เมื่อวานนี้ (5 มิถุนายน) วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ THE STANDARD Daily โดยเริ่มพูดถึงนโยบายที่กระทรวงฯ กำลังผลักดันหรือกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการอยู่เกี่ยวกับเรื่องของสิ่งแวดล้อมโดยตรง
วราวุธกล่าวว่า สืบเนื่องจากวันที่ 5 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา มีการเปิดโครงการนำพลาสติกกลับบ้าน หรือโครงการเปลี่ยนพลาสติกเป็นบุญ (เมื่อคุณหมุนเวียน) และโครงการมือวิเศษ x วน
โดยโครงการเปลี่ยนพลาสติกเป็นบุญ (เมื่อคุณหมุนเวียน) เป็นโครงการที่มีความต้องการให้พี่น้องคนไทยเก็บรวบรวมพลาสติกที่บ้านที่สะสมตลอดช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา พร้อมแยกขยะพลาสติกให้ชัดเจนระหว่างขยะพลาสติกที่รีไซเคิลได้และรีไซเคิลไม่ได้ ซึ่งประชาชนสามารถส่งคืนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single-use plastics) ผ่านจุดรับคืน (Drop Point) ตามสถานที่ต่างๆ กว่า 300 จุดทั่วเขตพื้นที่ กทม. โดยขยะพลาสติกที่รวบรวมได้จะถูกนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลหรืออัพไซเคิล เพื่อใช้ประโยชน์ใหม่ ตลอดจนเพื่อสาธารณประโยชน์ต่างๆ ตลอดจนเพื่อสาธารณประโยชน์ต่างๆ เช่น นำไปผ่านกระบวนการอัพไซเคิลเป็น ‘จีวรรีไซเคิล’ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาในช่วงเข้าพรรษาปีนี้
ส่วนกรณีที่ในช่วงที่ผ่านมามีปริมาณของขยะพลาสติกเกิดขึ้นในภาวะที่ผู้คนต้อง Work from Home หรือกักตัวเพื่อป้องกันด้วยวิธีต่างๆ รวมถึงการสั่งอาหารมารับประทานที่บ้านแบบเดลิเวอรี ส่งผลให้ปริมาณพลาสติกเพิ่มขึ้นเป็นหลัก 10-20%
วราวุธระบุว่า ข้อมูลดังกล่าวคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง โดยในช่วงที่ 2-3 เดือนที่ผ่านมา ขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นถึง 15% จากประมาณวันละ 5,500 ตัน เพิ่มเป็นประมาณ 6,300-6,400 ตันต่อวัน ซึ่งเรื่องดังกล่าวนับเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง แต่ส่วนตัวเข้าใจว่าเกิดขึ้นในภาวะที่จำเป็น ทำให้ช่วงเวลาที่ประชาชนกังวลเรื่องของสุขอนามัย การใช้ถุงพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ แต่ถ้าเป็นไปได้พลาสติกจำพวกช้อน-ส้อมพลาสติก หรือซองใส่เครื่องปรุง อาจจะเป็นสิ่งที่หลายบ้านมีอยู่แล้ว ก็อาจต้องช่วยกันปฏิเสธการรับสิ่งของเหล่านี้ทุกครั้งที่มีการสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกได้ไปในตัว
ขณะเดียวกันประเด็นของหน้ากากอนามัย วราวุธได้ขอความกรุณาถึงประชาชนที่ใช้งานหน้ากากอนามัยแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ถ้าเป็นไปได้ให้เก็บใส่ถุงขยะแยกไว้อีกส่วน หรืออาจจะรวมไว้ให้ได้จำนวนหนึ่งแล้วมัดปากถึงให้มิดชิด และเขียนกำกับไว้ข้างถุงขยะนั้นว่าเป็นขยะจำพวกหน้ากากอนามัยหรือขยะติดเชื้อ เพราะวิธีการกำจัดหน้ากากนี้มีวิธีเดียวคือต้องเผาเท่านั้น และต้องเผาให้ได้อุณหภูมิที่สูงพอสมควร หรือราวๆ 1,200 องศาเซลเซียส เพื่อกำจัดเชื้อที่อาจปนเปื้อนมากับหน้ากากให้ได้
นอกจากนี้วราวุธยังได้เผยถึงกรณีของอุทยานแห่งชาติว่ามีคิวจะกลับมาเปิดให้เยี่ยมชมได้เมื่อไร “อันนี้ตอบได้ว่าเร็วๆ นี้เราจะเปิดแน่นอน แต่ว่าประมาณสัปดาห์หน้า กระทรวง ทส. จะมีคำตอบให้กับพี่น้องประชาชนว่าอุทยานทั้ง 155 แห่ง ทั้งทางบกและทางทะเลจะเปิดเมื่อไร และมีเงื่อนไขในการเปิดอย่างไร
“ในเบื้องต้นต้องบอกว่าอุทยานบางแห่งจะยังคงปิดต่อเนื่อง เช่น ในแถบพื้นที่อันดามัน จำเป็นต้องปิดจากปัญหาที่ต้องเผชิญกับฤดูมรสุม รวมถึงภูกระดึงที่ยังไม่สามารถขึ้นได้ในช่วงนี้ อีกทั้งอุทยานแห่งชาติหลายแห่งอาจจะเปิดพื้นที่ให้เข้าได้ 100% ส่วนบางแห่งอาจจะเปิดพื้นที่ได้แค่บางส่วนจากข้อจำกัดต่างๆ
“ทั้งนี้เรื่องที่ต้องชี้แจงอีกอย่างคือการขอความเห็นใจแทนเจ้าหน้าที่ของอุทยาน เพราะหลังจากนี้ New Norm ของการเที่ยวอุทยานแห่งชาติจะไม่เหมือนเดิม เช่น การเดินเข้าไปเที่ยวแบบเดิมนั้นไม่สามารถทำได้ เพราะเราจะมีการควบคุมปริมาณนักท่องเที่ยวที่เข้าไป ต้องมีการจองล่วงหน้า คล้ายกับแอปฯ ‘ไทยชนะ’ ที่ต้องมีการเช็กอิน พอปริมาณคนถึงลิมิตที่กำหนด ทางอุทยานก็จะไม่อนุญาตให้เข้าจนกว่าจำนวนผู้คนจะกลับมาอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด และถ้าในอนาคตหากพบว่ามีสัตว์ต้องเสียชีวิต ขยะเกลื่อนอุทยาน หรืออุทยานเสื่อมโทรม คงต้องมีการปิดอุทยานอีกครั้ง เพราะเราต้องการรักษาอุทยานและสัตว์ในพื้นที่ให้อยู่คู่ไปตราบนานเท่านาน”
ในช่วงท้ายของรายการ วราวุธได้เผยถึงความท้าทายในเรื่องสิ่งแวดล้อมหลังจากนี้ พบว่าการเผชิญปัญหาฝุ่น PM2.5 ยังคงเป็นโจทย์ใหญ่ที่คนในกระทรวงฯ ยังต้องเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาวิธีร่วมมือกันช่วยแก้ไขปัญหาให้ได้ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง
ส่วนอีกประเด็นคือ การเพิ่มพื้นที่ป่าสีเขียวในประเทศไทย เนื่องจากปัญหาภัยแล้งที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ เป็นวิกฤตที่ไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้มาก่อนเป็นเวลากว่า 30 ปี ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากป่าต้นน้ำ เช่น ปิง วัง ยม น่าน หรือแม่น้ำเจ้าพระยา ถูกทำลายไปแทบจะหมดเลย เพราะป่าเปรียบเสมือนโรงงานผลิตน้ำ พอโรงงานผลิตน้ำถูกทำลายไป ก็จะทำให้ไม่มีน้ำใช้ ดังนั้นความท้าทายที่ชัดเจนอีกส่วนคือการเพิ่มพื้นที่ป่า ฟื้นฟูป่าในประเทศไทยให้มากขึ้น
“โครงการปลูกป่าที่กำลังทำ เราบอกเลยว่ามีขึ้นอย่างแน่นอน เราเตรียมกล้านับ 100 ล้านต้นในปีนี้ที่จะมอบให้กับพี่น้องประชาชน และสำหรับพี่น้องประชาชนที่อาจมีความไม่สบายใจเกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากลของโครงการ เราขอเรียนว่า ในฐานะที่ผมเป็นรัฐมนตรี การปลูกป่าของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากนี้ไปจะสามารถตรวจสอบได้ว่าปลูกที่ไหนบ้าง โดยเราจะเริ่มจากป่าชุมชน ซึ่งมีอู่ประมาณ 11,200 แห่งทั่วประเทศไทย ซึ่งเราสามารถบอกได้เลยว่าพิกัดหรือในชุมชน ตำบลใดบ้าง
“ดังนั้นเราจะมีพื้นที่ที่แน่นอน และกล้าไม้ที่แน่นอนในการปลูก อีกทั้งการปลูกที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ไปจะสามารถแยกแยะได้ว่าต้นกล้าทุกต้นจะปลูกที่ไหน เพราะเราจะมี QR Code ที่สามารถแทร็กได้ว่าปลูกไปแล้วพื้นที่นั้นเป็นอย่างไร และปีต่อๆ ไปการปลูกจะเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยให้ความสบายใจกับพี่น้องประชาชนที่อาจจะมีความกังวลหรือข้อสงสัยต่อการใช้งบประมาณหรือไม่” วราวุธกล่าวทิ้งท้าย
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า