วันนี้ (20 กุมภาพันธ์) ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่มี วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม และ พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจาถึงนโยบายสำคัญคือ แนวทางการแก้รัฐธรรมนูญที่มีความเห็นต่างระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล โดยถามนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ชี้แจงแทน
พริษฐ์ตั้งกระทู้ถามสดถึงนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลที่บรรจุไว้ในคำแถลงของรัฐบาลที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงต่อรัฐสภาเมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา ซึ่งคาดหวังว่าให้ทุกพรรคการเมืองที่อยู่ในฝั่งรัฐบาลร่วมกันผลักดันอย่างเอกภาพและสุดความสามารถ
คำถามแรกคือ นโยบายที่จัดทำที่เร่งจัดทำรัฐธรรมนูญของประชาชนโดยเร็วที่สุด เพราะตนเชื่อว่าหากเรายังอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ปัญหาเดิมๆ ก็จะยังคงอยู่ไม่ว่าจะเป็นกลไกการต่อต้านทุจริตอ่อนแอ รวมถึงถูกแทรกแซง จนทำให้คะแนนความโปร่งใสของประเทศแย่สุดในรอบ 62 ปี หรือแม้แต่ระบบการเมืองที่ยังคงขาดเสถียรภาพขัดกับหลักนิติรัฐนิติธรรม ซึ่งจะส่งผลต่อการลงทุนต่อต่างประเทศ
พริษฐ์จึงตั้งถามว่า รัฐบาลสามารถยืนยันใช่หรือไม่ว่าเหตุผลที่ทำให้พรรคร่วมรัฐบาล และสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่มีหัวใจเดียวกัน ยังไม่พร้อมสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเพราะกังวลต่อข้อกฎหมาย ที่หากสามารถตกลงกันได้ว่าหลังจากที่มีการส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ โดยไม่ใช่เพราะจุดยืนทางการเมืองของพรรคร่วมรัฐบาลที่ไม่อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งตั้งคำถามย่อยอีก 3 คำถาม คือ
- หากพรรคร่วมรัฐบาลและ สว. ต้องการความชัดเจนจากศาลรัฐธรรมนูญเพื่อเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ เหตุใดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาพรรคร่วมรัฐบาลภูมิใจไทย 70 คน และ สว. ที่มีหัวใจเดียวกันอีกกว่า 100 คน กลับไม่ลงมติสนับสนุนเพื่อเร่งส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ
- แม้ว่า อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย จะออกมาให้สัมภาษณ์ว่า สส. พร้อมที่จะเปลี่ยนใจสนับสนุนการส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ และพร้อมที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญหากสิ้นข้อสงสัยเรื่องของข้อกฎหมาย แต่หาก สว. ที่มีหัวใจเดียวกันไม่มาร่วมสนับสนุนญัตติในการส่งเรื่องไปยังศาลธรรมนูญ สิ่งใดเป็นหลักประกันว่าหลังศาลรัฐธรรมนูญให้คำตอบว่าสามารถเดินต่อได้ สว. กลุ่มดังกล่าวจะไม่ขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยเหตุผลอื่น
- เราต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่าคำพูดของใครบ้างที่เราสามารถเชื่อถือได้ เมื่อหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยกับนายกรัฐมนตรีต่างพูดไม่ตรงกัน นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่ามีการพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลเรื่องร่างของการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว แต่ผ่านไปไม่กี่ชั่วโมงหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยบอกว่านายกรัฐมนตรีไม่เคยมาคุยเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญมาก่อน ท้ายที่สุดใครคำพูดของใครกันแน่ที่สามารถเชื่อถือได้
จากนั้นพริษฐ์ถามถึงความเห็นต่างระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลคือสถานบันเทิงครบวงจร ที่ล่าสุดร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร ที่รัฐบาลรับหลักการ ไม่ได้แก้ไขข้อกังวลของพรรคร่วมรัฐบาลก่อนหน้านี้ ได้แก่
- ไม่ได้แก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมาย
- การเปิดประมูลแข่งขันการทำสถานบันเทิงครบวงจร และการเปิดรับฟังความเห็นประชาชน
- ไม่ตอบโจทย์การท่องเที่ยวในเมืองที่ตั้งสถานบันเทิงครบวงจร
- การจ้างงานแก่แรงงานไทย
ทั้ง 4 ข้อกังวลที่พรรคร่วมรัฐบาลเคยทักท้วงเมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมา ปรากฏว่าในร่างกฎหมายที่ ครม. รับหลักการมาไม่มีการแก้ไขข้อกังวลเหล่านี้เลย อยากถามนายกรัฐมนตรีว่าจะทำอย่างไรให้พรรคร่วมรัฐบาลมาสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร สามารถยืนยันว่าไม่ได้ไปตกลงหลังห้องเรื่องสถานที่ตั้งคาสิโน หรือการนำเรื่องแก้รัฐธรรมนูญและเรื่องกัญชาไปแลกกับเรื่องคาสิโนหรือไม่
ขณะที่ประเสริฐชี้แจงในคำถามเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า การเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเร็วนั้นต้องการสร้างความเข้าใจว่า รัฐบาลโดยพรรคเพื่อไทยเข้ามาบริหารประเทศต่อเนื่องอยู่ 2 รัฐบาล เริ่มจากรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ซึ่งให้ความสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงได้บรรจุไว้เป็นนโยบาย แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นยังมีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่ รัฐบาลในขณะนั้นจึงศึกษาเรื่องการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญแล้วและระบุถึงการทำประชามติ 3 ครั้ง รวมถึงมีการพูดถึงแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ และต่อเนื่องมาถึงรัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร โดยมีการเสนอร่างโดย 2 พรรคการเมือง คือ พรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทย
หลังจากที่ประธานรัฐสภาได้บรรจุร่างรัฐธรรมนูญแล้วก็เข้าสู่การพิจารณา ซึ่งมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและฝ่ายไม่เห็นด้วย โดยที่ฝ่ายไม่เห็นด้วยได้ให้ความเห็นว่าอาจจะขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในอดีต ดังนั้นในเรื่องนี้ยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลยังมีเจตนารมณ์ในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญอยู่
พรรคเพื่อไทยมีการนำเสนอญัตติเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเพื่อเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งในประเด็นที่สงสัยนั้นยืนยันว่าเรามีเจตนาอันบริสุทธิ์ในการเดินหน้าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งในการประชุมสัปดาห์ที่ผ่านมาหากปล่อยให้สมาชิกรัฐสภาลงมติ อาจจะไม่มีการพิจารณาเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ
ดังนั้นขอยืนยันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลไม่มีความขัดแย้งในเรื่องนโยบายในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจจะมีความคิดเห็นต่างกันในเรื่องของกระบวนการเท่านั้น แต่พรรคร่วมรัฐบาลเรายังมีจุดหมายปลายทางเดียวกัน ความเห็นแตกต่างกันในการประชุมร่วมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นกลับมองว่าเป็นความงดงามของระบอบประชาธิปไตย
ส่วนคำถามที่ว่า พรรคร่วมกับสมาชิกวุฒิสภาไม่ต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ประเสริฐกล่าวว่า สมาชิกรัฐสภาทุกคนมีความประสงค์ที่จะอยากเห็นรัฐธรรมนูญออกมาเป็นฉบับที่ดีที่สุด แต่ในห้วงเวลาในการพิจารณาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายคนมีข้อกังวลในเรื่องของการตีความว่าหากมีการพิจารณาต่อนั้นจะถูกต้องหรือไม่ การทำประชามติควรทำ 2 ครั้ง หรือ 3 ครั้ง
ส่วนคำถามที่ว่า พรรคร่วมรัฐบาลและ สว. หากต้องการความชัดเจนแล้วเหตุใดไม่มาลงมติ ประเสริฐกล่าวว่า ในการแสดงความคิดเห็นของสมาชิกรัฐสภาเป็นเอกสิทธิ์ เราเคารพความคิดเห็นในการแสดงออกของสมาชิกแต่ละคน เมื่อสมาชิกแต่ละคนมีความกังวล พรรคเพื่อไทยส่วนหนึ่งจึงเตรียมเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เพื่อนำเรื่องนี้เสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในเรื่องข้อสงสัย หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการวินิจฉัยในเรื่องข้อสงสัยแล้ว ตนคิดว่าสมาชิกจะมีความสบายใจมากยิ่งขึ้น
ส่วนคำถามที่ว่า หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยระบุว่าลูกพรรคพร้อมโหวต ประเสริฐกล่าวว่า คำถามดังกล่าวเป็นคำสัมภาษณ์ของหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ตนยังเชื่อว่าหากสมาชิกหายข้อสงสัยทุกคนก็พร้อมโหวตลงมติ ซึ่งเรื่องนี้ว่าไม่มีใครขัดขวาง ทุกคนอยากเห็นรัฐธรรมนูญที่ออกมาดีที่สุด ซึ่งความเห็นแตกต่างนั้นสามารถมีได้ เพราะนี่คือความงดงามของระบอบประชาธิปไตย แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเราก็ดำเนินการกันอยู่เช่นเดียวกัน
ประเสริฐกล่าวยืนยันว่าความเห็นต่างในพรรคร่วมรัฐบาลไม่ใช่ความขัดแย้ง หลายครั้งที่ท่านเองหรือพรรคฝ่ายค้านออกมาแสดงความพยายามให้พรรคร่วมรัฐบาลมีความรู้สึกว่าเกิดความแตกแยกกันนั้น ผมรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่อาจจะไม่ถูกต้องนัก รัฐบาลก็ต้องรับฟังความเห็นของพรรคร่วมด้วย การมีความเห็นที่ต่างจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร
ประเสริฐตอบคำถามเรื่องสถานบันเทิงครบวงจรว่า แม้ตอนนี้จะผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้ว แต่ก็ยังอยู่ในขั้นตอนที่คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาในรายละเอียด เพื่อให้มีความชัดเจนมากขึ้น รวมถึงอยู่ในขั้นตอนการทำประชามติครั้งที่ 3 ซึ่งในส่วนของพรรคการเมืองต่างๆ ก็คงจะมีการพูดคุยกันอยู่ รายละเอียด และอุปสรรค จนเกิดความเข้าใจจนไร้ข้อสงสัยแล้ว
แต่ขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวยังไม่เข้าสู่การพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร เมื่อเข้าสู่การพิจารณาแล้วสมาชิกก็สามารถที่จะแสดงความคิดเห็นได้ตั้งแต่วาระที่ 1 จนถึงวาระที่ 3 จากนั้นก็ต้องเข้าสู่การพิจารณาของสมาชิกวุฒิสภาอีก และกฎหมายทุกฉบับมีกระบวน ตนเชื่อว่าสมาชิกรัฐบาลต้องการให้กฎหมายฉบับนี้ตอบโจทย์ในการทำให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การลงทุน และด้านอื่นๆ
ส่วนคำถามที่ว่า นายกรัฐมนตรีโน้มน้าวพรรคร่วมรัฐบาลอย่างไรนั้น ประเสริฐกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง ซึ่งมีการพูดคุยกับหัวหน้าพรรคอื่นๆ ตลอดเวลาไม่ว่าจะเดินทางไปที่ไหน หรือแม้กระทั่งในการประชุม ครม. เพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ไม่ได้มีการแลกเปลี่ยนเรื่องอะไรเลย ทุกคนมุ่งเน้นเรื่องที่ประชาชนและประเทศจะได้รับผลประโยชน์สูงสุดเท่านั้น ซึ่งเจตจำนง 2 นโยบายหลักได้แถลงไว้ต่อสภานั้นรัฐบาลมีความตั้งใจ และนายกรัฐมนตรีใช้ภาวะผู้นำในการคุยกับหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล เวลาที่มีพูดคุยกับฝ่ายค้านอาจไม่มีทราบ ยืนยันว่าไม่มีเดินอ้อม อาทิ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเราก็ต้องดำเนินการต่อ กระบวนการจึงเป็นไปตามสัปดาห์ที่ผ่านมา
ส่วนนโยบายอื่นๆ เช่น กัญชา ค่าแรง ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 7 เรื่อง รัฐบาลให้ความสำคัญ แต่การเรียงลำดับขึ้นอยู่กับจังหวะและโอกาส ซึ่งจะต้องมีการพูดคุยกัน เนื่องจากบางเรื่องต้องใช้เวลา ต้องมีการพูดคุย บางเรื่องทำได้เร็ว บางเรื่องทำได้ช้า แต่ยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญทั้งสิ้น