ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคไทย (Consumer Confidence Index – CCI) ลดลงต่อเนื่อง 8 เดือน แตะระดับ 70.7 ต่ำสุดในรอบ 65 เดือน
จากผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนตุลาคม 2562 พบว่าแม้รัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมามากขึ้น แต่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทุกรายการ (ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันและดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคต) ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8
สาเหตุเพราะผู้บริโภคมีความกังวลกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้าและกำลังซื้อของประชาชนยังไม่ฟื้นตัว รวมถึงความไม่แน่นอนจากปัจจัยต่างประเทศ เช่น สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน (Trade War) การที่อังกฤษจะออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) รวมถึงสหรัฐฯ ประกาศตัดสิทธิ GSP ของสินค้าไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯ 573 รายการ
อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคไทย (CCI) ในเดือนตุลาคมถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 65 เดือน (นับจากเดือนมิถุนายน 2559) ซึ่งเมื่อดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงต่ำกว่า 100 แสดงว่าผู้บริโภคยังมองว่าเศรษฐกิจไทยไม่ฟื้นตัวมากนัก คนมีความกังวลทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ผู้บริโภคยังระมัดระวังการใช้จ่ายไปถึงสิ้นปีเป็นอย่างน้อย จึงส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต ดังนั้นรัฐบาลควรดำเนินนโยบายการเงินและการคลังผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง
ด้านดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับโอกาสหางานทำปรับตัวลดลงเช่นกัน โดยเดือนตุลาคมอยู่ที่ 67.0 รวมถึงโอกาสการทำงานแย่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 42.3% แสดงว่าผู้บริโภคยังขาดความเชื่อมั่นเกี่ยวกับภาวะการจ้างงานโดยรวม เห็นว่าโอกาสการหางานทำจะไม่ดีตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำในอนาคต (ใน 6 เดือนข้างหน้า) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ถือว่าต่ำสุดในรอบ 34 เดือน (นับจากเดือนมกราคม 2560) โดยเดือนตุลาคมอยู่ที่ 81.8 ซึ่งเมื่อดัชนีทรงตัวอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับภาวะการจ้างงานในอนาคตตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์