วันนี้ (9 เมษายน) ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดีที่สำคัญ กรณีประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) (เรื่องพิจารณาที่ 9/2568) ในคราวประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 6 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ วันจันทร์ที่ 17 มีนาคม 2568 พิจารณาญัตติด่วนกรณีที่ เปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) และ วิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอให้รัฐสภาพิจารณามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจ และหน้าที่ของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ
โดยผลการลงมติในญัตติดังกล่าว ที่ประชุมรัฐสภามีมติเห็นด้วยให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ตามญัตติ
ต่อมาเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 ประธานรัฐสภาส่งเรื่องดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ และเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 ศาลรัฐธรรมนูญให้ ผู้ร้องจัดส่งสำเนารายงานการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 6 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ ในวันที่ 17 มีนาคม 2568 (ฉบับชวเลข) ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ และวันที่ 3 เมษายน 2568 ผู้ร้องจัดส่งสำเนารายงานการประชุมร่วมกันของรัฐสภาดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญ
ผลการพิจารณา เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2568 อุดม รัฐอมฤต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ขอถอนตัวจากการ พิจารณาคดีนี้ เนื่องจากเคยทำหน้าที่เป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญและเคยให้ถ้อยคำหรือให้ความเห็นในฐานะพยาน ผู้เชี่ยวชาญต่อศาลรัฐธรรมนูญในคำวินิจฉัยที่ 4/2564 และที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอนุญาต ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้อง เอกสารประกอบคำร้อง และสำเนารายงานการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 6 แล้ว เห็นว่า ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเห็นว่าเป็นปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา และมีมติโดยเสียงข้างมากให้ส่งปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจที่เกิดขึ้นแล้วตามรัฐธรรมนูญ
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องตามข้อ 1 ที่ผู้ร้องเสนอ ซึ่งถามว่า “รัฐสภามีอำนาจพิจารณาและลงมติร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมที่มีการเพิ่มหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยที่ยังไม่มีการดำเนินการจัดให้มีการออกเสียงประชามติ ว่า ประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่เสียก่อนได้หรือไม่” เนื่องจากไม่ปรากฏว่าเป็นญัตติที่มีการเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภา
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก (5 ต่อ 3) มีคำสั่งรับคำร้องตามข้อ 2 ที่นายเปรมศักดิ์ เป็นผู้เสนอญัตติ ซึ่งถามว่า “หากรัฐสภามีอำนาจพิจารณาและลงมติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมได้แล้ว การดำเนินการจัดให้มีการออกเสียงประชามติว่า ประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ สามารถกระทำภายหลังที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว โดยทำพร้อมกับการทำประชามติว่า ประชาชนเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่ ได้หรือไม่ อย่างไร”
และรับคำร้องตามข้อ 3 ที่นายวิสุทธิ์ เป็นผู้เสนอญัตติ ซึ่งถามว่า “รัฐสภาจะพิจารณาและลงมติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่มีบทบัญญัติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยยังไม่ได้มีการทำประชามติว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้หรือไม่” ไว้พิจารณาวินิจฉัย
และเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำความเห็นและจัดส่ง สำเนาเอกสารหลักฐานตามประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนด ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ ได้รับหนังสือ เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป