×

เศรษฐกิจตก ดอกเบี้ยต่ำ น้ำมันร่วง หุ้นดิ่ง… รับมืออย่างไรดี

โดย SCB WEALTH
10.03.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • นักเศรษฐศาสตร์ทุกสำนักคาดการณ์แล้วว่าปีนี้ GDP ทุกประเทศทั่วโลกมีโอกาสตกต่ำแน่ หากการระบาดของโควิด-19 ไม่สามารถควบคุมได้ภายในครึ่งปีแรก ด้านเศรษฐกิจไทยเองก็ถือว่ามีความเสี่ยงที่จะขยายตัวต่ำระหว่าง 1-2%
  • ตลาดหุ้นและเศรษฐกิจของไทย นอกจากจะต้องพึ่งพิงรายได้จากการท่องเที่ยวและส่งออกกับจีนเยอะแล้ว สัดส่วนของหุ้นที่เกี่ยวกับน้ำมันยังสูงถึงราว 30% ของตลาดหุ้นไทย ส่งผลให้ SET Index ปรับตัวลดลงมาที่ระดับ 1,250 จุด
  • ในกรณีมีหุ้นที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น หุ้นท่องเที่ยว หุ้นน้ำมัน ต้องยอมรับว่าจะใช้เวลามากกว่าหุ้นที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ก็ไม่แนะนำให้ขาย Cut Loss เพราะหุ้นเหล่านี้มีโอกาสฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน หากสถานการณ์ดีขึ้นชัดเจน 
  • สำหรับนักลงทุนที่ถือเงินสด การสร้างพอร์ตตอนนี้ถือว่าเป็นจังหวะที่ดีมาก โดยควรเริ่มซื้อหุ้นที่ไม่ได้รับผลกระทบทางตรงจากโควิด-19 หรือราคาน้ำมันตก แต่ราคาหุ้นลดลงตามภาวะตลาด เนื่องจากหุ้นเหล่านี้มีโอกาสฟื้นตัวเร็ว

ตั้งแต่เข้าปี 2020 เป็นต้นมา แม้เวลาผ่านไปเพียง 2 เดือนกว่าๆ เท่านั้น ซึ่งโดยปกติมักจะเป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองและริเริ่มทำสิ่งใหม่ๆ บางคนก็อาจไปท่องเที่ยว 

 

แต่ปีนี้กลับกลายเป็นว่าเกิดเหตุการณ์ที่เหนือความคาดหมายถึง 2 เรื่องซ้อนๆ กัน คือการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนมีผู้ติดเชื้อไปเกือบทั่วโลกกว่า 1 แสนราย และการเกิดสงครามน้ำมัน (แบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว) ระหว่างซาอุดีอาระเบียและรัสเซีย ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบดิ่งลงทันที 30% ล่าสุดราคาน้ำมันดิบเบรนท์ลดลงมาเคลื่อนไหวแถวๆ 35 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

 

ในประเด็นเรื่องการลงทุนต้องบอกว่าปั่นป่วนไปทั่วโลก อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปีลดลงไปต่ำกว่า 1% ต่ำกว่าช่วงวิกฤตการเงินสหรัฐฯ ปี 2007-2008 และต่ำสุดในประวัติศาสตร์ เนื่องจากนักลงทุนโยกเงินเข้าไปซื้อกันมาก เพราะกลัวความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยในช่วงครึ่งปีแรก 2020

 

นักเศรษฐศาสตร์ทุกสำนักคาดการณ์แล้วว่าปีนี้ GDP ทุกประเทศทั่วโลกมีโอกาสตกต่ำแน่ หากการระบาดของโควิด-19 ไม่สามารถควบคุมได้ภายในครึ่งปีแรก ด้านเศรษฐกิจไทยเองก็ถือว่ามีความเสี่ยงที่จะขยายตัวต่ำระหว่าง 1-2%

 

ด้านตลาดหุ้นไม่ต้องพูดถึง ตกต่ำกันทั่วโลกทั้งหุ้นการบิน ท่องเที่ยว และพลังงาน ไม่เว้นแม้แต่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่มีพื้นฐานแข็งแกร่ง จนถึงขั้นต้องมีการหยุดซื้อขายชั่วคราวในวันที่ 9 มีนาคม หรือที่เรียกกันว่า Circuit Breaker โดยครั้งสุดท้ายที่มีการใช้คือวันที่ 1 ธันวาคม 2008  

