×

โค้งสุดท้าย COP26: เป้าหมายสูงสุดของการประชุมนี้คืออะไรกันแน่

15.11.2021
  • LOADING...
COP26

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ‘End Goal’ ของเวทีนี้ เป็นประเด็นที่ตกค้างมายาวนานตั้งแต่ COP21 ที่กรุงปารีส คือการสรุปรายละเอียดของ ‘ตลาดคาร์บอนระดับโลก’ โดยตั้งเป้าว่าจะมีข้อสรุปที่จะเสนอต่อสังคมโลกได้ในวันสุดท้ายของการประชุม
  • ดีลข้อตกลงนี้คือตัวชี้วัดความสำเร็จของ COP26 หรือหลายคงมองว่าเป็นมากถึงตัวชี้วัดความสำเร็จขององค์กรนานาชาติในประเด็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change

อาทิตย์แรกของเวที COP26 ที่ผ่านมา เราจะได้ยินซ้ำๆ ไม่กี่เรื่อง เช่น เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ของแต่ละประเทศ การลงนามในสัญญาต่างๆ อย่างการยุติการทำลายป่าภายในปี 2030, การลดการปล่อยก๊าซมีเทน 30% ภายในปี 2030 หรือการตั้งเป้ายกเลิกการใช้ถ่านหิน

 

แต่ที่จริงแล้วประเด็นเหล่านี้เป็นแค่ประเด็นเสริมที่ผู้ประชุมอยากให้เราได้ยินและพยายามปั้นกระแสในอาทิตย์แรกช่วงที่คนทั่วไปยังสนใจอยู่ แต่ไม่ใช่ที่เขาเรียกกันว่า ‘End Goal’ หรือเป้าหมายสูงสุด

 

End goal ของเวทีนี้ ปัจจุบันทำให้ผู้ประชุมจากทั่วโลกไม่ได้หลับไม่ได้นอน เป็นประเด็นที่ตกค้างมายาวนานตั้งแต่ COP21 ที่กรุงปารีส คือการสรุปรายละเอียดของ ‘ตลาดคาร์บอนระดับโลก’ โดยตั้งเป้าว่าจะมีข้อสรุปที่จะเสนอต่อสังคมโลกได้ภายในวันสุดท้ายของการประชุม

 

ดีลข้อตกลงนี้คือตัวชี้วัดความสำเร็จของ COP26 หรือหลายคงมองว่าเป็นมากถึงตัวชี้วัดความสำเร็จขององค์กรนานาชาติในประเด็นการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ หรือ Climate Change หัวข้อ ‘ตลาดคาร์บอนระดับโลก’ อาจจะทำให้หลายคนเกาหัว ซึ่งผมจะเริ่มจากการอธิบายขั้นพื้นฐาน เพื่อที่ทุกคนจะได้เข้าใจไปพร้อมๆ กัน

 

Climate Change คือ ‘ปรากฏการณ์ระดับโลก’ แปลว่าอะไร

ประเด็นหลักที่เราจะต้องยึดไว้ตลอดคือ ‘Climate Change’ เป็น ‘ปรากฏการณ์ระดับโลก’ หรือ ‘Global Phenomenon’ ซึ่งแปลว่า ก๊าซคาร์บอนที่ถูกปล่อยออกมาจะขึ้นไปสู่ชั้นบรรยากาศและจะกระจายไปทั่วโลก ไม่มีข้อจำกัดด้านภูมิศาสตร์ ไม่ได้ค้างอยู่เฉพาะในบริเวณประเทศหรือในทวีปนั้นๆ ซึ่งคาร์บอนที่ปล่อยโดยประเทศหนึ่งจะสร้างผลกระทบต่อประเทศอื่นได้ (เช่น คาร์บอนจากโรงไฟฟ้าถ่านหินในไทยอาจจะไปสร้างผลกระทบต่อประเทศในแอฟริกา) ทำให้มีความแตกต่างจากมลพิษท้องถิ่น เช่น ฝุ่นละออง PM2.5 ที่เป็นแหล่งกำเนิดของมลพิษและที่ที่ได้รับผลกระทบคือที่เดียวกัน (ควันดำๆ จากรถเมล์ของเรากับบรรยากาศขมุกขมัวใน กทม.)

