×

‘โรคติดต่ออันตราย’ นิยามใหม่ของโควิด-19 ที่กรมควบคุมโรคประกาศใช้เพื่อรับมือการระบาดระยะ 3

24.02.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติประกาศให้ ‘โรคโควิด-19’ เป็นโรคติดต่ออันตรายตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เพื่อยกระดับการรับมือกับโรคระบาดที่กำลังเป็นที่หวาดกลัวไปทั่วโลกชนิดนี้
  • ‘โรคติดต่อที่มีความรุนแรงสูงและสามารถแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็ว’ เป็นคำจำกัดความของ ‘โรคติดต่ออันตราย’ ตามตัวบทกฎหมาย และนับตั้งแต่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ. ดังกล่าว ปัจจุบันมีโรคอยู่ในรายชื่อนี้รวม 13 โรค 
  • ถ้ามีการประกาศให้โรคนี้เป็น ‘โรคติดต่ออันตราย’ ตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้แล้ว คำสั่งต่างๆ ของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะกลายเป็นกฎหมายที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม และหากไม่ให้ความร่วมมือหรือมีผู้ขัดขวางการทำงาน ก็จะมีความผิดทางอาญาด้วย เหมือนกับการประกาศภาวะฉุกเฉินของฝ่ายความมั่นคงที่จะมีบางมาตรการกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน 

แทบจะไม่มีใครเคยได้ยินชื่อ ‘โรคติดต่ออันตราย’ หรือ ‘พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558’ ซึ่งได้รับการปรับปรุงจาก ‘พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2523’ มาก่อน จนกระทั่งมีข่าวว่ากรมควบคุมโรคเตรียมเสนอคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติให้ประกาศ ‘โรคโควิด-19’ เป็นโรคติดต่ออันตรายตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการระบาดในระยะที่ 3 หรือเมื่อโรคนี้ระบาดเป็นวงกว้างในประเทศไทย

 

โรคติดต่ออันตรายคืออะไร

‘โรคติดต่อที่มีความรุนแรงสูงและสามารถแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็ว’ เป็นคำจำกัดความของ ‘โรคติดต่ออันตราย’ ตามตัวบทกฎหมายi และนับตั้งแต่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ ได้มีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ‘ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย’ มาแล้ว 2 ฉบับในปี 2559ii (จำนวน 12 โรค) และ 2561iii (จำนวน 1 โรค) ทำให้ปัจจุบันมีโรคอยู่ในรายชื่อนี้รวม 13 โรค 

 

คุ้นชื่อโรคไหนกันบ้างไหมครับ? 

 

ไข้ทรพิษ เป็นโรคที่ได้รับการประกาศว่าถูกกวาดล้าง (Eradication) หมดไปจากโลกแล้วด้วยการปลูกฝี ซึ่งเป็นต้นแบบของวัคซีนในเวลาต่อมา

 

ส่วนโรคซาร์สและโรคเมอร์สเป็นโรคที่เกิดจากไวรัสโคโรนาที่ถูกขึ้นบัญชีไปก่อนหน้านี้แล้ว ส่วนโรคอื่นไม่แปลกที่จะไม่คุ้นหู เพราะยังไม่มีการระบาดในประเทศไทย ยกเว้น วัณโรค XDR-TB ที่เกิดจากการกลายพันธุ์ของเชื้อภายในประเทศ แต่ยังระบาดในวงจำกัด

 

ทว่าโดยหลักการแล้วโรคที่จะถูกจัดว่าเป็น ‘โรคติดต่ออันตราย’ จะต้องมีคุณสมบัติ 3 ข้อ ได้แก่ 

 

1.มีความรุนแรงสูง เช่น อัตราตายสูง ความเสียหายต่อเศรษฐกิจมาก 

2.ไม่มียารักษา

3.ไม่มีวัคซีน ยกตัวอย่างเช่น โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคที่มีความรุนแรงสูง เป็นแล้วเสียชีวิตทุกราย แต่มีวัคซีนป้องกัน จึงไม่จัดเป็นโรคประเภทนี้ หรือ โรคไข้เหลือง ถึงแม้จะมีวัคซีน แต่ก็มีอย่างจำกัด จึงจัดเป็นโรคติดต่ออันตราย เป็นต้น

 

เมื่อพิจารณาโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน ผู้ป่วยในประเทศจีนiv มีอัตราตายรวม 2.3% แต่ผู้สูงอายุมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่า โดยพบว่าสูงถึง 14.8% ในผู้ที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป 

 

ส่วนยารักษายังอยู่ในระหว่างการทดลอง แต่ก็มีข่าวว่าทางการจีนv อนุญาตให้ผลิตยา Favipiravir สำหรับใช้รักษาโรคโควิด-19 ได้เพื่อการค้าแล้ว ทั้งที่การวิจัยทางคลินิกvi เพิ่งเริ่มต้นเมื่อสองสัปดาห์ก่อน (แสดงว่ามั่นใจมาก) ในขณะที่การพัฒนาวัคซีนคงต้องใช้ระยะเวลาอีกพักใหญ่

 

มาตรการการควบคุมโรคที่เปลี่ยนไปหลังประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย

ถึงแม้ที่ผ่านมากรมควบคุมโรคจะควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ผ่านศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) ซึ่งมีผู้บัญชาการเหตุการณ์สั่งการไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบภายในกรมฯ (แบ่งเป็น 7 กลุ่มภารกิจหลักที่ตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจ) แต่ถ้าเป็นหน่วยงานอื่นหรือประชาชน จะทำได้แค่การขอความร่วมมือเท่านั้น ผู้รับคำสั่งจึงอาจทำหรือไม่ทำตามคำแนะนำก็ได้ และหากไม่ทำก็ไม่มีบทลงโทษแต่อย่างใด

 

ในขณะที่ถ้ามีการประกาศให้โรคนี้เป็น ‘โรคติดต่ออันตราย’ (หรืออย่างน้อยเป็น ‘โรคระบาด’) ตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้แล้ว คำสั่งต่างๆ ของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะกลายเป็นกฎหมายที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม และหากไม่ให้ความร่วมมือหรือมีผู้ขัดขวางการทำงาน ก็จะมีความผิดทางอาญาด้วย เหมือนกับการประกาศภาวะฉุกเฉินของฝ่ายความมั่นคง ที่จะมีบางมาตรการกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน กล่าวคือ

 

1.การเฝ้าระวังโรคจะทันเวลามากขึ้น จากเดิมที่ไม่มีกรอบระยะเวลาในการรายงานผู้ป่วยชัดเจน แต่เมื่อมีการประกาศเป็นโรคติดต่ออันตรายแล้ว ผู้ที่พบผู้ป่วย (‘ผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็น’) จะต้องรายงานต่อ ‘กรมควบคุมโรค’ ภายใน 3 ชั่วโมง ยกเว้นมีเหตุสุดวิสัย โดยผู้ที่พบผู้ป่วยในกฎหมายจะมี 4 ประเภทหลัก ได้แก่ เจ้าบ้าน/แพทย์ผู้รักษา สถานพยาบาล ผู้ชันสูตร (ห้องปฏิบัติการ) และสถานประกอบการ

 

ยกตัวอย่างแพทย์ผู้รักษา เมื่อเจอผู้ป่วยที่มีประวัติเสี่ยง (เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค หรือ Patient Under Investigation: PUI) เข้ามาตรวจรักษา ก็จะต้องรายงานต่อกรมฯ ให้ทันเวลา ส่วนเจ้าบ้านกับสถานประกอบการ เช่น โรงงาน โรงแรม (พบผู้ป่วยที่เป็นนักท่องเที่ยว) สามารถแจ้งผ่าน ‘สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ/จังหวัด’ ซึ่งเป็นหน่วยงานควบคุมโรคในพื้นที่ แล้วหน่วยงานนั้นๆ จะส่งต่อกรมฯ อีกทีภายใน 1 ชั่วโมง

 

2.การป้องกันและควบคุมโรคระดับบุคคลจะเข้มงวดขึ้น เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ (จพต.) จะสามารถสั่ง (1) การตรวจ/รักษา/ส่งตรวจ รวมถึงการแยกกัก/กักกัน/คุมไว้สังเกต (2) การฉีดวัคซีน (3) การส่งตรวจและการจัดการศพหรือซากสัตว์ (4) การกำจัดโรคและปรับปรุงสุขาภิบาล (5) การกำจัดสัตว์/แมลง (6) การห้ามการกระทำที่ไม่ถูกสุขลักษณะ (7) การห้ามบุคคลเข้า-ออกสถานที่ และ (8) การเข้าไปในสถานที่เพื่อควบคุมโรคได้

 

ยกตัวอย่าง การแยกกักผู้ป่วย (Case Isolation) จนกว่าผลตรวจเชื้อจะเป็นลบ โดยที่ผ่านมาทางการแพทย์ถือเป็นขั้นตอนของการดูแลรักษาและผู้ป่วยก็ให้ความยินยอม (เป็นสิทธิ์ผู้ป่วย) ทว่าเมื่อมีการประกาศเป็นโรคติดต่ออันตราย ผู้ป่วยจะปฏิเสธไม่ได้ หรือการกักกันผู้สัมผัส (Contact Quarantine) ที่จะต้องพักตัวอยู่ที่บ้านจนกว่าจะพ้นระยะฟักตัวของโรคที่นานที่สุด (ในกรณีโรคโควิด-19 คือ 14 วัน) ก็จะต้องดำเนินการอย่างจริงจัง

 

มาตรการการป้องกันและควบคุมโรค ตามมาตรา 34 ของ พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558

 

3.การป้องกันและควบคุมโรคระดับชุมชนจะมีกฎหมายรองรับ เพราะขณะเดียวกันกฎหมายจะให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดใน (1) การปิดตลาด ร้านอาหาร โรงงาน โรงภาพยนตร์ โรงเรียน/มหาวิทยาลัย หรือสถานที่อื่น (2) การให้ผู้ป่วยหยุดทำงาน และ (3) การห้ามผู้ป่วยเข้าไปในสถานที่ชุมชน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อในที่สาธารณะ เหมือนกับการสั่งปิดตลาดค้าปลีกอาหารทะเลในเมืองอู่ฮั่น หรือในอนาคตถ้ามีการระบาดในโรงเรียนก็จะสามารถสั่งปิดชั่วคราวได้

 

โดยสรุปประเทศไทยมีการรับมือการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขอย่างเป็นระบบ 

 

แต่การประกาศให้โรคนี้เป็น ‘โรคติดต่ออันตราย’ ถือเป็นการใช้เครื่องมือทาง ‘กฎหมาย’ ในการควบคุมและป้องกันโรค ซึ่งผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นคือสามารถควบคุมการระบาดของโรคได้ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งกรมควบคุมโรคและรัฐบาลจะต้องมีความโปร่งใสหากมีการบังคับใช้มาตรการที่เกี่ยวข้อง

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising