×

เปลี่ยน ‘ความกลัว’ ที่มีต่อผู้ป่วยโควิด-19 เป็น ‘การป้องกันตัว’ อย่างเข้าใจ

22.04.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • ถ้าชุมชนใดมีผู้ป่วยกลับออกจากโรงพยาบาลไป สามารถมั่นใจได้ว่า ผู้ป่วยจะไม่สามารถแพร่เชื้อให้กับคนอื่นได้ และเขายังมีภูมิคุ้มกันแล้วด้วย ดังนั้นคนที่เราต้องกลัวไม่ใช่คนที่ ‘หายป่วย’ แล้ว แต่เป็นคนที่ ‘ยังไม่เคยป่วย’ ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัวที่ออกไปทำงานนอกบ้าน เพื่อนร่วมงานที่เดินทางมาจากหลายที่ และคนที่เราเดินสวนกันในชุมชน แต่ไม่ได้เว้นระยะห่างและสวมหน้ากากผ้าต่างหาก
  • ผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศไทยมีโอกาสเสียชีวิตต่ำมากอยู่ที่ 1.7% (ข้อมูล ณ 17 เมษายน 2563) โดยเมื่อผู้ป่วยเสียชีวิตลงจะมีบรรจุในถุงห่อศพมาตรฐาน 1-2 ชั้น และผ่านการทำความสะอาดฆ่าเชื้อภายนอก เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อที่อยู่ในน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะ ของร่างผู้ตายแล้ว ดังนั้นจึงสามารถประกอบพิธีทางศาสนา และสามารถสัมผัสถุงศพภายนอก โดยสวมถุงมือได้ 
  • ถึงแม้แพทย์จะอนุญาตให้ผู้ป่วยกลับมาพักฟื้นต่อที่บ้านแล้ว แต่ความกลัวนี้ก็ยังไม่หายไป จึงอยากทำความเข้าใจว่าผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนใหญ่แพร่เชื้อผ่านละอองน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะ และบางส่วนแพร่เชื้อผ่านการหยิบจับสิ่งของ เพราะฉะนั้นเราสามารถอยู่ร่วมกับพวกเขาได้ หลังจากที่พ้นระยะกักตัวหรือกักโรคแล้ว

โรคระบาดลึกลับในเมืองอู่ฮั่นเมื่อต้นปีที่ผ่านมา จนถึงตอนนี้เรารู้แล้วว่าคือ โควิด-19 ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะแพร่เชื้อในขณะที่มีอาการ และส่วนใหญ่แพร่เชื้อผ่านละอองน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะ โดยมีระยะฟักตัว 14 วัน 

 

หมายความว่าสมมติวันนี้เป็นวันแรกที่ นาย ก. ได้รับเชื้อ นับไปอีก 1-14 วัน (พรุ่งนี้ถึง 2 สัปดาห์ข้างหน้า) นาย ก. จะมีอาการเมื่อไรก็ได้ จึงเป็นที่มาของการกักตัว 14 วัน หลังจากเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ หรือช่วงปลายเดือนมีนาคม ที่กรมควบคุมโรคเคยมีการประกาศให้ผู้ที่เดินทางกลับภูมิลำเนาจากกรุงเทพฯ ต้องกักตัวสังเกตอาการเป็นเวลา 14 วัน

 

แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะแสดงอาการช่วง 5-6 วัน (ภายใน 1 สัปดาห์) หลังจากได้รับเชื้อ โดยอาการส่วนใหญ่ ได้แก่ ไข้ ไอ เจ็บคอ มีเสมหะ เชื้อจึงอยู่ในละอองน้ำมูก น้ำลาย  หรือเสมหะ ที่ผู้ป่วยพูด ไอ หรือจาม ออกมา จึงเป็นที่มาของการเว้นระยะห่างจากผู้อื่น 2 เมตร หรือประมาณ 2 ช่วงแขน เพราะเป็นระยะที่ปลอดภัยจากละอองเหล่านั้น รวมไปถึงการสวมหน้ากากผ้า เพราะหน้ากากจะซับละอองจากเราไม่ให้กระเด็นออกไปหาผู้อื่น เหมือนไอจามปิดปากด้วยแขนเสื้อ และขณะเดียวกันหน้ากากก็ป้องกันไม่ให้เราสูดเอาละอองของผู้อื่นเข้ามาด้วย

 

จะสังเกตว่า ผมขีดเส้นใต้คำว่า ‘ส่วนใหญ่’ ไว้ เพราะธรรมชาติไม่มีความสมบูรณ์แบบ ผู้ป่วยบางส่วนสามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 2-3 วันก่อนมีอาการ เราจึงยิ่งต้องให้ความสำคัญกับการเว้นระยะห่างจากผู้อื่น ถึงแม้เขาจะไม่มีอาการผิดปกติก็ตาม และบางส่วนแพร่เชื้อผ่านการหยิบจับ เพราะละอองอาจตกอยู่ตามผิวสัมผัส เนื่องจากผู้ป่วยนำมือที่ขยี้ตา ล้วงจมูก ปิดปาก มาหยิบจับสิ่งของที่ใช้ร่วมกัน เช่น ปุ่มกด ราวบันได จึงเป็นที่มาของการล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ และการไม่นำมือมาจับใบหน้าของเราเองด้วย

 

‘มือถูสบู่-ไม่อยู่ใกล้-ใส่หน้ากาก’ จึงเป็นวิธีการป้องกันโควิด-19 ที่ทุกคนสามารถทำได้

 

แต่ถึงอย่างนั้นหลายคนก็อดรู้สึกไม่ได้ที่จะกลัวติดเชื้อจากผู้ป่วยโควิด-19

 

ความกลัวต่อผู้ที่ต้องกักตัว

ผู้ที่ต้องกักตัวสังเกตอาการเป็นเวลา 14 วัน ซึ่งอาจกักตัวที่บ้าน ศูนย์กักตัวของจังหวัด หรือสถานที่ที่รัฐบาลกำหนดให้ เช่น อาคารรับรองสัตหีบ เป็นผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ เพราะเขาอาจเป็นญาติหรือเพื่อนใกล้ชิดกับผู้ป่วยคนก่อนหน้า หรือเดินทางกลับมาจากพื้นที่ที่เกิดการระบาดของโรค 

 

หากกักตัวครบแล้ว เขาไม่มีอาการผิดปกติ ก็จะถือว่าเขาไม่ได้ติดเชื้อมาจากผู้ป่วยหรือพื้นที่เสี่ยงแต่อย่างใด แต่ถ้าเขามีไข้ ไอ เจ็บคอ หรือมีเสมหะ ก็จะได้รับการตรวจหาเชื้อก่อน ถึงจะยืนยันว่าเป็น ‘ผู้ป่วย’ เพราะอาการของโควิด-19 ในช่วงแรกเหมือนกับโรคหวัดทั่วไป

 

ส่วนความกลัวต่อสถานที่กักตัว ซึ่งประชาชนในบางพื้นที่อาจประท้วงไม่ให้นำผู้ที่ต้องกักตัวเข้ามาสังเกตอาการ รวมถึงไม่ให้นำผู้ป่วยเข้ามากักโรคหรือตั้งโรงพยาบาลสนามในชุมชน เนื่องจากกลัวว่าจะติดเชื้อจากคนกลุ่มนี้ เพราะโรคนี้เป็นโรคใหม่สำหรับทุกคน และมีการนำเสนอข่าวทุกวัน จนเกิดภาพว่า โรคนี้ ‘ติดง่าย ตายเยอะ’ แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราก็รู้จักโรคนี้มากขึ้นว่าเป็นโรคที่ติดต่อผ่านการไอ จาม ในระยะ 2 เมตร หรือสัมผัสสิ่งของต่อจากผู้ป่วย ดังนั้นถ้าเราไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่มีความเสี่ยงหรือผู้ป่วย โอกาสที่จะติดเชื้อต่อจากกันก็แทบไม่มีเลย

 

ความกลัวต่อผู้ป่วยและสิ่งแวดล้อม

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะแสดงอาการช่วง 5-6 วัน (ภายใน 1 สัปดาห์) หลังจากได้รับเชื้อ แต่อาจนานที่สุดได้ถึง 14 วัน 

 

ส่วนอาการจะแบ่งเป็น 80-15-5 คือ 

 

  • 80% เป็นผู้ป่วยอาการน้อยหรือไม่แสดงอาการ 
  • 15% เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 
  • 5% เป็นผู้ป่วยวิกฤต 

 

ด้วยระยะฟักตัวที่ยาว และผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง จึงทำให้ผู้ป่วย 1 ราย มีระยะเวลาในการแพร่เชื้อได้นานหลายวันกว่าจะไปพบแพทย์และถูกแยกโรคที่โรงพยาบาล ต่างจากโรคซาร์สเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่มีอาการหนัก ทำให้ผู้ป่วยต้องไปพบแพทย์ตั้งแต่ช่วงแรก จึงไม่แพร่ระบาดเป็นวงกว้าง

 

ผู้ป่วยจะหยุดแพร่เชื้อตั้งแต่ถูกกักโรคในโรงพยาบาล ส่วนเชื้อที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมมีงานวิจัยพบว่า อยู่ในสิ่งแวดล้อมได้ไม่เกิน 7 วัน คือ 1 วัน สำหรับกระดาษ, 2 วัน สำหรับเสื้อผ้า และ 3-7 วัน สำหรับโลหะและพลาสติก แต่เป็นงานวิจัยในสภาพอากาศเย็น สำหรับประเทศไทยเชื้อจึงควรมีอายุสั้นกว่านี้

 

แต่จุดตัดว่าสถานที่นั้นจะเป็นแหล่งแพร่เชื้ออยู่หรือไม่คือ การทำความสะอาดทั้งบ้านหรือห้องพัก สถานที่ทำงาน โดยการเช็ดถูด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ 70%, น้ำยาฟอกขาว (ไฮเตอร์) 1 ใน 100 ส่วน หรือเดทตอล และเปิดให้อากาศถ่ายเท หลังจากนั้นสถานที่นั้นก็จะถือว่าเป็น ‘พื้นที่สะอาด’ แล้ว 

 

ส่วนพื้นที่หรือสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน เช่น รถโดยสาร สถานีขนส่ง ตลาด ซูเปอร์มาร์เก็ต ควรมีการทำความสะอาดเป็นประจำทุกวัน ส่วนบริเวณที่มีคนสัมผัสจำนวนมาก เช่น ปุ่มกด ราวบันได ควรเพิ่มความถี่เป็นอย่างน้อยทุก 2 ชั่วโมง

 

ความกลัวต่อผู้ป่วยหลังจากออกโรงพยาบาล

ความกลัวจะเกิดขึ้นอีกครั้งในวันที่ผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล ตามแนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในปัจจุบัน (ฉบับวันที่ 8 เมษายน 2563) ผู้ป่วยจะต้องพักสังเกตอาการที่โรงพยาบาลอย่างน้อย 2-7 วัน และย้ายไปสังเกตอาการต่อที่โรงพยาบาลสนาม (Designated Hospital) หรือโรงแรมพยาบาล (Hospitel) อีกอย่างน้อย 14 วัน นับจากวันเริ่มป่วย ดังนั้นผู้ป่วยจะกลับมาบ้านเร็วที่สุดคือ 2 สัปดาห์ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ผู้ป่วยจะไม่มีภาวะแทรกซ้อนและไม่แพร่เชื้อแล้ว แต่แพทย์ก็จะให้ผู้ป่วยพักฟื้นที่บ้านจนครบ 1 เดือน เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยจะไม่มีเชื้ออยู่ในร่างกาย

 

ถ้าชุมชุนใดมีผู้ป่วยกลับออกจากโรงพยาบาลไป สามารถมั่นใจได้ว่า ผู้ป่วยจะไม่สามารถแพร่เชื้อให้กับคนอื่นได้ และเขายังมีภูมิคุ้มกันแล้วด้วย ซึ่งโดยปกติร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันต่อไปอีกระยะหนึ่ง ทำให้เขาไม่สามารถติดเชื้อซ้ำได้ หากชุมชนใดมีผู้ที่มีภูมิคุ้มกันเยอะ โอกาสที่จะเกิดการแพร่ระบาดในชุมชนก็จะลดลง 

 

ดังนั้น คนที่เราต้องกลัวไม่ใช่คนที่ ‘หายป่วย’ แล้ว แต่เป็นคนที่ ‘ยังไม่เคยป่วย’ ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัวที่ออกไปทำงานนอกบ้าน เพื่อนร่วมงานที่เดินทางมาจากหลายที่ และคนที่เราเดินสวนกันในชุมชน แต่ไม่ได้เว้นระยะห่างและสวมหน้ากากอนามัยต่างหาก

 

ความกลัวต่อผู้ป่วยที่เสียชีวิต

ผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศไทยมีโอกาสเสียชีวิตต่ำมากอยู่ที่ 1.7% (ข้อมูล ณ 17 เมษายน 2563) โดยเมื่อผู้ป่วยเสียชีวิตลง จะมีบรรจุในถุงห่อศพมาตรฐาน 1-2 ชั้น และผ่านการทำความสะอาดฆ่าเชื้อภายนอก เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อที่อยู่ในน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะ ของร่างผู้ตายแล้ว ดังนั้นจึงสามารถประกอบพิธีทางศาสนา และสามารถสัมผัสถุงศพภายนอก โดยสวมถุงมือได้ 

 

ส่วนการจัดการศพสามารถเผาหรือการฝังได้ตามประเพณี เพียงแต่จะไม่เปิดถุงบรรจุศพออก เพื่อรดน้ำศพ ทำความสะอาด เปลี่ยนเสื้อผ้า หรือฉีดน้ำยารักษาสภาพศพ

 

เพราะฉะนั้นญาติสามารถเข้าร่วมพิธีศพโดยไม่ต้องกลัวว่าจะติดเชื้อจากผู้ตาย แต่จะต้องระวังไม่ให้ติดเชื้อจากผู้ที่ไปร่วมงานแทน โลงเย็นสามารถนำมาทำความสะอาดและใช้ใหม่ได้ ส่วนการเก็บเถ้ากระดูกก็สามารถทำได้ตามปกติเช่นกัน เพราะเชื้อจะถูกทำลายที่อุณหภูมิสูงแล้ว

 

การป้องกันตัวอย่างเข้าใจ

เมื่อได้ยินว่ามีผู้ป่วยโควิด-19 ในชุมชนที่เราอาศัยอยู่ ความรู้สึกแรกของเราคือ ความกลัว กลัวว่าจะติดเชื้อจากผู้ป่วยและญาติใกล้ชิด กลายเป็นความรังเกียจและขับไล่คนกลุ่มนี้ออกจากที่พัก (ไม่มีที่อยู่) ที่ทำงาน (ไม่มีรายได้) และชุมชน (ไม่มีผู้ให้ความช่วยเหลือ) 

 

ถึงแม้แพทย์จะอนุญาตให้ผู้ป่วยกลับมาพักฟื้นต่อที่บ้านแล้ว แต่ความกลัวนี้ก็ยังไม่หายไป ผมจึงอยากทำความเข้าใจว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนใหญ่แพร่เชื้อผ่านละอองน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะ และบางส่วนแพร่เชื้อผ่านการหยิบจับสิ่งของ เพราะฉะนั้นเราสามารถอยู่ร่วมกับพวกเขาได้หลังจากที่พ้นระยะกักตัวหรือกักโรคแล้ว

 

แต่ไม่ถึงกับตาม ‘ปกติ’ ที่เราคุ้นเคยกันอยู่เดิม

 

ทว่า เป็นตาม ‘ความปกติใหม่’ ซึ่งได้แก่ การล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ การเว้นระยะห่างจากผู้อื่น 2 เมตร และการสวมหน้ากากผ้าก่อนออกจากบ้าน หรือที่ผมสรุปเป็นคำคล้องจองว่า ‘มือถูสบู่-ไม่อยู่ใกล้-ใส่หน้ากาก’ โดยทำให้ติดเป็นนิสัย และไม่สนใจว่าเขาจะเป็นผู้ป่วย ผู้ที่มีความเสี่ยง ผู้ที่หายป่วยแล้ว หรือผู้ที่น่าจะดูแลตนเองเป็นอย่างดี (เลยไม่ต้องป้องกันตัวเอง) ซึ่งเราจะต้องใช้ชีวิตเช่นนี้ไปอีกสักพักใหญ่ อย่างน้อยจนกว่าจะมีวัคซีนป้องกันเชื้อฉีดให้กับทุกคน ถึงตอนนั้นเราก็อาจคุ้นชินกับสุขอนามัย 3 อย่างนี้แล้วก็ได้

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X