 

ด้านตลาดหุ้นไทยนับตั้งแต่ต้นปี 2020 ปรับตัวลดลงไปแล้วร่วม 20% ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่มากที่สุดในเอเชีย โดยมีตลาดหุ้นอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ตามมาติดๆ ในขณะที่ตลาดหุ้นจีนกลับลดลงน้อยที่สุดในเอเชีย รวมถึงลดลงน้อยกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่จีนเป็นจุดเริ่มต้นการระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมาก แต่เนื่องจากนักลงทุนมีความเชื่อมั่นอย่างมากต่อรัฐบาลจีนที่ประกาศพร้อมจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อลดผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19

 

ทั้งนี้ดัชนี SET Index ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วหลุดทุกๆ แนวรับสำคัญ ตั้งแต่ 1,500 / 1,400 / 1,300 สะท้อนภาพผลการดำเนินงานปี 2020 ที่กำลังถูกปรับลดลงอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยเสี่ยงทั้งภายในและภายนอก โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบที่ลดลงอย่างรุนแรง เมื่อนับจากจุดสูงสุดที่สร้างสถิติไว้เมื่อตอนต้นปี 2018 ที่ระดับ 1,850 จุด ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงไปแล้วถึง 600 จุด หรือราว 32.4% ลองมาลำดับกันสักหน่อยว่าช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นบ้าง

 

1.ตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นอีกหลายแห่งในเอเชีย หลังจากที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรงนับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2017 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2018 ตลาดก็เกิดการปรับฐานขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ

 

2.หลังจากปรับฐานได้ไม่นาน โลกก็ต้องมาเจอกับเหตุการณ์ที่ดูเหมือนจะมีการวางแผนมาแล้วระยะหนึ่ง นั่นคือการก่อสงครามทางการค้าจากทางสหรัฐฯ และจีน ส่งผลให้ตลาดการเงินทั่วโลกเกิดความผันผวนขึ้นอย่างมาก เนื่องจากเป็นประเทศที่มีขนาดของเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศใหญ่เป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลก ตลาดหุ้นปรับลดลงแรง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปีที่อยู่ที่ระดับ 3.2% ก็ปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่อง

 

3.นอกจากความขัดแย้งทางด้านการค้าและการเมืองระหว่างสองมหาอำนาจแล้ว ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องถึง 4 ครั้งในปี 2018 โดยเฉพาะการปรับขึ้นครั้งสุดท้ายในเดือนธันวาคมที่ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกรวมถึงสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง ดัชนี SET Index ในปี 2018 ปรับตัวลดลงจากจุดสูงสุดถึง 287 จุดหรือ -15.5%

 

4.ปี 2019 เป็นปีที่ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดหุ้นในประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับ 20-30% ทางด้านตลาดหุ้นจีนก็ปรับขึ้นได้ดีเช่นกันจากปัญหาความขัดแย้งที่คลี่คลาย รวมถึงธนาคารกลางทั่วโลกที่นำโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ ดำเนินนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลาย ธนาคารกลางสหรัฐฯ เองก็ลดดอกเบี้ยลงมาถึง 3 ครั้ง แต่ตลาดหุ้นไทยกลับปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียง 1% เท่านั้น

 

5.เข้าปี 2020 ตลาดหุ้นไทยเริ่มกลับมามีความหวัง หลังจากที่ทางสหรัฐฯ และจีนสามารถหาข้อตกลงทางการค้าระยะที่ 1 และเกิดการลงนามอย่างเป็นทางการ การค้าที่สะดุดอยู่นานเริ่มเห็นแสงสว่าง 

 

การคาดการณ์ว่าการค้าการลงทุนจะคึกคักขึ้นต่อเนื่อง จนกระทั่งถึงช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2020 เกิดขึ้นเพียงชั่วครู่ ทั่วโลกรวมถึงไทยต้องเผชิญอุปสรรคครั้งใหม่ที่ใหญ่กว่าครั้งที่ผ่านๆ มามาก นั่นคือการระบาดของโควิด-19 โดยมีจุดกำเนิดในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย เป็นปัญหาที่ไม่ได้มาจากมนุษย์หรือ Man Made เหมือนที่ผ่านมาแล้ว

 

6.ตลาดหุ้นไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากปัญหาครั้งใหม่ เนื่องจากธุรกิจการท่องเที่ยวและส่งออกของไทยมีการพึ่งพาประเทศจีนในระดับค่อนข้างสูง รวมแล้วมากกว่า 8% ของ GDP ไทย ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยหลุด 1,500 จุด และ 1,400 จุดได้อย่างง่ายดายตามลำดับ

 

7.สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในจีนเริ่มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อในจีนเหลือเพียง 20-30 รายต่อวันเท่านั้น แต่การระบาดในประเทศอื่นๆ ดูเหมือนจะเพิ่งเริ่ม 

 

การระบาดในยุโรปและสหรัฐฯ ยังไม่ถึงจุดพีกและคงต้องใช้เวลาอีกสักพัก เรื่องการระบาดของโควิด-19 พอจะมองเห็นปลายทางได้ว่าเมื่อควบคุมอย่างจริงจังถึงจุดหนึ่ง การระบาดจะสามารถควบคุมได้ ความเชื่อมั่นน่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมาผ่านนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านการเงินและการคลัง

 

ล่าสุดสถานการณ์การระบาดนอกจีน ภาพรวมยังดูไม่ดีนัก โดยเฉพาะยุโรป ตะวันออกกลาง และสหรัฐฯ 

 

ทางด้านเกาหลีใต้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในระดับสูงของระบบสาธารณสุขและการแพทย์ของประเทศที่ทำให้ตรวจพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากได้ในระยะเวลาอันสั้น ส่งผลให้การควบคุมเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีผู้เสียชีวิตในระดับที่ต่ำมากเพียง 0.6% 

 

แต่ตลาดการเงินทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศไทยกลับต้องมาเจอกับดาบเล่มใหญ่ที่แทงเข้ามาที่ตลาดการเงินทั่วโลกอีกครั้ง นั่นคือการประกาศสงครามราคาน้ำมันของซาอุดีอาระเบีย โดยจะมีการปรับเพิ่มกำลังการผลิตจาก 9.9 ล้านบาร์เรลต่อวันเป็น 12 ล้านบาร์เรลต่อวัน และยังจะปรับลดราคา OSP Premium น้ำมันดิบทุกประเภท โดยที่ขายไปยังยุโรปจะลด 8 ดอลลาร์ ขายไปยังสหรัฐฯ ลด 7 ดอลลาร์ และขายไปเอเชียลด 6 ดอลลาร์ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวลดลงมาถึง 20%

 

เมื่อวันจันทร์ที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงแรง แต่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวแรงกว่า SET Index ปรับตัวลดลงหลุด 1,300 จุด และปิดที่ระดับต่ำที่สุดในรอบกว่า 7 ปีครึ่ง มาดูกันว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง

 

1.ดัชนี SET Index ปรับตัวลดลงหลังจากที่การระบาดของโควิด-19 ในจีนขยายเป็นวงกว้างจาก 1,600 จุดลงมาที่ 1,340 จุด ปรับตัวลดลง 260 จุดหรือ 16.25% ในระยะเวลาเพียง 1 เดือนครึ่ง ตลาดเหมือนจะเริ่มฟื้นตัวได้บ้างจากการปรับลดดอกเบี้ยฉุกเฉินของธนาคารกลางสหรัฐฯ 0.5% ส่งผลให้ธนาคารกลางต่างๆ ต้องปรับลดดอกเบี้ยตามลงมา

 

2.นโยบายผ่อนคลายทางการเงินเข้ามาในตลาดได้เพียง 1 สัปดาห์ การประชุม OPEC+ ที่มีรัสเซียรวมอยู่ด้วยเกิดวงแตก รัฐมนตรีพลังงานของทางฝั่งซาอุดีอาระเบียและรัสเซียไม่สามารถหาข้อยุติในการลดกำลังการผลิตได้ โดยทางรัสเซียไม่ต้องการลดกำลังการผลิตแล้ว เมื่อรัสเซียไม่เอาด้วย นอกจากทางซาอุดีอาระเบียจะไม่ลดยังกลับเพิ่มกำลังการผลิต รวมถึงลดราคาลงมาตามรายละเอียดที่กล่าวไปข้างต้นด้วย

 

3.นอกจากตลาดหุ้นและเศรษฐกิจของไทยจะต้องพึ่งพิงรายได้จากการท่องเที่ยวและส่งออกกับจีนเยอะแล้ว สัดส่วนของหุ้นที่เกี่ยวกับน้ำมันยังสูงถึงราว 30% ของตลาดหุ้นไทย ส่งผลให้ SET Index ปรับตัวลดลงมาที่ระดับ 1,250 จุด

 

4.เมื่อมองในภาพใหญ่ ตลาดหุ้นไทยนับตั้งแต่ไปทำจุดสูงสุดที่ 1,850 จุดในต้นปี 2018 ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงมาแล้วกว่า 30% ในระยะเวลา 2 ปี ถ้าเรามองว่าครั้งนี้คือวิกฤตจริง แต่เป็นวิกฤตระดับกลาง ไม่ใช่วิกฤตระดับรุนแรงอย่าง Hamburger Crisis และที่สำคัญ Policy Maker มีความพร้อมกว่าครั้งก่อนมาก รวมถึงยังมีสภาพคล่องอยู่ในระดับที่สูงมาก มองว่าแย่ที่สุดตลาดหุ้นไทยก็ไม่ควรปรับลดลงรุนแรงเหมือนในปี 2007-2008

 

สิ่งที่คิดว่าแย่ที่สุดและส่งผลด้านลบรุนแรงต่อตลาดหุ้นไทยออกมาหมดหรือยัง เราลองมาเช็กกัน

 

1.เรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในจีนควบคุมได้อย่างเต็มรูปแบบแล้ว หลังจากนี้ไปก็อาจจะมีข่าวตัวเลขจำนวนผู้ป่วยต่อวันเพิ่มขึ้นแรงบ้างในบางวัน แต่ก็ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง 

 

ประเทศในเอเชียอย่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่นก็น่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ ส่วนยุโรปกับสหรัฐฯ คงต้องใช้เวลาอีกสักพักจึงจะเห็นสัญญาณของการควบคุมได้ คาดว่าสถานการณ์การระบาดคงจะดีกว่าตอนนี้มากภายในเดือนเมษายน และจะมีวัคซีนสำหรับรักษาโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นออกมาอย่างต่อเนื่อง 

 

อุตสาหกรรมการผลิตในจีนน่าจะฟื้นตัวกลับมาได้เร็วกว่าที่คาดไว้ ระบบห่วงโซ่อุปทานของการผลิตสินค้าในจีนก็จะค่อยๆ กลับมาเป็นปกติ ส่วนการท่องเที่ยวคงจะต้องใช้เวลาอีกสักนิดในการละลายพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่หน้าตาเอเชีย การท่องเที่ยวโดยเฉพาะในไทยก็คงจะค่อยๆ ฟื้นตัวไปตามลำดับ

 

2.การเล่นสงครามราคาน้ำมันของซาอุดีอาระเบียในครั้งนี้ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงมาแรง ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ทั้ง 3 รายอย่าง สหรัฐฯ (18% ของโลก) ซาอุดีอาระเบีย (12%) และรัสเซีย (11%) ได้รับผลกระทบหมดทุกฝ่าย 

 

การต่อสายหรือเปิดโต๊ะเจรจาฉุกเฉินเป็นสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นต่อจากนี้ ถึงแม้ซาอุดีอาระเบียจะมีต้นทุนในการผลิตน้ำมันที่อาจจะต่ำที่สุดในโลกก็จริง แต่รายได้ของประเทศก็มีแค่น้ำมันเป็นหลัก และรายจ่ายทางด้านรัฐสวัสดิการก็มีอีกมาก ราคาระดับนี้ไม่ส่งผลดีต่อใครแน่นอน โดยเฉพาะซาอุดีอาระเบียเอง 

 

โอกาสดีในการซ่อม-สร้างพอร์ตการลงทุน

เชื่อได้เลยว่าจะมีนักลงทุนอยู่ 2 ประเภทคือ นักลงทุนที่มีหุ้นในพอร์ต กับนักลงทุนที่ถือเงินสดรอโอกาส ด้วยสถานการณ์ในปัจจุบันที่ทุกอย่างยังไม่ได้ชัดเจนมากนัก แต่ราคาหุ้นก็ปรับตัวลดลงมาพอสมควรแล้ว จึงถือว่าเป็นโอกาสที่ดีในการเริ่มต้นกลับมาดูแลเงินทุนกันอีกครั้ง

 

สำหรับนักลงทุนที่มีหุ้นในพอร์ตซึ่งมูลค่าลดลงไปตามภาวะตลาดคงต้องใจเย็นๆ แล้วค่อยๆ ปรับพอร์ตให้เหมาะสมกับภาวะตลาดในปัจจุบัน ยิ่งถ้าหุ้นที่ถืออยู่เป็นหุ้นดี มีคุณภาพ มีปันผล ก็คงไม่ต้องปรับอะไรมาก เพราะในท้ายที่สุดเมื่อสถานการณ์ตลาดหุ้นดีขึ้น ราคาหุ้นก็จะปรับตัวขึ้นตาม ในกรณีนี้หากยังมีเงินทุนเหลือก็ยังสามารถที่จะลงทุนหุ้นที่เคยมีอยู่เพิ่มได้ในราคาที่ลดลง เรียกว่าการถัวเฉลี่ยต้นทุน แต่การซื้อรอบนี้ก็ควรรอให้สถานการณ์คลี่คลายไประดับหนึ่งแล้วค่อยทำ 

 

ส่วนในกรณีมีหุ้นที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น หุ้นท่องเที่ยว หุ้นน้ำมัน ต้องยอมรับว่าจะใช้เวลามากกว่าหุ้นที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ก็ไม่แนะนำให้ขาย Cut Loss เพราะหุ้นเหล่านี้มีโอกาสฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วเช่นกันหากสถานการณ์ดีขึ้นชัดเจน แนะนำว่าหากจะขายก็ควรรอให้ราคามีการฟื้นตัวก่อน

 

สำหรับนักลงทุนที่ถือเงินสด การสร้างพอร์ตตอนนี้ถือว่าเป็นจังหวะที่ดีมาก โดยควรเริ่มซื้อหุ้นที่ไม่ได้รับผลกระทบทางตรงจากโควิด-19 หรือราคาน้ำมันตก แต่ราคาหุ้นลดลงตามภาวะตลาด เนื่องจากหุ้นเหล่านี้มีโอกาสฟื้นตัวเร็ว ส่วนหุ้นที่ได้รับผลกระทบ หากรับความเสี่ยงได้มากก็สามารถเลือกซื้อเก็งกำไรระยะสั้นได้ในช่วงที่เริ่มเห็นสถานการณ์คลี่คลาย แต่อย่ารอจนสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ เพราะนั่นหมายถึงราคาหุ้นจะฟื้นตัวไปเรียบร้อยแล้ว

 

วิกฤตก็เหมือนกับเพื่อนเก่า นานๆ จะเจอกันที ไม่เจอบ่อย การพบเจอแต่ละครั้งก็มักจะเจอกันแบบ ‘บังเอิญ’ แต่ละครั้งที่พบเจอ หน้าตาของเพื่อนเก่าก็จะเปลี่ยนไป บางครั้งเราแทบจำไม่ได้ว่านี่คือเพื่อนของเราเหรอ จนกระทั่งเป็นฝ่ายที่ถูก ‘ทักทาย’ ก่อนเจอกันแล้วก็จากไป ไม่อยู่ด้วยกันนานมาก 

 

สำหรับตลาดการเงินโลกรวมไปถึงตลาดหุ้นไทย การคาดการณ์จุดต่ำสุดเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ทำได้เพียงคาดการณ์ได้คร่าวๆ กว่าจะรู้เหตุการณ์นั้นก็ผ่านไปแล้ว สิ่งที่นักลงทุนพอจะทำได้ในช่วงนี้คือเข้าซื้อหุ้นพื้นฐานดี ธุรกิจไม่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบต่างๆ มากนัก มีความแข็งแกร่งสูง และเป็นผู้นำตลาด และสุดท้ายเมื่อเป็นเจ้าของธุรกิจที่มีปัจจัยพื้นฐานดีเยี่ยมแล้ว ระยะเวลาในการถือครองก็นับเป็นอีกปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จในการลงทุน

 

การปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงของตลาดหุ้นในครั้งนี้ ทุกคนได้รับผลกระทบทั้งหมด ไม่ว่าจะเราหรือ เจฟฟ์ เบโซส์ บุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ และอะไรที่เกิดขึ้นแล้วย่อมดีเสมอ อยู่ที่ตัวเราเท่านั้นว่าจะทำอะไรกับสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้า

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising