การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 27 หรือ COP27 เตรียมเปิดฉากขึ้นในวันนี้ (6 พฤศจิกายน) ที่เมืองชาร์มเอลชีค ประเทศอียิปต์ โดยมีกำหนดการจัดงานระหว่างวันที่ 6-18 พฤศจิกายน 2022 ท่ามกลางการจับตามองถึงความคืบหน้าในการดำเนินการตามเป้าหมายหลักของความตกลงปารีส (Paris Agreement) ในการจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับช่วงยุคก่อนอุตสาหกรรม
โดยการประชุมวันแรกจะมุ่งเน้นไปที่การพิจารณาวาระต่างๆ สำหรับการพูดคุยตลอด 2 สัปดาห์ ก่อนที่ผู้นำโลกกว่า 120 ประเทศจะเข้าร่วมการประชุมระหว่างวันจันทร์และอังคาร (7-8 พฤศจิกายน)
ในส่วนคณะผู้แทนของไทยที่จะเข้าร่วมการประชุม COP27 และการประชุมที่เกี่ยวข้องนั้น อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย พร้อมด้วยปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศและกลุ่มเคลื่อนไหวมองว่า การประชุมโลกร้อนประจำปีครั้งนี้อาจล้มเหลวตั้งแต่ยังไม่เริ่ม หากประเทศที่เข้าร่วมไม่เห็นพ้องที่จะนำเอาประเด็นปัญหาสำคัญคือ ผลกระทบความสูญเสียและความเสียหายที่เกิดจากจากภัยพิบัติของสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather) ในกลุ่มประเทศยากไร้มาเป็นหัวใจหลักในการพูดคุย
ศ.ซาลีมูล ฮุก ผู้อำนวยการศูนย์ระหว่างประเทศเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพและการพัฒนาของสภาพภูมิอากาศ แสดงความคาดหวังที่จะเห็นความก้าวหน้าในด้านการเงินสำหรับความสูญเสียและความเสียหายจากภัยพิบัติสภาพอากาศในระหว่างการประชุม COP27 ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างหารือว่าจะรวมเอาประเด็นดังกล่าวไว้ในวาระการประชุมหรือไม่ ซึ่งหากไม่รวม อาจหมายถึงความล้มเหลวของการประชุมตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้น
ทั้งนี้ ภายใต้กฎของสหประชาชาติ จะต้องมีการตกลงเรื่องระเบียบวาระในการเปิดประชุม โดยในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาพบว่า ส่วนใหญ่มีความเต็มใจในการพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นความสูญเสียและความเสียหายจากสภาพอากาศ ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่บางประเทศนั้นกำลังหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงปัญหาดังกล่าว
ขณะที่ ฮาร์จีต ซิงห์ หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ทางการเมืองระดับโลกขององค์กร Climate Action Network International เรียกร้องให้ประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นผู้นำในการพูดคุยและจัดการกับปัญหา
“รัฐบาลที่ร่ำรวยต้องมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ในการจัดการกับปัญหาความอยุติธรรมของความสูญเสียและความเสียหายที่กำลังเกิดขึ้นจากสภาพภูมิอากาศ ด้วยการมุ่งมั่นที่จะให้การสนับสนุนต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบ และด้วยการเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล” เขากล่าว พร้อมเน้นย้ำว่า ประเทศผู้ก่อมลพิษนั้นต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น
ภาพ: Joseph Eid / AFP
อ้างอิง: