×

สธ. เผยผู้ป่วยหายกลับบ้านเพิ่ม 3 ราย พร้อมเพิ่มช่องทางให้ข้อมูลโรคโควิด-19

27.02.2020
  • LOADING...

วันนี้ (27 กุมภาพันธ์) นพ.ณรงค์ สายวงค์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน สาธารณสุขนิเทศก์ และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป และคณะแถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด-19

 

ซึ่งมีการเปิดเผยว่าวันนี้มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้เพิ่มอีก 3 ราย เป็นจากสถาบันบำราศนราดูร 2 ราย เป็นชายจีนอายุ 63 ปี และชายไทยอายุ 49 ปี อีกหนึ่งรายจากโรงพยาบาลราชวิถี เป็นหญิงจีนอายุ 33 ปี ทำให้ปัจจุบันมีผู้ป่วยยืนยันที่รักษาหายแล้ว 27 ราย และยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 13 ราย รวมยอดผู้ป่วยสะสม 40 ราย

 

สำหรับความคืบหน้าการติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกับกลุ่มผู้ป่วยยืนยัน 3 รายเมื่อวานนี้ (26 กุมภาพันธ์) ได้แก่ คนในครอบครัว เพื่อนร่วมกรุ๊ปทัวร์ บุคลากรทางการแพทย์ เพื่อนร่วมชั้นเรียน ขณะนี้ติดตามได้ครบทุกคนแล้ว โดยผู้สัมผัสเสี่ยงสูงหมายถึง ผู้สัมผัสที่มีโอกาสสูงในการรับหรือแพร่เชื้อกับผู้ป่วย ประกอบด้วย ผู้สัมผัสใกล้ชิด หรือมีการพูดคุยกับผู้ป่วยในระยะ 1 เมตรนาน 5 นาที หรือถูกไอจามจากผู้ป่วยโดยไม่มีการป้องกัน เช่น ไม่สวมหน้ากากอนามัย ผู้ที่อยู่ในบริเวณที่ปิด ไม่มีการถ่ายเทอากาศ เช่น ในรถปรับอากาศ ห้องปรับอากาศร่วมกับผู้ป่วย และอยู่ห่างจากผู้ป่วยไม่เกิน 1 เมตรนาน 15 นาทีโดยไม่มีการป้องกัน ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำหมายถึง ผู้สัมผัสที่มีโอกาสต่ำในการรับหรือแพร่เชื้อกับผู้ป่วย ได้แก่ ผู้สัมผัสที่ไม่เข้าเกณฑ์ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง

 

ทั้งนี้มีผู้สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับโรคโควิด-19 เข้ามาที่กรมควบคุมโรคผ่านสายด่วน 1422 (30 คู่สาย) เป็นจำนวนมาก กรมควบคุมโรคจึงเปิดช่องทางการสื่อสารเพิ่มเติมทางแชตบอต ชื่อ ‘คร.OK’ ที่สามารถตอบคำถามที่พบบ่อย หรือ LINE Official ชื่อ ‘รู้กันทันโรค’ ประชาชนสามารถเลือกใช้ช่องทางดังกล่าวเพื่อฟังข้อมูลอัตโนมัติ หรือฝากข้อความให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ

 

นอกจากนี้ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามในประกาศโรคติดต่ออันตรายแล้วเย็นวานนี้ และเตรียมประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้ในวันถัดไป 

 

ส่วนกรณีผู้เดินทางจากพื้นที่เสี่ยง ควรแจ้งประวัติการเดินทางทุกครั้ง เพราะการปกปิดข้อมูล ประวัติความเสี่ยง ประวัติการเดินทาง ไม่เป็นประโยชน์ อาจเป็นโทษ นำโรคมาติดคนใกล้ชิด เพื่อนร่วมงาน ขอให้อย่ากลัวที่จะบอกประวัติความเสี่ยง สาธารณสุขไทยมีศักยภาพเพียงพอในการดูแลรักษา แต่ต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชนในการมีส่วนร่วมในการป้องกันการแพร่กระจายของโรค หากเรามีความเสี่ยงและมีอาการสงสัยว่าป่วย ให้หยุดที่ตัวเรา แยกตัวออกจากผู้อื่น ป้องกันตนเอง ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ งดใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น งดใช้ขนส่งสาธารณะ ผู้ที่เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยง หากมีความจำเป็นต้องทำงาน สามารถทำงานที่บ้านได้ โดยปรึกษากับหัวหน้างาน จดบันทึกอาการของตนเองและวัดไข้ทุกวัน 

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X