×

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคสุ่มตรวจพบ ‘อกไก่-ตับไก่’ กว่าร้อยละ 40 มีการตกค้างของยาปฏิชีวนะ

19.07.2018
  • LOADING...

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ร่วมมือกับเครือข่ายผู้บริโภคกรุงเทพมหานครและปริมณฑล แถลงข่าวผลทดสอบ ‘การตกค้างจากยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) ในเนื้ออกไก่และตับไก่สด’

 

โดยสุ่มเก็บตัวอย่างจากห้างสรรพสินค้า ตลาดสด และห้างออนไลน์ ระหว่างวันที่ 9-15 มิถุนายน 2561 จำนวนทั้งสิ้น 62 ตัวอย่าง แบ่งเป็นอกไก่สดจำนวน 32 ตัวอย่าง และตับไก่สดจำนวน 30 ตัวอย่าง เพื่อนำมาตรวจวิเคราะห์หาการตกค้างของยาปฏิชีวนะ 3 ชนิดจาก 3 กลุ่มคือ

 

กลุ่มที่ 1 กลุ่มฟลูออโรควิโนโลน คือ เอนโรฟลอคซาซิน  
กลุ่มที่ 2 กลุ่มเตตราไซคลิน คือ ด็อกซีไซคลิน
กลุ่มที่ 3 กลุ่มเบตา-แลคแทม คือ อะม็อกซีซิลลิน

 

ผลการตรวจวิเคราะห์การตกค้างของยาปฏิชีวนะทั้ง 3 ชนิด พบการตกค้างของยาปฏิชีวนะ 26 ตัวอย่าง หรือคิดเป็นร้อยละ 41.93

 

โดยพบ 5 ตัวอย่างตกมาตรฐานการใช้ยาปฏิชีวนะชนิดเอนโรฟลอคซาซิน (Enrofloxacin) เนื่องจากเป็นยาที่นอกเหนือบัญชีแนบท้ายประกาศ ซึ่งสามารถใช้ได้ แต่ต้องไม่พบการตกค้างของยาดังกล่าว

 

อีก 21 ตัวอย่างพบการปนเปื้อนของยาด็อกซีไซคลิน (Doxycycline) แต่ไม่ตกมาตรฐานและตรวจไม่พบยาปฏิชีวนะชนิดอะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin) ส่วนอีก 36 ตัวอย่างนั้นตรวจไม่พบยาปฏิชีวนะทั้ง 3 กลุ่ม

 

ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวว่ายาปฏิชีวนะที่ใช้ในสัตว์มีอันตรายทั้งต่อมนุษย์และสัตว์ คือการดื้อยา การแพ้ยา และอาการไม่พึงประสงค์อื่นๆ

 

ส่วนอันตรายของยาด็อกซีไซคลินจะทำให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ เช่น อาจทำให้ฟันมีสีคล้ำ สามารถพบเห็นในเด็กมากกว่าในผู้ใหญ่ มีอาการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร มีผื่นคันบริเวณผิวหนัง

 

และอันตรายของยาเอนโรฟลอคซาซินอาจทำให้เกิดอาการอาเจียนหรือท้องเสีย ทั้งนี้หากใช้ยาตัวนี้สูงกว่าขนาดที่แนะนำ 10 เท่า อาจทำให้กระดูกอ่อนตามข้อต่อต่างๆ เกิดความเสียหาย และอันตรายของยาอะม็อกซีซิลลินจะทำให้เกิดผื่นคัน ลมพิษ หรือมีอาการหอบหืด หากพบอาการหายใจมีเสียงหวีด (อาการของหอบหืด) หลังใช้ยา ควรต้องหยุดใช้ยาทันทีและรีบพบแพทย์หรือไปโรงพยาบาล

 

“ทุกวันนี้เรามีการใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาโรค ทำให้เรามีโอกาสที่จะได้รับยาดังกล่าวอยู่แล้ว และหากเรารับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนบ่อยๆ ก็อาจทำเราได้รับยาปฏิชีวนะในปริมาณที่มากเกินไป ซึ่งการได้รับยาดังกล่าวในปริมาณมากและบ่อยครั้งจะส่งผลให้เกิดอาการดื้อยา และจำเป็นต้องใช้เชื้อที่แรงขึ้นเรื่อยๆ จนสุดท้ายอาจไม่มีตัวยาใดมารักษาได้เลย” ผศ.ภญ.ดร.นิยดากล่าว

 

นอกจากนี้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเสนอว่าให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาต้องปรับปรุงมาตรฐานการตกค้างให้ยอมรับได้น้อยที่สุด และต้องเข้มงวดและติดตามการใช้ยาปฏิชีวนะไม่ให้ตกค้างเกินกำหนด เพราะส่วนมากตอนนี้ยังมีฟาร์มเลี้ยงไก่ใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อเร่งการเจริญเติบโตและรักษาโรคของไก่ในปริมาณมาก ส่วนที่นำไปประกอบอาหารแล้วจะส่งผลต่อผู้บริโภคหรือไม่ ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ

 

Photo: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X