×

COP26 บรรลุข้อตกลงแก้ปัญหาโลกร้อน หลังอินเดียเป็นแกนนำประนีประนอมลดใช้ถ่านหิน

โดย THE STANDARD TEAM
14.11.2021
  • LOADING...
COP26

การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ ปิดฉากไปเป็นที่เรียบร้อย หลังจากประเทศต่างๆ เกือบ 200 ประเทศ บรรลุข้อตกลงแก้ปัญหาโลกร้อน แม้เกิดดราม่าในช่วงท้ายของการประชุม เมื่อมีการแก้ไขถ้อยคำในข้อตกลงจากกลุ่มประเทศผู้ใช้ถ่านหินรายใหญ่

 

อินเดียได้เสนอด้วยวาจาในระหว่างการประชุมเต็มคณะ ขอแก้ไขถ้อยคำให้อ่อนลง จาก “เลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล” เป็น “ลดการใช้ถ่านหิน” ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวถูกประท้วงจากหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศหมู่เกาะ แต่เนื่องจากไม่มีการคัดค้านอย่างเป็นทางการ จึงถือว่าข้อตกลงดังกล่าวได้รับความเห็นชอบ และเป็นการปิดฉากการเจรจาที่ยาวนานกว่าสองสัปดาห์

 

ในการประชุมเต็มคณะอย่างเป็นทางการครั้งสุดท้าย ภูเพนเดอร์ ยาดาฟ รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศของอินเดีย ในฐานะตัวแทนของประเทศ เสนอแก้ไขข้อความสุดท้ายของข้อตกลง Glasgow Climate Pact โดยเปลี่ยนถ้อยคำสำคัญเกี่ยวกับเชื้อเพลิงฟอสซิล จาก “เลิกใช้” เป็นเร่งความพยายามในการ “ลดการใช้พลังงานถ่านหินที่ไม่มีการกักเก็บคาร์บอน (Unabated Coal) และเลิกให้เงินอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ไม่มีประสิทธิภาพ” โดยทำควบคู่ไปกับ “การให้การสนับสนุนอย่างมีเป้าหมายแก่ประเทศยากจนที่สุดและเปราะบางที่สุด ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของแต่ละประเทศ และสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม”

 

อย่างไรก็ตาม ประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก เช่น หมู่เกาะมาร์แชลล์ และฟิจิ ซึ่งเป็นด่านหน้าที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น แสดงความประหลาดใจและผิดหวังอย่างมากต่อการเปลี่ยนถ้อยคำในข้อตกลงให้อ่อนลง พร้อมลุกขึ้นประท้วง โดยระบุว่าการเปลี่ยนถ้อยคำดังกล่าวเป็น “กระบวนการที่ไม่โปร่งใส” ซึ่งได้รับเสียงปรบมือแสดงความเห็นด้วยอย่างกึกก้องจากที่ประชุม

 

อาล็อก ชาร์มา สมาชิกรัฐสภาของอังกฤษ ในฐานะประธานการประชุม COP26 ตอบรับท่าทีดังกล่าว โดยกล่าวกับที่ประชุมว่า “ผมขอกล่าวกับตัวแทนทุกท่านว่า ผมขอโทษสำหรับกระบวนการนี้ และผมเสียใจอย่างสุดซึ้ง… เป็นเรื่องสำคัญเช่นกันที่เราต้องปกป้องแพ็กเกจนี้” ซึ่งได้รับเสียงปรบมือจากที่ประชุม และข้อความได้รับการยินยอมโดยไม่มีการคัดค้านอย่างเป็นทางการ

 

การเจรจาเรื่องเลิกใช้ถ่านหินเป็นหนึ่งในหัวข้อที่ถกเถียงกันมากที่สุดในการประชุมครั้งนี้ โดยถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลักในเอเชียแปซิฟิก ในขณะที่ภูมิภาคอื่นๆ ใช้ถ่านหินน้อยกว่ามาก ทำให้การเลิกใช้ถ่านหินเป็นเรื่องที่ท้าทายมากกว่าสำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่ความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นเมื่อเศรษฐกิจขยายตัว

 

ด้วยเหตุนี้ ประเทศที่เศรษฐกิจยังต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล จึงเรียกร้องขอแก้ไขข้อความในข้อตกลงให้อ่อนลง จากเดิมที่ระบุว่า “เลิกใช้ถ่านหินทั้งหมดและเงินอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมด” เป็น “เลิกใช้ถ่านหินที่ไม่มีการกักเก็บคาร์บอน (Unabated Coal)” จนสุดท้ายเหลือเพียง “ลดการใช้” ซึ่งแม้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่นี่ถือเป็นครั้งแรกที่มีการระบุถึงการลดการใช้ถ่านหินอย่างชัดเจนในแถลงการณ์ COP

 

ในช่วงบ่ายก่อนที่จะได้ข้อสรุป ยาดาฟกล่าวกับที่ประชุมว่า “ประเทศกำลังพัฒนามีสิทธิ์ที่จะได้รับส่วนแบ่งที่ยุติธรรมของงบประมาณคาร์บอนทั่วโลก และมีสิทธิ์ในการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างมีความรับผิดชอบภายในขอบเขตนี้”

 

ยาดาฟเน้นย้ำว่า “ในสถานการณ์เช่นนี้ จะมาคาดหวังได้อย่างไรว่าประเทศกำลังพัฒนาจะสามารถให้คำมั่นสัญญาเกี่ยวกับการยุติการอุดหนุนน้ำมันและเชื้อเพลิงฟอสซิล ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนายังคงต้องรับมือกับวาระการพัฒนาและการขจัดความยากจน”

 

ภาพ: Christoph Soeder / picture alliance via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising