การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26 ได้ผ่านพ้นกำหนดเวลาการประชุมแล้ว อย่างไรก็ดี การเจรจาเกี่ยวกับข้อตกลงเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะยังคงดำเนินต่อไปในวันเสาร์ (13 พฤศจิกายน)
ประเด็นสำคัญที่เร่งเจรจาคือ การอุดหนุนถ่านหินและเชื้อเพลิงฟอสซิลอื่นๆ และความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศยากจน
ร่างข้อตกลงที่มีการเปิดเผยในวันศุกร์ (12 พฤศจิกายน) ระบุถึงการให้คำมั่นเกี่ยวกับการยุติการใช้ถ่านหินและเชื้อเพลิงฟอสซิลอื่นๆ ด้วยถ้อยคำที่ลดทอนความแข็งกร้าวลง โดยสำนักข่าว Reuters รายงานอ้างแหล่งข่าวใกล้ชิดกับการเจรจาว่า จีนและซาอุดีอาระเบียเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่ไม่ต้องการให้ข้อตกลง COP26 ปรากฏข้อความที่คัดค้านการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งแม้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มนักรณรงค์เคลื่อนไหว แต่ผู้สังเกตการณ์บางคนชี้ว่า นี่จะเป็นครั้งแรกที่มีการกล่าวถึงถ่านหินอย่างชัดเจนในเอกสารประเภทนี้ของสหประชาชาติ
ร่างข้อตกลงที่มีการแก้ไขเนื้อหายังขอให้รัฐบาลต่างๆ กำหนดเส้นตายที่เข้มงวดมากขึ้นในการเปิดเผยแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ กล่าวจากลอนดอนว่า ประเทศที่ร่ำรวยต้องยอมเสียเปรียบ เพื่อช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
ด้าน โทนี แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ให้สัมภาษณ์กับ Newscast ซึ่งเป็นรายการพอดแคสต์ของ BBC ว่า เป็นความรับผิดชอบของจอห์นสันที่จะต้องจัดการเรื่องนี้ให้สำเร็จเสร็จสิ้นในตอนท้าย ซึ่งเขายอมรับว่า “เป็นเรื่องยากที่จะทำ… เมื่อผู้นำทางการเมืองส่วนใหญ่ไม่อยู่ในที่ประชุมแล้ว”
อาล็อก ชาร์มา ประธานการประชุม COP26 กล่าวว่า การประชุมเต็มคณะเพื่อลงมติขั้นสุดท้ายจะจัดขึ้นในบ่ายวันเสาร์
ทั้งนี้ นอกจากเรื่องเงินอุดหนุนถ่านหินและเชื้อเพลิงฟอสซิลประเภทอื่นๆ แล้ว การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือเงินที่ประเทศร่ำรวยกว่าสัญญาว่าจะให้กับประเทศยากจนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมากที่สุดประเด็นหนึ่ง โดยเมื่อปี 2009 ประเทศที่พัฒนาแล้วให้คำมั่นที่จะให้เงิน 1 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี แก่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ภายในปี 2020 แต่จนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่บรรลุเป้าหมายดังกล่าว
นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า การจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม จะปกป้องเราจากผลกระทบที่อันตรายที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเรื่องนี้เป็นส่วนสำคัญของความตกลงปารีสที่ประเทศส่วนใหญ่ร่วมลงนาม และการที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้นั้น ประเทศต่างๆ ทั่วโลกต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 45% ภายในปี 2030 และปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050
ภาพ: Ian Forsyth / Getty Images
อ้างอิง: