารักษาได้ 224 คน

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising