×

มติที่ประชุมร่วมฯ ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยขอบเขตอำนาจของรัฐสภา

โดย THE STANDARD TEAM
29.03.2024
  • LOADING...
มติที่ประชุมร่วมฯ ส่ง ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยขอบเขตอำนาจของ รัฐสภา

วันนี้ (29 มีนาคม) ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 2) เริ่มเวลา 09.30 น. มี วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา และ พรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา เป็นประธานที่ประชุม เพื่อพิจารณาญัตติข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ปี 2563 ข้อ 31 ให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) โดยมี ชูศักดิ์ ศิรินิล สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และคณะ เป็นผู้เสนอ 

 

ชูศักดิ์กล่าวว่า ตนเองและคณะจำนวน 123 คน ได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 256 (1) และ (2) เสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยจัดทำเป็นร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ พ.ศ. …. โดยมีหลักการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มเติมหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 

 

เนื่องจากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ทำหนังสือแจ้งถึงตนว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีหลักการในการเพิ่มเติมหมวด 15/1 จึงถือเป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเก่า โดยไม่ใช่การแก้ไขเพิ่มเติม จึงทำให้ไม่สามารถบรรจุเข้าในระเบียบวาระการประชุมได้ ซึ่งขัดแย้งกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2564 

 

ทั้งที่คำวินิจฉัยมีผลผูกพันกับทุกองค์กรรวมถึงรัฐสภา ด้วยเหตุนี้จึงขอเสนอญัตติเพื่อให้มีการพิจารณาในเรื่องนี้ต่อไป และขอยืนยันว่าสิ่งที่เสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ไม่ใช่การยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเก่า เพราะกฎหมายระบุไว้ว่า หากรัฐสภาต้องการจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องให้ประชาชนออกเสียงประชามติเห็นชอบเสียก่อนว่าประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเห็นชอบกับร่างดังกล่าวหรือไม่ ถึงจะสามารถส่งให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้ได้ จึงสะท้อนว่าญัตติที่พรรคเพื่อไทยเสนอมาไม่ได้ขัดแย้งกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

 

ไอติมหนักใจ เหมือนยื่นดาบให้ศาล รธน.

 

พริษฐ์ วัชรสินธุ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ตนเองรู้สึกหนักใจที่ในวันนี้รัฐสภาจะต้องมานั่งพิจารณาญัตติส่งเรื่องดังกล่าวกลับไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เนื่องจากทุกครั้งที่รัฐสภาส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เหมือนเรากำลังยื่นดาบให้แก่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากบุคคลที่ไม่ได้รับการสนับสนุนให้มีการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เข้ามามีอำนาจสามารถชี้ขาดได้ว่ารัฐสภาแห่งนี้ทำอะไรได้ และทำอะไรไม่ได้ 

 

พริษฐ์กล่าวอีกว่า หากเราเดินตามกระบวนการประชาธิปไตย และตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด ในวันนี้รัฐสภาจะไม่ต้องใช้เวลาในการพิจารณาญัตตินี้ โดยมีสาเหตุมาจากการที่ประธานรัฐสภาไม่บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยและร่างของพรรคก้าวไกลด้วยการทำประชามติ 2 ครั้ง โดยมีการกล่าวอ้างว่าร่างดังกล่าวนั้นขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 

 

อย่างไรก็ตาม เข้าใจดีว่าประธานรัฐสภาอาจจะตีความคำว่า ‘เสียก่อน’ ต่างกัน ทำให้เข้าใจว่าต้องทำประชามติเสียก่อน 1 ครั้ง จึงจะสามารถจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ดังนั้นขอให้ประธานรัฐสภาพิจารณาใหม่ เพื่อบรรจุทั้ง 2 ร่าง และให้กระบวนการต่างๆ เดินไปข้างหน้าต่อได้

 

พริษฐ์กล่าวต่อว่า ตนเองเห็นว่าการตัดสินของประธานรัฐสภานั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ร่างนั้นมีหลักการที่สอดคล้องกัน โดยไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด พร้อมทั้งเชื่อว่าหากในวันนี้รัฐสภามีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ก็เชื่อว่าผลวินิจฉัยจะเหมือนเดิม 

 

เสนอแก้ รธน. รายมาตราทำได้ทันที  

 

เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวอภิปรายว่า พรรครวมไทยสร้างชาติทุกคนเห็นด้วยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรเริ่มต้นด้วยการทำประชามติ ส่วนตัวแล้วไม่ได้ติดใจว่าจะทำประชามติก่อนหรือหลัง โดยน้อมรับทุกคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งอยากจะเตือนสติว่า หากจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับนั้น นอกจากจะใช้เวลามากแล้ว ยังสิ้นเปลืองงบประมาณจำนวนมากด้วยเช่นกัน 

 

เอกนัฏกล่าวว่า เพราะทุกครั้งที่มีการทำประชามติต้องใช้งบประมาณถึง 3,250 ล้านบาท หากเราทำประชามติจำนวน 3 ครั้ง โดยจะมีการใช้งบประมาณมากเกือบ 10,000 ล้านบาท หากเรากลับมาทบทวนว่าจริงๆ แล้วไม่จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ก็มีสิ่งดีๆ ที่เราควรต้องรักษาไว้ หากเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาก็สามารถดำเนินการแก้ไขทันที โดยไม่จำเป็นต้องทำประชามติเพื่อเสียงบประมาณด้วยซ้ำ 

 

เอกนัฏอีกกล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่เรากำลังใช้กันอยู่เกิดขึ้นจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกตั้งขึ้นใหม่ เป็นบุคคลที่มีประสบการณ์และมีความรู้ความสามารถ รวมถึงมีอิสระจากการเมือง และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ผ่านการทำประชามติจากประชาชนคนไทยทั่วประเทศ และได้รับการโหวตเห็นชอบกว่า 5 ล้านเสียง มากกว่า 58% 

 

เอกนัฏกล่าวด้วยว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันถูกกล่าวหาว่าเป็นวาทกรรมจากผลพวงการทำรัฐประหาร ซึ่งไม่ใช่ความเป็นจริง โดยเฉพาะคำถามพ่วงที่ให้สมาชิกวุฒิสภาสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ก็ไม่ใช่ผลพวงจากการทำรัฐประหาร แต่เป็นทำการประชามติ

 

“หากเราคิดที่จะเดินหน้าประเทศ ไม่จมกับวาทกรรมเผด็จการ-ประชาธิปไตย อยากจะแก้ก็สามารถแก้เป็นรายมาตรา สามารถทำได้ทันที ทำได้โดย สส. ที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้ระบบการปกครองประชาธิปไตย” เอกนัฏกล่าว 

 

ชี้ที่ประชุมร่วมฯ ไม่ควรต้องลงมติ

 

ขณะที่ พล.อ.ต. เฉลิมชัย เครืองาม สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า การประชุมร่วมสภาในวันนี้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 156 ระบุไว้ชัดเจนแล้วว่า การประชุมร่วมรัฐสภาไม่สามารถพิจารณาในเรื่องนี้ จึงขอให้ประธานสภาเป็นผู้วินิจฉัยใหม่ โดยเรื่องดังกล่าวนี้เป็นความขัดแย้งระหว่างประธานรัฐสภา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และผู้เสนอร่าง ตนเองจึงเห็นว่าไม่ควรนำเรื่องนี้เข้ามาให้รัฐสภาร่วมลงมติเพื่อส่งคำถามไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย

 

พล.อ.ต. เฉลิมชัย ระบุว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 ปัญหานั้นเกิดขึ้นกับหน่วยงานใดให้หน่วยงานนั้นเป็นผู้ร้อง ซึ่งในกรณีนี้คู่กรณีคือ ชูศักดิ์และคณะ กับประธานรัฐสภา และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่ต้องยื่นหนังสือต่อยังไปศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย หรืออีกช่องทางคือ ประธานรัฐสภาควรที่จะบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ามาในรัฐสภา ให้มีการอภิปราย และหากเกิดปัญหาขึ้นให้ส่งเรื่องดังกล่าวไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สุดท้ายแล้วเราทุกคนจะได้คำตอบว่าควรที่จะทำประชามติกี่ครั้ง 

 

พล.อ.ต. เฉลิมชัย ยังเสนออีกว่า ให้มีการตั้งคำถามเพิ่มว่าการทำประชามติควรทำอย่างไรให้ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 166 ที่ระบุว่า การทำประชามติต้องไม่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ เพราะจะทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกมาก เพราะการทำประชามตินั้นทำด้วยวิธีใดก็ถือเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญระบุว่า ไม่ให้ทำประชามติที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ โดยที่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับจึงเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญนั่นเอง

 

ผู้นำฝ่ายค้านชี้ “ปัญหาที่เราไม่เข้าใจตัวเองว่ามีอำนาจ”

 

ขณะที่ ชัยธวัช ตุลาธน สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวว่า การพิจารณาญัตติในวันนี้เป็นปัญหาที่ตัวเราเองไม่เข้าใจปัญหาตัวเองว่าเรามีอำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหรือไม่ พวกเราในฐานะที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติเข้าใจถึงความตั้งใจของผู้เสนอญัตติ และยืนยันว่าเราไม่ปรารถนาที่จะขัดขวางญัตติแต่อย่างใด แต่ขอสงวนความคิดเห็นไว้ต่อที่ประชุม 

 

  1. เราเห็นว่าการที่ประธานรัฐสภาไม่บรรจุวาระร่างดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภานั้น เป็นการใช้ดุลยพินิจที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับของการประชุมรัฐสภา รวมถึงไม่ได้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 4/2565 ตามที่มีการกล่าวอ้าง 

 

  1. ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ พวกเราในฐานะสมาชิกรัฐสภาไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องส่งร่างดังกล่าวนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยมองว่าเรามีอำนาจที่จะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่บัญญัติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้

 

ชัยธวัชกล่าวว่า รัฐสภาไม่จำเป็นต้องถามหรือขออนุญาตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ในสิ่งที่พวกเราในฐานะฝ่ายนิติบัญญัตินั้นมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนอยู่แล้ว ซึ่งการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้นยังสุ่มเสี่ยงที่จะไปเปิดช่องสนับสนุนให้ศาลรัฐธรรมนูญขยายอำนาจของตนเองจนเสียสมดุลระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับศาลรัฐธรรมนูญมากขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย 

 

ชัยธวัชกล่าวอีกว่า พรรคก้าวไกลเราเห็นด้วยทุกข้อเสนอ ทุกข้อโต้แย้งของผู้เสนอญัตติ ที่ยืนยันว่าการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นยังไม่ใช่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมได้ผ่านการเห็นชอบของรัฐสภาในวาระที่ 3 รวมถึงผ่านการทำประชามติของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ด้วย ซึ่งการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่มีบทบัญญัติใดๆ ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และเป็นไปตามข้อบังคับของการประชุมในรัฐสภาทุกประการ

 

ประธานสภาแจง

 

วันมูหะมัดนอร์ ในฐานะประธานรัฐสภา ได้ชี้แจงเหตุผลที่สภาไม่บรรจุร่างรัฐธรรมนูญที่ชูศักดิ์เสนอมาว่า เป็นการแก้ไขเดียวกันกับร่างของ สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ และคณะ ที่เสนอมาเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2564 อีกทั้ง ชวน หลีกภัย อดีตประธานรัฐสภา อภิปรายว่าไม่สามารถบรรจุได้ เนื่องจากขัดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนร่างของชูศักดิ์ขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเช่นกัน

 

แม้เราไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่คำวินิจฉัยผูกพันทุกองค์กร ในฐานะประธานรัฐสภาได้ตรวจสอบแล้วว่าไม่สามารถบรรจุได้ ความเห็นไม่ตรงกันเป็นเรื่องธรรมดา แม้แต่ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลก็มีความเห็นไม่ตรงกัน ความสำเร็จของรัฐธรรมนูญที่ต้องการแก้ไขทั้งหมดเป็นเรื่องของประชาชน ด้วยความเคารพต่อสมาชิกรัฐสภา ตนได้ทำหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดและข้อบังคับแล้ว ต่อไปเป็นหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาที่ท่านจะต้องวินิจฉัยต่อไปว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ เป็นความชัดเจนที่จะเดินไปข้างหน้า ไปแล้วไม่ล้ม ไปแล้วไม่เสียของ ไม่เสียงบประมาณ ไม่เสียเวลาของประชาชน

 

ชวน หลีกภัย สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมในฐานะอดีตประธานรัฐสภาว่า มีการเอ่ยถึงมติสมัยที่แล้ว รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สมพงษ์กับคณะเป็นผู้เสนอ เป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมให้มีหมวด 15/1 มีผลยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ใช่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ตนเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ถ้าให้สมาชิกและประชาชนได้เข้าใจข้อความทั้งหมด 

 

นอกจากนี้ยังมี สว. คนอื่นๆ เช่น วันชัย สอนศิริ และ สมชาย แสวงการ ได้ร่วมกันอภิปรายถึงการเสนอร่างแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ด้วย แต่สุดท้ายที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบ 233 เสียง ไม่เห็นชอบ 103 เสียง และงดออกเสียง 170 เสียง จึงถือว่าที่ประชุมมีมติให้รัฐสภาส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising