ภายในวันนี้ (22 กรกฎาคม) เป็นครั้งที่ 2 แล้ว ซึ่งการประชุมลับของวุฒิสภาจะตัดสินว่า ประเทศไทยจะมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 คนใหม่มาแทนตำแหน่งที่ว่างเนื่องจากพ้นวาระหรือไม่ ซึ่งมีความเป็นไปได้หลายทาง วุฒิสภาอาจเห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้ง 2 คน หรือเห็นชอบเพียงคนใดคนหนึ่ง จนกระทั่งไม่เห็นชอบกับทุกรายชื่อ เหมือนคราวที่ ศ.ดร.ศิริพรรณ นกสวน สวัสดี และ ชาตรี อรรจนานันท์ ถูกตีตกทั้งคู่
กว่าจะมาถึงขั้นตอนที่วุฒิสภาจะลงมติ ทั้ง 2 รายชื่อสุดท้ายต้องผ่านขั้นตอนการสรรหา คัดเลือก และตรวจสอบคุณสมบัติอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการพิจารณาของคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ประกอบด้วยบุคคลจากหลายตำแหน่งสำคัญ
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
สามารถย้อนอ่านกระบวนการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 คนก่อนหน้าได้ที่ รู้จัก 2 ตัวเต็งเก้าอี้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ พวกเขาคือใครและมีวิสัยทัศน์อะไร
เมื่อ 18 มีนาคม ที่ผ่านมา บรรดาสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เสียงส่วนใหญ่ลงมติไม่เห็นชอบให้ทั้งสิริพรรณและชาตรีดำรงตำแหน่ง ทำให้ต้องเริ่มต้นกระบวนการเปิดรับสมัคร และสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่อีกครั้ง โดยมีผู้แสดงความประสงค์ลงสมัครจำนวนไม่น้อย รวมถึงบุคคลซึ่งเป็นที่สนใจของสังคม เช่น ศ.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ รื่นวดี สุวรรณมงคล อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นต้น
ในท้ายที่สุด คณะกรรมการสรรหาฯ ได้ตรวจสอบประวัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครแต่ละคน ก่อนจะลงมติจนได้ข้อสรุปเป็น 2 รายชื่อ จาก 2 กลุ่มอาชีพของผู้สมัคร คือ ศ. ร.ต.อ. สุธรรม เชื้อประกอบกิจ และ สราวุธ ทรงศิวิไล เพื่อเสนอเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา
โดยในการคัดเลือกรอบสุดท้าย ผู้สมัครจะต้องแสดงความคิดเห็นหรือสัมภาษณ์ต่อคณะกรรมการสรรหาฯ และต้องได้รับคะแนนเสียงถึง 2 ใน 3 ของจำนวนคณะกรรมการสรรหาฯ ที่มีทั้งหมดด้วย
ทั้งนี้ บันทึกการแสดงวิสัยทัศน์และการสัมภาษณ์ผู้ได้รับการเสนอชื่อของคณะกรรมการสรรหาฯ ถูกบันทึกและเผยแพร่ในรายงานการพิจารณาสรรหาบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่ (แทนตำแหน่งที่ว่าง) ของคณะกรรมการสรรหาฯ จัดทำโดยสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่หน่วยธุรการของคณะกรรมการสรรหาฯ
ศาสตราจารย์ ร.ต.อ. สุธรรม เชื้อประกอบกิจ
สำหรับ ศ. ร.ต.อ. สุธรรม เชื้อประกอบกิจ เป็นรองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อดีตยังเคยเป็นผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า กระทรวงพาณิชย์ ช่วงปี 2559-2560 และเคยเป็นศาสตราจารย์ สาขากระบวนการยุติธรรม ที่มหาวิทยาลัยเคนนีซอร์สเตท สหรัฐอเมริกา โดยได้รับการคัดเลือกจากกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ ซึ่งดำรงตำแหน่ง หรือเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี และยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์
สราวุธ ทรงศิวิไล
ด้าน สราวุธ ทรงศิวิไล เป็นอธิบดีกรมทางหลวง ที่ผ่านมาเคยดำรงหลายตำแหน่งด้านการคมนาคม เช่น อธิบดีกรมการขนส่งทางราง, ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร รวมถึงโฆษกกระทรวงคมนาคม ช่วงปี 2560-2561 อีกด้วย โดยได้รับการคัดเลือกจากกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิที่รับหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า หรือตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
ยกประสบการณ์ส่วนตัว ย้ำเทิดทูนสถาบันฯ
สุธรรมได้แสดงวิสัยทัศน์ โดยระบุว่า ในภาพรวมรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีเป้าหมายเน้นไปใน 3 ด้าน ประกอบด้วย
