วานนี้ (11 ธันวาคม) ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดีที่ วัฒนา ชมเชย ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ว่า อิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต., ณัฏฐกร คงเดชา ผู้อำนวยการสำนักงาน กกต. ประจำจังหวัดราชบุรี, วัชรชัย สมีรักษ์ ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอ อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ใช้ดุลพินิจโดยมิชอบในการรับสมัครผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.)
นอกจากนี้การที่ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ใช้กลไกของกระทรวงมหาดไทยทำให้การได้มาซึ่ง สว. มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ไม่ชอบด้วยกฎหมายและมาตรฐานจริยธรรม ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรคสอง, มาตรา 4, มาตรา 5, มาตรา 26, มาตรา 50 (7) และ (10), มาตรา 107 วรรคสอง, มาตรา 108 ก. คุณสมบัติ (3) และมาตรา 21 วรรคสอง
ทั้งนี้ ยังมีคำร้องอีก 6 คำร้องที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ด้วย ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า คดีทั้ง 7 คำร้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินการจัดการเลือก สว. ของ กกต. และขอให้ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายเกี่ยวกับการเลือก สว. เป็นกรณีตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 47 (2) ที่บัญญัติว่า “การใช้สิทธิยื่นคำร้องตามมาตรา 46…ต้องมิใช่เป็นกรณีอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้…(2) รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้กำหนดกระบวนการร้องหรือผู้มีสิทธิขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยไว้เป็นการเฉพาะแล้ว” ซึ่งมาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ดังนั้นผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213
สำหรับกรณีผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 48 โดยยื่นคำร้องผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญมาตรา 231 (1) ซึ่งมิใช่การยื่นคำร้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 กรณีไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 46 ประกอบมาตรา 48
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ มีคำสั่งไม่รับทั้ง 7 คำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย