×

ประชุมโลกร้อน COP25 มีอะไรน่าจับตา

03.12.2019
  • LOADING...
COP25

เปิดฉากขึ้นแล้วสำหรับการประชุมรัฐภาคีในกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 25 หรือ COP25 ที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน ซึ่งปีนี้จัดขึ้นท่ามกลางกระแสตื่นตัวเกี่ยวกับปัญหาโลกร้อนมากกว่าครั้งไหนๆ ทว่า ปีนี้ได้เกิดอุปสรรคเรื่องสถานที่จัดประชุมขึ้น เนื่องจากชิลีไม่สามารถเป็นเจ้าภาพได้ตามกำหนดการเดิม เพราะกำลังติดหล่มวิกฤตประท้วงในประเทศ 

 

การประชุมซึ่งครอบคลุมประเด็นการกำหนดมาตรการลดคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นตัวการสำคัญของภาวะเรือนกระจก จะจัดขึ้นเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 2 เรื่อยไปจนถึงวันที่ 13 ธันวาคม ท่ามกลางการจับตาของผู้คนทั่วโลกว่าจะเกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมหรือไม่ หรือเป็นเพียงการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์​สำหรับบางประเทศเหมือนที่แล้วๆ มา 

 

“โลกใกล้ถึงจุดที่ไม่อาจหวนกลับได้อีก”

คำกล่าวข้างต้นคือส่วนหนึ่งจากสารเตือนของ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) ในพิธีเปิดการประชุม COP25 ซึ่งสะท้อนความรุนแรงของวิกฤตโลกร้อนในเวลานี้ได้เป็นอย่างดี

 

ผู้นำ UN กล่าวว่า “ภายในสิ้นทศวรรษหน้า เราอาจเดินบนทางสองแพร่ง หนึ่งในนั้นคือ การเดินละเมอผ่านจุดที่ไม่อาจหวนกลับได้อีก”

 

คำถามที่น่าฉุกคิดคือ “เราต้องการเป็นที่จดจำในฐานะคนรุ่นที่ไม่ยอมรับความจริง และมัวเสียเวลากับสิ่งที่เปล่าประโยชน์ ในขณะที่โลกกำลังมอดไหม้หรือไม่?

 

กระนั้น กูเตอร์เรสกล่าวว่า สารเตือนจากเขาไม่ใช่ความสิ้นหวัง แต่เป็นความหวัง โดยหลังจากนี้มนุษย์จะต้องยุติการทำสงครามกับธรรมชาติ ซึ่งมันยัง ‘เป็นไปได้’

 

โดยอีกทางเลือกที่เหลือคือ การตั้งเป้าและไปให้ถึงจุดหมาย เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050 

 

ปัจจุบันความจำเป็นในการลดการปล่อยคาร์บอนทั่วโลกได้เพิ่มขึ้นจาก 3.3% เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เป็น 7% ซึ่งหมายถึงความท้าทายที่เพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว ขณะที่หลายประเทศยังไม่ได้ดำเนินมาตรการแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอุตสาหกรรมชั้นนำและตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ หรือ G20 ที่มีสัดส่วนการปล่อยคาร์บอนมากถึง 75% ของโลก

 

อย่างไรก็ตาม กูเตอร์เรสมองเห็นสัญญาณบวกจากเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ตื่นตัวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งการออกมารณรงค์ลดก๊าซเรือนกระจก รวมไปถึงการแบนพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง เพื่อลดปริมาณขยะในท้องทะเล

 

“มีกระแสเรียกร้องจากคนรุ่นใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ พวกเขารู้ว่า เราต้องเลือกเดินเส้นทางที่ถูกต้องในวันนี้ ไม่ใช่พรุ่งนี้ และเวที COP25 ได้มอบโอกาสนั้นกับเรา” ผู้นำ UN กล่าว

 

COP25

 

ใครร่วมงานบ้าง

การประชุมซัมมิตโลกร้อนปีนี้มีผู้นำจาก 50 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วม แต่แน่นอนว่า ขาดประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งตัวเขาได้ประกาศนำสหรัฐฯ ถอนตัวจากพันธกิจในความตกลงปารีสปี 2015 ไปก่อนหน้านี้ ทว่า แนนซี เปโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครต ได้เดินทางไปร่วมประชุมในฐานะหัวหน้าคณะสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ

 

หนึ่งในผู้นำยุโรปที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้คือ ประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส โดยผู้นำในสหภาพยุโรป (EU) มีกำหนดหารือร่วมกับนายกรัฐมนตรี เปโดร ซานเชซ ของสเปน ซึ่งเป็นเจ้าภาพซัมมิต COP25 ด้วย

 

ก่อนหน้าการประชุมจะเริ่มขึ้น รัฐสภายุโรปมีมติสำคัญในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งเรียกร้องให้ชาติสมาชิก EU ทั้งหมดดำเนินมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050 

 

นอกจากผู้นำประเทศแล้ว ยังมีผู้นำและผู้แทนราว 25,000 คน จากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคธุรกิจ แวดวงวิทยาศาสตร์ และองค์กรไม่แสวงผลกำไรใน 200 ประเทศ เดินทางมามาดริด เพื่อร่วมประชุมครั้งนี้ด้วย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ เกรตา ธันเบิร์ก นักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดน วัย 16 ปี ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนทั่วโลก

 

ประเด็นใหญ่ในการประชุม

หัวข้อสำคัญที่จะมีการหารือในเวที COP25 ที่มาดริดคือ การหาวิธีการนำความตกลงปารีส ปี 2015 ไปปฏิบัติจริงอย่างเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างกลไกซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซคาร์บอนระดับนานาชาติ การมอบเงินชดเชยแก่ประเทศต่างๆ ที่เกิดความสูญเสียจากปัญหาระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น และผลกระทบอื่นๆ จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ตลอดจนการกำหนดแผนปฏิบัติที่จำเป็น เพื่อไปสู่เป้าหมายลดโลกร้อน ซึ่งต้องหาข้อสรุปให้ได้ก่อนสิ้นปี 2020 อันเป็นปีที่ความตกลงปารีสเริ่มมีผลบังคับใช้

 

เป้าหมายสำคัญของความตกลงปารีสคือ การที่นานาประเทศช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อควบคุมไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกเพิ่มสูงเกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม หรือหากเป็นไปได้ ไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียสได้ยิ่งดี

 

งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เผยว่า ปัจจุบันโลกร้อนขึ้นเฉลี่ย 1.1 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับช่วงเริ่มการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต รวมทั้งมนุษย์ และทำให้สัตว์หลายชนิดเสี่ยงสูญพันธุ์และไร้ที่อยู่อาศัย เนื่องจากคลื่นความร้อนและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากการละลายของน้ำแข็งทั่วโลก 

 

ขณะที่ Oxfam องค์กรการกุศลเพื่อผู้ยากไร้เผยรายงานล่าสุดว่า วิกฤตสภาพอากาศแปรปรวนที่เกิดขึ้นทั่วโลก เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ประชาชนทั่วโลกต้องอพยพทิ้งถิ่นฐานจำนวนกว่า 20 ล้านคนต่อปี หรือเฉลี่ย 1 คน ในทุกๆ 2 วินาที ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

 

COP25

 

เกรตา ธันเบิร์ก

เหมือนเมื่อครั้งที่เดินทางไปร่วมประชุม UN Climate Action Summit ของสหประชาชาติว่าด้วยปัญหาโลกร้อนที่นครนิวยอร์กเมื่อเดือนกันยายน ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน เกรตา ธันเบิร์ก ได้เดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกด้วยเรือใบ โดยปฏิเสธโดยสารเครื่องบินที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ก่อมลภาวะสูง ซึ่งหลังจากที่เรือแล่นถึงลิสบอนของโปรตุเกสแล้ว ธันเบิร์กจะเดินทางต่อด้วยรถไฟหรือรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อไปร่วมประชุม COP25 ที่ศูนย์ IFEMA 

 

นอกจากแบบอย่างของธันเบิร์กในการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลแล้ว เธอยังเป็นแบบอย่างเรื่องมังสวิรัติ เพราะเธอไม่บริโภคเนื้อสัตว์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแหล่งกำเนิดคาร์บอนจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์

 

สิ่งที่เธอย้ำเตือนเสมอมาคือ รัฐบาลทั่วโลกยังดำเนินมาตรการไม่เพียงพอในการแก้ปัญหาโลกร้อน และทุกภาคส่วนควรลงมือทำอย่างจริงจัง ก่อนที่จะสายเกินแก้ ซึ่งในเวที COP25 ครั้งนี้ ผู้คนทั่วโลกต่างจับตาสปีชของธันเบิร์กเช่นเคย หลังจากที่เคยสร้างปรากฏการณ์ในเวที COP24 ที่เมืองคาโตไวซ์ ประเทศโปแลนด์ เมื่อปี 2018 มาแล้ว

 

การประชุมซัมมิต COP25 จะได้ข้อสรุปเรื่องมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกที่เป็นรูปธรรมหรือไม่ หรือเป็นเพียงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่ไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ คงต้องติดตามกันต่อไป  

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising