×

กทม. พิจารณาจัดเก็บภาษียาสูบ หลังมีข้อมูล กทม. ขาดรายได้ส่วนนี้ไปประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท

โดย THE STANDARD TEAM
03.05.2022
  • LOADING...
ภาษียาสูบ

วันนี้ (3 พฤษภาคม) สุธาทิพย์ สนเอี่ยม รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงการจัดเก็บภาษียาสูบบำรุงท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ระบุว่า การจัดเก็บภาษีบำรุง กทม. สำหรับยาสูบ เป็นภาษีที่ กทม. ยังไม่เคยจัดเก็บมาก่อน โดยสามารถจัดเก็บได้ต่อเมื่อแก้ไขพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการ กทม. พ.ศ. 2528 เพื่อให้มีอำนาจในการจัดเก็บตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และ กทม. จะต้องดำเนินการออกข้อบัญญัติ กทม. โดยได้รับความเห็นชอบจากสภา กทม. ก่อนดำเนินการจัดเก็บ (เดิม กทม. ได้เสนอแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการ กทม. พ.ศ. 2528 ทั้งฉบับ ซึ่งมีประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติมหลายประเด็นที่มีความยุ่งยากซับซ้อน โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 กทม. ได้เสนอแก้ไขพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการ กทม. พ.ศ. 2528 เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดเก็บรายได้ เป็นจำนวนถึง 3 ครั้ง ใน พ.ศ. 2559, 2560 และ 2563) 

 

ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่ระหว่างปรับปรุงแก้ไขกฎหมายรายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีหลักการเกี่ยวกับรายได้ท้องถิ่นที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จึงมีหน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นต้น ให้ข้อสังเกตตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีให้ กทม. รับร่างพระราชบัญญัติไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ข้อยุติที่ชัดเจนก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี กทม. จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาทบทวนเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการ กทม. พ.ศ. 2528 ให้สอดคล้องกับกฎหมายรายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ จะได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาด้วย โดย กทม. ได้ติดตามความคืบหน้าในการแก้กฎหมายรายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาโดยตลอด แต่ยังไม่มีกำหนดเวลาการประชุมเรื่องกฎหมายดังกล่าว 

 

ทั้งนี้ กทม. อยู่ระหว่างการพิจารณาเสนอแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการ กทม. พ.ศ. 2528 เฉพาะส่วนที่ให้ กทม. สามารถจัดเก็บภาษีบำรุง กทม. สำหรับยาสูบเองได้ ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กทม. อีกทางหนึ่งด้วย

 

ทั้งนี้ ประเด็นการพิจารณาจัดเก็บภาษียาสูบของ กทม. กลับมาถูกพูดถึงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจาก รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ออกมาเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับภาษียาสูบบำรุงท้องถิ่น หรือภาษียาสูบองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่ กทม. ยังไม่ได้ดำเนินการจัดเก็บ หลังกฎหมายให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึง กทม. จัดเก็บได้ตั้งแต่ พ.ศ. 2542 ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ตามมาตรา 25 (5) ‘ภาษีบำรุงกรุงเทพมหานครสำหรับยาสูบซึ่งเก็บจากการค้าในเขตกรุงเทพมหานคร โดยออกข้อบัญญัติจัดเก็บเพิ่มได้ไม่เกินมวนละ 10 สตางค์’ ทั้งที่องค์การบริหารจังหวัดทั่วประเทศได้มีการจัดเก็บแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2546 ในอัตราซองละ 1.86 บาท

 

โดย รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การเก็บภาษียาสูบบำรุงท้องถิ่นตามสิทธิที่ กทม. พึงจะได้รับ จะทำให้ กทม. มีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 720 ล้านบาท ซึ่งตั้งแต่ พ.ศ. 2543 ถึงปัจจุบัน กทม. ต้องขาดรายได้ส่วนนี้ไปถึงประมาณ 16,000 ล้านบาท นอกจากนี้การที่ กทม. ไม่จัดเก็บภาษียาสูบบำรุงท้องถิ่น ฝ่ายที่ได้ประโยชน์เต็มๆ คือบริษัทบุหรี่ที่ไม่ต้องเสียภาษีส่วนนี้ และยังทำให้เกิดช่องว่างให้บริษัทบุหรี่จะนำสินค้ามาพักในพื้นที่ กทม. เพราะไม่ถูกเก็บภาษี ก่อนที่ร้านค้าใน กทม. จะกระจายสินค้าไปยังจังหวัดใกล้เคียงเพื่อนำขายต่อไป ทำให้รัฐต้องสูญรายได้ และ อบจ. ทั่วประเทศก็จะเก็บภาษีได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X