- การรักษาความสมบูรณ์ของรัฐธรรมนูญ
- การพิทักษ์ปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
- การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
สุธรรมกล่าวว่า หากได้รับตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะใช้ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ เพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้บรรลุเป้าหมาย โดยจะมีความเป็นกลาง มีความกล้าหาญในการตัดสินใจ และรับผิดชอบ พร้อมยกตัวอย่างความกล้าหาญของตนเองในการเปลี่ยนแปลงวิชาชีพมากมาย จากตำรวจเป็นอาจารย์ จากอาจารย์สู่ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า
“หากผมได้รับการสรรหาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผมจะปฏิบัติหน้าที่ อย่างเต็มที่และเต็มความสามารถ กระผมจบจากโรงเรียนนายร้อยตํารวจ รุ่นที่ 39 จบโรงเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 23 ในระหว่างนี้ผมได้มีการอบรมเรื่องการรักสถาบันชาติและพระมหากษัตริย์โดยตลอด ซึ่งผมเคารพเทิดทูนตลอด และจะเคารพเทิดทูนตลอดไป” สุธรรมกล่าว
สุธรรมยังกล่าวถึงประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยเผชิญความท้าทาย และช่วงเวลาที่รู้สึกท้อแท้ จะนึกถึงบุคคลสำคัญคือคุณแม่ ที่ตรากตรำขายสับปะรดมาตั้งแต่ตนเองเป็นเด็ก
“ตอนที่ผมท้อแท้ไม่ไหวมากๆ ผมเปิดดูคลิปของในหลวงรัชกาลที่ 9 ตอนท่านเสด็จประพาสไปที่ต่างๆ ไม่น่าเชื่อเปิดดูไม่ถึง 4-5 วินาที ความท้อแท้หายหมด” สุธรรมระบุ
ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา
รัฐธรรมนูญเปรียบเหมือนเครื่องจักร ศาลซ่อมแซมได้หากชำรุด
สราวุธแสดงวิสัยทัศน์ต่อคณะกรรมการสรรหาฯ โดยมองว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีความแตกต่างที่สำคัญจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้า คือเรื่องยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นคู่มือในการพัฒนาประเทศที่ดี พร้อมเปรียบเทียบว่าเหมือนลู่วิ่ง ที่รู้ว่าจะต้องวิ่งไปถึงจุดไหน และเป็นลู่วิ่งที่กว้างเพราะมีรายละเอียดเขียนไว้เป็นแนวทาง
สราวุธยังได้หยิบยกเรื่อง หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรม หรือเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ที่ปรากฏขึ้นใหม่ในยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยเชื่อว่า อาจมีการตีความ พร้อมระบุว่า หากต้องการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ชาติก็ปรับเปลี่ยนได้
“รัฐธรรมนูญเปรียบเสมือนกับเครื่องจักรขนาดใหญ่ บางครั้งเครื่องจักรชํารุด ประเทศก็เดินหน้าไม่ได้ ศาลรัฐธรรมนูญเหมือนส่วนหนึ่งของการควบคุมเครื่องจักร ในการซ่อมแซมส่วนที่ชํารุดเสียหาย ปรับปรุงเพื่อสอดคล้องกับบริบทของประเทศ” สราวุธกล่าว
ต่อมา ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะหนึ่งในกรรมการสรรหาฯ ได้สอบถามขึ้นว่า ถ้าเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญปัจจุบันกับเครื่องจักรที่ชํารุด มีคำถามว่า อาจจะอยู่นอกอํานาจหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพราะว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอํานาจของรัฐสภา คือต้องทําประชามติถามประชาชน และขอสอบถามความเห็นว่า มีข้อบกพร่องใดในรัฐธรรมนูญบ้าง
สราวุธตอบว่า ในมุมมองของตนคงไม่ใช่ว่าบกพร่องตรงไหน แต่มีส่วนไหนที่ต้องการการเติมเต็ม มีการทำความเข้าใจปรับปรุง วันนี้ลู่วิ่งอาจจะยังไมเหมาะสมกับเศรษฐกิจในปัจจุบัน หรือสภาพบ้านเมืองในปัจจุบัน ควรจะมาดูว่าตรงไหนควรจะมีการปรับปรุงแต่ยังอยูในลู่วิ่ง ถ้าลู่วิ่งนี้ไม่เหมาะแล้วจะต้องเปลี่ยนแนว ก็ยังมีช่องทางที่จะให้มีการแก้ไขได้
นอกจากนี้ สราวุธยังแสดงความเห็นถึงมิติในการลงโทษ ซึ่งเห็นว่าก็มีส่วนดีเพราะทำให้คนกลัวความผิด บางอย่างอาจลงโทษน้อยไป ก็ทำให้เข้มขึ้น บางอย่างที่มีโทษรุนแรง อาจมีการบรรเทาลงมา ต้องดูในรายละเอียดของแต่ละเรื่อง เช่น การยุบพรรคอาจจะรุนแรงเกินไปนิดหนึ่ง