×

จัดพอร์ตลงทุนแบบ ‘อนุรักษนิยม’ แต่แฝงความยืดหยุ่นในสินทรัพย์เสี่ยง

12.07.2021
  • LOADING...
อนุรักษนิยม

เดือนที่ผ่านมาบรรยากาศการลงทุนค่อนข้างไม่ตอบรับกับปัจจัยต่างๆ มากมายนัก (Resilience Market) พิจารณาได้จากตลาดหุ้นที่มีการตอบรับเพียงเล็กน้อยก่อนจะแกว่งกลับเข้ากรอบเดิม ทำไมเป็นแบบนั้น อะไรที่เราจะต้องนำมาคิดเพิ่มเติมเพื่อเรียนรู้ภาวะการลงทุน ณ ปัจจุบัน เพื่อปรับแผนการลงทุนหรือพอร์ตการลงทุนของเราให้มีความยืดหยุ่นพอในภาวะปัจจุบัน

 

อะไรที่ทำให้ตลาดหุ้นอยู่ในสภาวะการที่เคลื่อนไหวแบบจำกัด อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ รุ่น 10 ปี ปรับตัวลดลง ส่วนต่างระหว่างพันธบัตรอายุ 2 ปี และ 10 ปี เริ่มแคบลง อาการแบบนี้อาจจะพอแปลได้ว่าภาพการลงทุนกำลังใกล้จุดเปลี่ยนผัน (Conviction) 

 

ภาวะแบบนี้อธิบายบรรยากาศการลงทุนได้ว่ายังคงมีความกังวล แต่เนื่องจากผลตอบแทนที่ต่ำของสินทรัพย์ปลอดภัยและปัจจัยเสี่ยงที่มีต่อตลาด เทียบกับโอกาสที่จะมีปัจจัยสนับสนุนเข้ามามีโอกาสพอๆ กัน ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่ตัดสินใจรอ โดยให้น้ำหนักการลงทุนไปที่สินทรัพย์เสี่ยงและสินทรัพย์ปลอดภัยที่ใกล้เคียงกัน ถ้าเอาภาษาง่ายๆ ก็คือ นักลงทุนยอมรับความเสี่ยงที่สูงขึ้นได้ พอๆ กับยอมรับผลตอบแทนที่ต่ำลงหากต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย 

 

มาถึงตรงนี้ เพื่อความชัดเจนเข้าไปอีกคือ ณ ตอนนี้ นักลงทุนส่วนใหญ่รู้สึกว่าปัจจัยบวกกับปัจจัยลบจะมีน้ำหนักใกล้เคียงกัน ทำให้เกิดอาการรอคอยภาพที่ชัดเจนหรือรอทิศทางที่ชัดเจนกว่านี้ แล้วมันคืออะไร ผมขอยกมาให้พิจารณากันดู

 

เริ่มจากโควิดกลายพันธุ์ การติดเชื้อรอบใหม่เพิ่มมากขึ้น vs. มีวัคซีนหลายชนิด และพิสูจน์ได้ว่าการฉีดวัคซีนให้ได้จำนวนมากๆ สามารถลดการแพร่กระจายและลดอัตราการเสียชีวิตได้ 

 

อีกเรื่องคือ ด้านสหรัฐอเมริกาที่ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น และมีแนวโน้มการบริโภคที่ดีขึ้นอันเนื่องมาจากการเริ่มเปิดเมือง ทำให้ Fed อาจจะเปลี่ยนนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน การปรับอัตราดอกเบี้ย และการลดเงินช่วยเหลือเศรษฐกิจ (QE Tapering) vs. ประธาน Fed คิดว่า อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเป็นการชั่วคราว การอุดหนุนทางการเงินยังจำเป็นต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นเรื่องที่ยังต้องรอการประเมินผลจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนกว่าข้อมูล ณ ปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าปัจจัยลบทั้งคู่ยังแฝงไปด้วยปัจจัยบวก ทำให้ภาวะการลงทุนในปัจจุบันจึงเป็นแบบนี้ คือ นิ่งๆ บวกลบนิดหน่อย พันธบัตรปรับตัวลงแต่ก็ไม่ผันผวนมาก

 

สำหรับปัจจัยสำคัญในเดือนนี้ที่จะไม่พูดก็ไม่ได้ คงไม่หนีเรื่องการเปิดเผยรายงานการประชุม FOMC รอบล่าสุด (FOMC Minutes) ซึ่งอาจจะมีผลต่อการประเมินการขึ้นอัตราดอกเบี้ย หรือ Fed Fund Futures ที่มองว่าอาจจะมีการปรับร่นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้นในช่วงปี 2023 ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงก็น่าจะมีผลต่อการประเมินอัตราเงินเฟ้อระยะยาว และทิศทางผลตอบแทนพันบัตรรัฐบาลโดยเฉพาะในรุ่น 3-5 ปี และถ้าหากมีข้อมูลไทม์ไลน์ในการพิจารณาเรื่อง QE Tappering ก็อาจจะมีผลต่อบรรยากาศการลงทุนตามไทม์ไลน์ที่ออกมา ทั้งหมดนี้ก็จะได้ทราบกันภายในเดือนนี้ 

 

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของผมเอง ผมไม่คิดว่า FOMC Minutes ในครั้งนี้จะให้อะไรหรือมีผลต่อตลาดมากนัก เพราะสถานการณ์ของสหรัฐอเมริก และสถานการณ์โลกที่ได้รับผลกระทบจากโควิดนั้นยังไม่สิ้นสุด โลกยังต้องการการสนับสนุนทางการเงินเพื่อช่วยในการฟื้นตัว สำหรับภาวะการลงทุนโดยรวมไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้นหรือตลาดตราสารหนี้ เป็นการเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ เป็นเพียงเก็งกำไรระยะสั้น และเป็นเพียงแค่การรอคอย

 

จากภาวะและสาเหตุที่ผมกล่าวถึงในเบื้องต้น นำไปสู่สมมุติฐานในการจัดพอร์ตการลงทุนแบบอนุรักษนิยมแต่แฝงความยืดหยุ่นในสินทรัพย์เสี่ยง เพื่อชดเชยผลตอบแทนของสินทรัพย์ปลอดภัยที่อยู่ในระดับต่ำมาก โดยยังคงคำนึงถึงความเสี่ยงในพอร์ตแบบอนุรักษนิยม ดังนั้นหน้าตาของพอร์ตการลงทุนจะเป็นแบบนี้ครับ คือ สินทรัพย์เสี่ยงคือ หุ้น จะกำหนดไว้ที่ 45% 

 

โดยแบ่งเป็นหุ้นไทย 15%, ญี่ปุ่น 10%, สหรัฐอเมริกา 10% และจีน 10% สำหรับอีก 35% เอาไปลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น หรือพันธบัตรรัฐบาล เพื่อช่วยลดความเสี่ยงให้พอร์ตการลงทุน ส่วนที่เหลือ 20% เน้นให้ไปลงสินทรัพย์ทางเลือก คือ น้ำมัน 5% และกองอสังหาริมทรัพย์หรือกองรีท 15% เพื่อเป็นการกระจายการลงทุนออกจากตลาดทุน การจัดพอร์ตแบบนี้ ผมคาดหวังอัตราผลตอบแทนประมาณ 6 % ซึ่งเป็นพอร์ตที่เหมาะกับภาวะปัจจุบันมากครับ

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X