 

มองง่ายๆ ก็เหมือนควันบุหรี่มือสองที่ผู้สูบไม่ได้ทำร้ายตัวเองอย่างเดียว แต่ทำร้ายผู้อื่นด้วย ซึ่งในกรณีนี้ผู้อื่นคือทุกคนบนโลก

 

ที่ผ่านมาความเป็น ‘ปรากฏการณ์ระดับโลก’ นั้นมักถูกมองเป็นเชิงลบ โดยเฉพาะด้าน ‘ความยุติธรรม’ เช่น การที่ประเทศที่ได้รับผลกระทบ (ภัยพิบัติที่รุนแรงขึ้น) กับประเทศที่ปล่อยมลพิษไม่ใช่ประเทศเดียวกัน (ถามว่าประเทศเกาะเล็กๆ กลางแปซิฟิกที่ต้องเผชิญกับระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น (และอาจต้องย้ายออก) มีบทบาทต่อการปล่อยคาร์บอนมากน้อยขนาดไหน) เหมือนกับการที่คนสูบบุหรี่ไม่เป็นอะไร แต่กลับเป็นคนอื่นที่ป่วยแทน

 

‘ไม่สำคัญว่าจะลดที่ไหน ขอแค่ลดก็พอ’

แต่ในทางกลับกัน หลายคนอาจมองว่าจากเดิมที่เป็นปัญหา อนาคตจะเป็นทางออกที่จะช่วยให้โลกบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้ เพราะหลักคิดคือ ถ้าปล่อยมลพิษจากที่หนึ่งจะก่อปัญหาให้ที่อื่นได้ ถ้าอย่างนั้นการลดมลพิษจากที่หนึ่งก็จะลดปัญหาที่อื่นได้เช่นกัน ซึ่งทำให้เกิดแนวคิดว่า ‘ไม่สำคัญว่าจะลดการปล่อยคาร์บอนที่ไหนบนโลกนี้ ขอแค่ได้ลดก็พอ’ เพราะถึงอย่างไรก็ค่าเท่ากัน เนื่องจากคาร์บอนก็กระจายไปทั่วโลกอยู่ดี

 

แปลว่า แทนที่แต่ละประเทศจะต้องหาทางลดมลพิษในประเทศตัวเอง ประเทศนั้นจะจ่ายเงินให้ประเทศอื่นลดแทน และใช้จำนวนการลดนี้สำหรับเป้าหมาย Net Zero ของตัวเองได้

 

เหมือนกับไปจ่ายให้คนอื่นเลิกสูบบุหรี่ ซึ่งก็นับได้ว่าเป็นเรื่องที่ดีต่อส่วนรวม เพราะถ้าคนนั้นเลิกสูบไปหนึ่งคน ก็จะมีปริมาณควันบุหรี่ลดลง แม้คนที่จ่ายเงินนั้นก็ยังสูบบุหรี่เท่าเดิมก็ตาม แถมยังได้เคลมผลงานอีก

 

ตัวอย่างระดับประเทศคือ ประเทศจีนที่ได้ตั้งเป้า Net Zero ไว้ปี 2060 ซึ่งการที่จีนยังต้องส่งเสริมอุตสาหกรรมหนักอยู่ (เช่น เหล็ก ปูนซีเมนต์ ปิโตรเคมี) และการพึ่งพาถ่านหินในภาคพลังงานทำให้การลดการปล่ายคาร์บอนมีความท้าทายอย่างมาก ซึ่งจีนจะมี 2 ทางเลือก ระหว่างลดการปล่อยคาร์บอนของตัวเอง หรือจ่ายให้ประเทศอื่นลดแล้วนับเป็นการลดของจีน

 

แม้หลายคนมองว่าจะทำให้บางประเทศหลีกเลี่ยงการลดคาร์บอนของตนเอง แต่ถ้ากลับมาที่แนวคิดเดิมที่ไม่เน้นเรื่องสถานที่ของการลดคาร์บอน แนวทางนี้ก็ตอบโจทย์

 

ตลาดคาร์บอนระดับโลก

พอเข้าใจหลักคิดจากด้านบนแล้ว จึงไม่แปลกใจทำไมมีความพยายามที่จะทำให้กลายเป็นระบบที่เป็นรูปเป็นร่างให้ได้ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งระบบที่เป็นรูปเป็นร่างนี้คือการสร้าง ‘ตลาดคาร์บอนระดับโลก’ โดยมี 2 มิติ

 

  1. ระดับประเทศ ประเทศ ก ได้รับ ‘คาร์บอนเครดิต’ (หรือ Carbon Offset) จากการทำโครงการปลูกป่า และขายร่วมกับประเทศ ข ซึ่งประเทศ ข จะอ้างอิงโครงการนี้สำหรับเป้าลดคาร์บอนของประเทศได้ เป็นข้อตกลงทวิภาคีระหว่างประเทศ ก กับ ข
  2. ระดับองค์กร องค์กรอนุรักษ์ป่าในไทยแห่งหนึ่งได้ทำโครงการปลูกป่าและได้รับคาร์บอนเครดิต ซึ่งจะขายได้เช่นกัน แต่ที่แตกต่างคือจะมี ‘ตลาดคาร์บอนเครดิต’ ที่เป็นตัวกลางในการเทรด (ให้คิดเหมือนตลาดหุ้น) ซึ่งผู้ที่มาซื้ออาจจะเป็นผู้ผลิตเหล็กจากเยอรมนี หรือสายการบินราคาถูกจากสหราชอาณาจักร โดยทั้งคู่ก็คงจะมีเป้า Net Zero เช่นกัน

 

ปัจจุบันมีการเทรดคาร์บอนเครดิตแล้ว และได้รับความสนใจอย่างมาก ทาง Bloomberg BNEF ได้รายงานว่า 8 เดือนแรกของปีนี้มีการเทรดมากกว่าปีที่แล้วทั้งปี แต่ประเด็นสำคัญคือปัจจุบันยังไม่มีระบบที่รองรับระดับโลก ซึ่งทำให้มีหลายปัญหาในรายละเอียดและโจทย์หลักของ COP26 คือการเคลียร์ปัญหาทั้งหมดให้ได้

 

ปัญหาอะไรบ้าง 

การนับซ้ำ (Double Counting) คือกรณีที่ทั้งประเทศผู้ทำโครงการและประเทศผู้จ่ายค่าโครงการ อ้างอิงตัวเลขการลดคาร์บอนของโครงการปลูกป่าต่อเป้า Net Zero ของตน ทำให้เกิดการนับซ้ำหรือหนึ่งโครงการนับสองรอบ เช่น ในกรณีด้านบน (ระดับองค์กร) ที่ผู้ผลิตเหล็กจากเยอรมนีซื้อคาร์บอนเครดิตไป คำถามคือแล้วประเทศไทยที่เป็นเจ้าภาพของโครงการนี้จะนับได้ด้วยหรือไม่ ประเด็นนี้ทำให้ COP25 ปี 2019 ที่กรุงมาดริด ล้มเหลว เนื่องจากตกลงกันไม่ได้ โดยกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาผลักดันให้นับได้หรือจะต้องได้รับสิทธิพิเศษ

 

คุณภาพของเครดิต คำถามคือ ใครเป็นคนออกหรือให้มูลค่าเครดิตเหล่านี้ เช่น แน่นอนว่าการหยุดทำลายป่า (Deforestation) การปลูกป่าใหม่ (Afforestation) กับการลงทุนในโครงการโซลาร์ มีมูลค่าในเชิงการลดคาร์บอนไม่เท่ากัน โจทย์คือการหาหน่วยงานที่จะรับหน้าที่ตรงนี้และต้องเป็นระดับโลก เนื่องจากถ้าเป็นระดับภูมิภาคก็จะมีมาตรฐานและความคาดหวังที่ต่างกันไป หน่วยงานนี้จะต้องมีความรอบคอบอย่างสูง โดยเฉพาะการปกป้องจาก ‘Green Washing’ หรือ ‘การฟอกเขียว’ ที่หลายบริษัททำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดด้วยการโฆษณาภาพลักษณ์ว่ารับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

 

ข้อเรียกร้องของประเทศกำลังพัฒนา เป็นการเรียกร้องว่าภาษีหรือรายได้ที่มาจากการทำธุรกรรม (การเทรดเครดิต) ควรจะต้องให้ประเทศที่กำลังพัฒนาสำหรับการลงทุนในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ

 

เครดิตจากโครงการเก่า พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) เมื่อปี 1997 ได้มีการริเริ่มกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism) ที่มีความคล้ายตลาดคาร์บอนที่พูดถึง ประเทศบราซิลได้ทำโครงการมากมายภายใต้กลไกลนี้ ซึ่งปัญหาตกอยู่ว่า โครงการเหล่านี้จะนำไปใช้สำหรับการนับสู่เป้า Net Zero ได้หรือไม่ ทำให้บราซิลเป็นหนึ่งในคู่กรณีสำคัญในการสรุปเรื่องนี้

 

“Bad deal is worse than no deal”

แม้หลักการของเรื่องนี้ดูเหมือนเป็นไปได้ แต่ที่เราพบมา 5 ปีกว่านี้คือ ปัญหาอยู่ในรายละเอียด หรือ ‘The Devil is in the Details’ โดยจากที่พิจารณาปัญหาต่างๆ (โดยเฉพาะเรื่องการนับซ้ำกับคุณภาพของเครดิต) หลายคนมองว่าเรื่องนี้ถ้าทำไม่ถูกจะมีปัญหาอย่างยิ่ง ขนาดถึงมีการพูดว่า “Bad deal is worse than no deal” หรือ “ข้อตกลงที่ไม่ดีนั้นจะทำให้เกิดข้อเสียมากกว่าการไม่มีข้อตกลงเลย”

 

เรามาลุ้นกันว่าผู้ร่วมประชุมจะหาทางออกสำหรับ ‘ตลาดคาร์บอนระดับโลก’ ที่ทุกฝ่ายพอใจได้หรือไม่

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising