×

เกิดอะไรขึ้นที่ COP29 เมื่อนานาประเทศห่วงการกลับมาของทรัมป์ สะเทือนวงการพลังงานสะอาด และความพยายามแก้วิกฤตโลกร้อน

12.11.2024
  • LOADING...
COP29

ปี 2024 กำลังจะเป็นปีที่อุณหภูมิโลกร้อนเป็นประวัติศาสตร์ สะท้อนจากช่วง 12 เดือนที่ผ่าน ที่เรามักจะได้พบกับเหตุการณ์สภาพอากาศโลกรวนสุดขั้ว ตั้งแต่ไซโคลนในออสเตรเลีย ไฟป่าในบราซิล ไปจนถึงอุทกภัยร้ายแรงในสเปนเมื่อเดือนที่แล้ว รวมถึงเอเชียและไทยเองก็เกิดน้ำท่วมหนักในพื้นที่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

 

ทั้งหมดนี้ก็ล้วนมาจากวิกฤตโลกร้อน!

 

ขณะเดียวกันการกลับมาของ โดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้นานาประเทศกังวลหนักว่าสหรัฐฯ อาจถอนตัวจากข้อตกลงปารีส และหันไปสนับสนุนพลังงานฟอสซิล เช่น น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งอาจส่งผลต่อทิศทางนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศของประเทศอย่างมาก 

 

ล่าสุดเช้าวันนี้ (12 พฤศจิกายน) ผู้แทนด้านสภาพอากาศสหรัฐฯ ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลต่างๆ เชื่อมั่นในคำมั่นสัญญาของประเทศในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน แม้ โดนัลด์ ทรัมป์ จะกลับมาก็ตาม

 

สำนักข่าว Reuters รายงานว่า การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP29 (Conference of the Parties ครั้งที่ 29) เวทีระดับโลกที่รวมผู้นำและผู้เชี่ยวชาญจาก 198 ประเทศ และสหภาพยุโรป มุ่งเน้นการหารือและแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก โดยมีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) เริ่มขึ้นแล้วเมืองบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน 

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

งานปีนี้จัดขึ้นท่ามกลางเสียงสะท้อนจากคณะผู้แทนจากหลายประเทศที่แสดงความกังวลว่า ชัยชนะของทรัมป์อาจขัดขวางความก้าวหน้าในการจัดการกับภาวะโลกร้อนหรือไม่

 

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด จอห์น โพเดสตา ผู้แทนด้านสภาพอากาศของสหรัฐฯ กล่าวในที่ประชุมว่า โดนัลด์ ทรัมป์ สามารถชะลอการเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ ไม่ใช่การหยุดยั้ง 

 

แม้ทรัมป์ให้คำมั่นสัญญาที่จะนำสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ที่สุดในโลก ออกจากความร่วมมือด้านสภาพอากาศระหว่างประเทศอีกครั้ง และเพิ่มปริมาณการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลของประเทศให้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทว่าสำหรับพวกเราที่ทุ่มเทให้กับการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศมานาน แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วถือว่าน่าผิดหวังอย่างยิ่ง 

 

“แต่สิ่งที่อยากจะบอกในวันนี้คือ แม้ว่ารัฐบาลกลางของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของ โดนัลด์ ทรัมป์ อาจละเลยการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ แต่การทำงานเพื่อควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในสหรัฐฯ จะดำเนินต่อไป” โพเดสตากล่าว 

 

ดังนั้นขอให้รัฐบาลต่างๆ เชื่อมั่นในคำมั่นสัญญาของประเทศในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน แม้ โดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาดำรงตำแหน่ง

 

โดยสหรัฐฯ ยังคงมีกฎหมายลดอัตราเงินเฟ้อ (IRA) ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญด้านสภาพอากาศของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ที่ให้เงินอุดหนุนด้านพลังงานสะอาดเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ซึ่งจะยังคงผลักดันการลงทุนด้านพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และเทคโนโลยีอื่นๆ รวมถึงรัฐบาลของแต่ละรัฐในสหรัฐฯ จะผลักดันการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านกฎระเบียบด้วย

 

แม้ว่าทรัมป์ได้ระบุว่า จะยกเลิกกฎหมายลดอัตราเงินเฟ้อ แต่การจะทำเช่นนั้นจะต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาก่อน ซึ่งเป็นเรื่องยากหากจะมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากมีการสนับสนุนจากสมาชิกพรรครีพับลิกันบางกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายดังกล่าว

 

จับตาเป้าหมายการระดมทุน 1 ล้านล้านดอลลาร์ของประเทศกำลังพัฒนา

 

นอกเหนือจากข้อกังวลเรื่องชัยชนะของทรัมป์เกี่ยวกับนโยบายพลังงาน โดยสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว การเจรจาที่บากูยังมีประเด็นปัญหาเศรษฐกิจและสงครามในยูเครนและฉนวนกาซา ทำให้มีการแก้ไขหัวข้อวาระการประชุมที่สำคัญนั้นซับซ้อนขึ้น ซึ่งคือข้อตกลงในการจัดหาเงินทุนเพื่อสภาพอากาศประจำปีสูงสุด 1 ล้านล้านดอลลาร์สำหรับประเทศกำลังพัฒนาแทนเป้าหมาย 1 แสนล้านดอลลาร์ที่อาจมีความซับซ้อนขึ้น 

 

แหล่งข่าว 3 ราย ซึ่งขอไม่เปิดเผยชื่อ กล่าวว่า ในการประชุมมีสหภาพยุโรปและประเทศเกาะเล็กๆ เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ปฏิบัติตามข้อตกลงเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งรวมถึงวิธีการดำเนินการตามข้อตกลงในการเปลี่ยนผ่านจากถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ ประเทศแถบทะเลแคสเปียนซึ่งเป็นที่ตั้งของแหล่งน้ำมันแห่งแรกของโลก เผชิญกับแรงกดดันให้ดำเนินการตามคำมั่นสัญญาในการประชุม COP28 เมื่อปีที่แล้ว เพื่อยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

 

แต่แหล่งข่าวระบุว่า ประเทศต่างๆ ในอ่าวเปอร์เซียที่ผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลต้องการจำกัดการหารือให้เฉพาะกับองค์ประกอบของข้อตกลง COP28 เมื่อปีที่แล้ว ส่งผลให้ประเทศต่างๆ ยังมีความเห็นไม่ลงรอยกันเกี่ยวกับข้อเสนอของจีนที่จะรวมการค้าเข้าไว้ในวาระการประชุม COP29

 

เนื่องจากการค้ามีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ กับจีน ซึ่งกำลังเผชิญกับภาษีศุลกากรของสหภาพยุโรปอยู่แล้ว บวกกับคำมั่นสัญญาในการหาเสียงของทรัมป์ที่จะกำหนดภาษีศุลกากร 20% สำหรับสินค้าต่างประเทศทั้งหมด และ 60% สำหรับสินค้าจีน หลายคนยังกังวลว่าการถอนตัวของสหรัฐฯ อาจทำให้ประเทศอื่นๆ ถอยกลับจากคำมั่นสัญญาเกี่ยวกับสภาพอากาศที่มีอยู่หรือลดเป้าหมายในอนาคตลง

 

นอกจากนี้ปีนี้เจ้าภาพการเจรจาคืออาเซอร์ไบจาน กดดันรัฐบาลต่างๆ ให้เร่งดำเนินการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด พร้อมทั้งเสนอให้แต่ละประเทศมุ่งใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงเปลี่ยนผ่านพลังงาน

 

ประธานาธิบดี อิลฮัม อาลีเยฟ กล่าวว่า เงินอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลของอาเซอร์ไบจานเป็น ‘ของขวัญจากพระเจ้า’ และอาเซอร์ไบจานเสนอให้จัดตั้งกองทุน Climate Finance Action Fund เพื่อรวบรวมเงินบริจาคโดยสมัครใจสูงสุด 1 พันล้านดอลลาร์จากบริษัทขุดเจาะใน 10 ประเทศ 

 

ด้าน The Guardian รายงานว่า แม้ว่าทั่วโลกกังวลว่าอาจได้รับผลกระทบนโยบายพลังงานของทรัมป์ แต่หากมองอีกมุมอาจไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะสหรัฐฯ ไม่เคยเป็นผู้บริจาคเงินสนับสนุนด้านสภาพอากาศ และมักลังเลที่จะให้เงินสนับสนุนมาโดยตลอด รัฐบาลทรัมป์ที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอยู่แล้วจึงอาจไม่สร้างความแตกต่างไปจากเดิม

 

อย่างไรก็ตาม อีกแง่มุมก็มีความเสี่ยงที่ประเทศอื่นๆ อาจซ่อนตัวอยู่เบื้องหลังการต่อต้านของทรัมป์ เขาอาจปกป้องประเทศที่ไม่กระตือรือร้นในการดำเนินการด้านสภาพอากาศ ซึ่งในทางตรงกันข้ามรัฐบาลไบเดนใช้เวลาหลายปีในการทำงานกับจีนในเรื่องสภาพอากาศ ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน ดังนั้นความพยายามทางการทูตดังกล่าวจะไม่สามารถอยู่รอดได้ภายใต้การบริหารของทรัมป์ นโยบายเหล่านี้จึงต้องจับตาต่อไป

 

สำหรับการประชุม COP29 ครั้งนี้มีประเด็นที่น่าสนใจ คาดว่าจะมีการเจรจาการตั้ง ‘เป้าหมายทางการเงินใหม่’ (New Collective Quantified Goal: NCQG) ซึ่งมุ่งเน้นการจัดหาทุนเพื่อการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนให้กับประเทศกำลังพัฒนา โดยมีเป้าหมายในการผลักดันให้ทุกประเทศนำเสนอแผนการลดการปล่อยคาร์บอน โดยแต่ละประเทศตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซให้ได้อย่างน้อย 30% ภายในปี 2030 

 

ท่ามกลางความท้าทายที่หลายประเทศยังคงพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิล โดยรวมแล้วประเทศต่างๆ จำเป็นต้องลงทุนหลายล้านล้านดอลลาร์เพื่อสร้างระบบพลังงานสะอาดเตรียมพร้อมสำหรับโลกที่ร้อนขึ้นเรื่อยๆ และรับมือกับผลพวงจากภัยพิบัติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ 

 

ภาพ: Chris Conway / Getty Images, Sherif Ashraf 22 / Shutterstock 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X