×

ค้าปลีกติดโควิด-19 ลูกค้าหาย 30% ร้อง 4 มาตรการบรรเทา นำ ‘ช้อปช่วยชาติ’ กลับมา, ลด VAT และยืดเวลาจ่ายภาษี

04.03.2020
  • LOADING...

การระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบกับทั้งประชาชนและธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน มีสัดส่วนจำนวนลูกค้าลดลงมากกว่า 30% และยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งผลจากการปิดตัวของธุรกิจท่องเที่ยวหรือที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยง ส่งผลให้กำลังซื้อหายไปจากระบบเป็นจำนวนกว่า 70,000 ล้านบาท (*ข้อมูลจาก EIC)

 

ภาคธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง นับเป็นภาคธุรกิจที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของทั้งประเทศ โดยสร้างรายได้คิดเป็น 16% ของจีดีพีรวมของประเทศไทย และมีการจ้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อมรวมกว่า 6.2 ล้านคน รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กอีกกว่า 450,000 ราย จากผลกระทบของโรคโควิด-19

 

คมสัน ขวัญใจธัญญา รักษาการประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ในนามสมาคมผู้ค้าปลีกไทย และภาคีค้าปลีกทั่วประเทศ จึงขอเสนอมาตรการที่จำเป็นให้รัฐบาลช่วยเหลือและเยียวยา โดยมีข้อเสนอเร่งด่วน 4 มิติ ดังนี้

 

ด้านการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ

1. เสนอให้นำโครงการ ‘ช้อปช่วยชาติ’ กลับมาอีกครั้ง โดยการขยายวงเงินการบริโภคจากเดิม 15,000 บาท เป็น 50,000 บาท และกำหนดช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน จนถึงวันที่ 31 กันยายน พ.ศ. 2563 โดยไม่มีข้อจำกัดกลุ่มสินค้าหรือประเภทธุรกิจ

2.เสนอโครงการ ‘คืนภาษีนำเข้า Duty Tax Refund’ สำหรับสินค้านำเข้าเพื่อจำหน่ายแก่ลูกค้าต่างชาติให้กับทั้งลูกค้าคนไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ กำหนดช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2563

 

3.เสนอภาครัฐพิจารณาลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 7% เป็น 5% เป็นการชั่วคราว กำหนดช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 เพื่อเป็นการลดภาระค่าครองชีพผู้บริโภค

 

4.พิจารณายกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้มีเงินได้สุทธิจากเดิม 150,000 บาทแรก เป็น 300,000 บาทแรก สำหรับปีภาษี 2563

 

ด้านการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายนิติบุคคล

1.เสนอให้พิจารณายืดภาระการชำระภาษีนิติบุคคลประจำปี 2562 ที่กำหนดให้ชำระภายในเดือนพฤษภาคม ไปเป็นเดือนสิงหาคม และพิจารณายืดภาระการชำระภาษีนิติบุคคลกลางปี 2562 ที่กำหนดให้ชำระภายในเดือนสิงหาคม ไปเป็นเดือนธันวาคม 2563

 

2.เสนอให้นิติบุคคลที่ต้องลงทุนซื้อหรือเช่าอุปกรณ์ที่ใช้ในระบบการคัดกรอง แจ้งเตือนและเฝ้าระวังผู้มีโอกาสติดโรคโควิด-19 ที่ใช้ในจุดคัดกรอง เช่น กล้องอินฟราเรดจับอุณหภูมิ เครื่องวัดอุณหภูมิสแกน และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องสามารถนำค่าใช้จ่าย มาลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่า ก่อนการคำนวณภาษี

 

3.เสนอให้พิจารณาลดอัตราค่าน้ำ ค่าไฟ ต่อหน่วย ให้แก่ นิติบุคคล กำหนดช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2563

 

ด้านการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายการจ้างงาน

1.เพื่อชะลอการลดกำลังคน การยกเลิกชั่วโมงล่วงเวลา (OT) ตลอดจนถึง การเลิกจ้างงาน จึงขอเสนอให้กระทรวงแรงงานประกาศอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายชั่วโมง เพื่อที่ภาคธุรกิจสามารถยืดหยุ่นในการจ้างงานเป็นรายชั่วโมงได้อย่างถูกกฎหมาย

 

2.เสนอให้สำนักงานประกันสังคม พิจารณาลดภาระค่าใช้จ่ายในการสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ในช่วงวิกฤตนี้ โดยพิจารณายกเว้นเงินสมทบทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างเป็นการชั่วคราว จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563

 

3.นโยบายการจ้างงานผู้สูงอายุ เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถยืดหยุ่นการจ้างได้เพิ่มขึ้น จึงขอให้พิจารณาปรับเพิ่มอัตราชดเชยภาษี ที่นิติบุคคลสามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งเดิมหักได้เพียง 15,000 บาทต่อคน เป็นหักได้สูงสุด 50,000 บาทต่อคน และนอกจากนี้ ขอให้พิจารณาให้ผู้สูงอายุสามารถสมัครประกันสังคมได้ (เพราะปัจจุบัน ผู้สูงอายุไม่มีหลักประกัน ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำประกันชีวิตหรือสุขภาพเอง)

 

ด้านการสร้างความความเชื่อมั่นแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว

1.ภาคค้าปลีกค้าส่งจะร่วมมือกับภาครัฐ รณรงค์ให้ศูนย์การค้า ร้านค้าปลีกทั่วประเทศ ดำเนินการทำ Big Cleaning ทำความสะอาด พ่นสเปรย์ด้วยยาฆ่าเชื้อโรคในสถานประกอบการครั้งใหญ่โดยพร้อมเพรียงกัน โดยจะมีกระทรวงสาธารณสุขรับรองมาตรฐาน โดยเริ่มจากกรุงเทพมหานคร ขยายไปยังจังหวัดที่เป็นเป้าหมายของนักท่องเที่ยวตามลำดับ

 

2.ภาครัฐต้องสนับสนุนให้ศูนย์การค้า ร้านค้าปลีก และแหล่งท่องเที่ยว ติดตั้งเครื่องอุปกรณ์ที่ใช้ในระบบการคัดกรอง การแจ้งเตือนและเฝ้าระวังผู้มีโอกาสติดเชื้อโรคโควิด-19 ในสถานประกอบการเพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการคัดกรองผู้ป่วยที่มีอาการแล้ว เช่น กล้องอินฟราเรดจับอุณหภูมิ เครื่องวัดอุณหภูมิสแกน และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง โดยสามารถนำค่าใช้จ่ายไปลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่า ตามข้อเสนอข้างต้น

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X