×

บทสรุปประชุมโลกร้อน COP28 ‘ข้อตกลงที่ไม่ตกลง’

โดย THE STANDARD TEAM
14.12.2023
  • LOADING...
COP28

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศทั่วโลกที่กลายเป็นมหันตภัยคุกคามมนุษย์ในทุกระดับอย่างไม่มีข้อละเว้น การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในบางพื้นที่ที่หนาวสุดขั้วหรือร้อนสุดขีด ความแห้งแล้งที่เป็นเหตุให้เกิดไฟป่า หรือการละลายของพื้นที่ธารน้ำแข็งที่ก่อให้เกิดความกังวลว่าน้ำจะท่วมโลก กลายเป็นความปกติใหม่ของชีวิตมนุษย์ในยุคนี้  

 

แต่ในความเป็นจริงมนุษย์ได้ตระหนักถึงมหันตภัยนี้มาตั้งแต่ในช่วงทศวรรษที่ 1980 หรือเมื่อ 40 กว่าปีก่อน จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการประชุม COP (Conference of Parties) หรือการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในช่วงปลายปีของทุกปีต่อเนื่องกันมาจนถึงปีนี้เป็นครั้งที่ 28 ที่เพิ่งจะปิดฉากลงไปเมื่อวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

 

วัตถุประสงค์หลักของการประชุมคือ การขอความร่วมมือประเทศสมาชิกให้เกิดการมีส่วนร่วมและแก้ไขปัญหา มุ่งเน้นไปที่การรักษาระดับความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศให้อยู่ในระดับคงที่ เพื่อรักษาระดับอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกไม่ให้สูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียส (เมื่อเทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม) แต่ก่อนการประชุมมีการเผยแพร่รายงานช่องว่างการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ซึ่งรายงานของปีนี้ระบุว่า ช่องว่างการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังคงสูงกว่าปีที่แล้ว 1.2% และหากยังเป็นอย่างนี้ต่อไป มีแนวโน้มว่าระดับอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกอาจเพิ่มขึ้นถึง 3 องศาเซลเซียส ซึ่งมากกว่าความตั้งใจที่ได้ให้คำมั่นไว้ในข้อตกลงปารีสถึง 1 เท่าตัว ซึ่งจะส่งผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบนโลกใบนี้อย่างใหญ่หลวง 

 

ในรายงานยังระบุด้วยว่า ถือเป็นความล้มเหลวของทั่วโลกอีกครั้งในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดย อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ พูดถึงเรื่องนี้ว่า “มันยังคงมีความเป็นไปได้ที่เราจะจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกให้อยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส แต่ต้องเริ่มจากการจัดการที่ต้นรากของปัญหานั่นก็คือ ‘เชื้อเพลิงฟอสซิล’ เราต้องเริ่มการเปลี่ยนผ่านพลังงานหมุนเวียนอย่างยุติธรรมและเท่าเทียม”

 

เชื้อเพลิงฟอสซิลรับบทตัวร้าย ทำที่ประชุม COP28 เสียงแตก

 

แม้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกจะเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่พลังงานหลักประมาณ 80% ของโลกยังคงมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล อย่างเช่น น้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน ในความเห็นของผู้เข้าประชุม COP28 ฝ่ายหนึ่งซึ่งประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป แคนาดา และประเทศหมู่เกาะขนาดเล็ก เป็นต้น​ รวมกว่า 100 ประเทศ ซึ่งคิดเป็นกว่าครึ่งของสมาชิกที่เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ มองว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นตัวการหลักในการก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก และนำไปสู่ภาวะโลกร้อน การจะบรรลุเป้าหมายจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกคือ ต้อง ‘เลิก’ ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และอยากให้ระบุอยู่ในข้อตกลงของการประชุมในครั้งนี้ 

 

ในขณะที่อีกฝ่ายซึ่งนำโดยซาอุดีอาระเบีย ประเทศสมาชิกกลุ่ม OPEC+ อิหร่าน อิรักและรัสเซีย ฯลฯ ที่ต้องพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นหลัก หรือแม้กระทั่งเจ้าภาพอย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เองกลับรู้สึกว่า สิ่งที่อีกฝ่ายต้องการคือให้ ‘เลิก’ ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ดูจะเป็นข้อตกลงที่สุดโต่งเกินไปที่จะระบุไว้ในข้อตกลงของการประชุมครั้งนี้

 

การประชุมที่ดุดัน ต่อเนื่อง และยาวนานเกือบ 2 สัปดาห์

 

ดูไบคาดหวังให้การประชุมในครั้งนี้มีผลลัพธ์ที่ต้องจารึกเป็น ‘ประวัติศาสตร์’ แต่ดูเหมือนว่าคำว่า ‘ประวัติศาสตร์’ ที่ทำให้คนจดจำน่าจะเป็นเรื่องของความขัดแย้งที่หาข้อสรุปไม่ได้ จนกระทั่ง สุลต่าน บิน อาห์เหม็ด อัล จาเบอร์ ประธาน COP28 ต้องต่อเวลาการประชุมจนถึงตี 3 ของวันรุ่งขึ้น แหล่งข่าวระบุว่า ก่อนที่จะบรรลุข้อตกลงที่ไม่ตกลงนี้ จาเบอร์ต้องรับมือกับคณะผู้แทนที่แสดงความไม่พอใจอย่างรุนแรง โดยเฉพาะจากประเทศหมู่เกาะที่มีความเสี่ยงสูงต่อภาวะโลกรวน โดยมีการระบุว่า ข้อตกลงแบบนี้เปรียบเสมือนการหยิบยื่นความตายให้กับพวกเขา

 

แต่ในท้ายที่สุดที่ประชุมได้ออกข้อตกลงให้ประเทศต่างๆ ตระหนักถึง ‘ความจำเป็นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในเชิงลึกอย่างรวดเร็วและยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทาง 1.5 องศาเซลเซียส’ และเรียกร้องให้เพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกเป็น 3 เท่าภายในปี 2030 โดยได้ย้ำถ้อยคำที่ตกลงกันในการประชุมสุดยอดครั้งก่อนๆ เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ เร่งความพยายามในการลดปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินลง นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการปล่อยคาร์บอนต่ำและคาร์บอนเป็นศูนย์ รวมถึงเทคโนโลยีหมุนเวียน นิวเคลียร์ การลดและกำจัด เช่น การดักจับคาร์บอน การใช้และการจัดเก็บคาร์บอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคส่วนที่ยากต่อการลดและการผลิตคาร์บอนไฮโดรเจน

 

โมฮาเหม็ด อาโดว์ จากกลุ่มคลังสมองของ Power Shift Africa กล่าวว่า “นี่เป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปีของการเจรจาเรื่องสภาพภูมิอากาศของ COP ที่ไม่มีคำว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลอยู่ในข้อตกลง” และเขายังบอกด้วยว่า เมื่อยักษ์ถูกปลดปล่อยออกจากตะเกียงแก้วแล้วมันจะไม่มีวันกลับเข้าไปอีก การประชุม COP ในครั้งต่อๆ ไปก็อาจแก้ไขอะไรไม่ได้อีกแล้ว

 

ข้อตกลงที่ไม่ตกลงนี้ยังคงเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง โดยเฉพาะในเรื่องของทรัพยากรที่จำเป็นที่จะต้องใช้ในการเปลี่ยนผ่านการลดการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน ซึ่งก็คือเงินทุนมหาศาลที่ไม่ได้มีการพูดถึง ในขณะที่โลกเองก็ร้อนขึ้นทุกวัน ในวันเปิดการประชุม กรมอุตุนิยมวิทยาโลกเปิดเผยว่า ปีนี้ (2023) เป็นปีที่โลกร้อนที่สุดนับตั้งแต่ปี 1850 

 

ภาพ: Sean Gallup / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising