×

สำรวจมุมมอง จำเป็นไหมที่ชายไทยยังต้องเกณฑ์ทหาร หลังยอดสมัครทหารเกณฑ์เพิ่มขึ้น 5 ปีต่อเนื่อง

05.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins read
  • จำนวนผู้สมัครเข้าเป็นทหารเกณฑ์มีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปีตลอด 5 ปีที่ผ่านมา
  • คนรุ่นใหม่เริ่มเรียกร้องให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ขณะที่โฆษกกลาโหม ยอมรับว่ามีความเป็นไปได้ในอนาคต หากประเทศพัฒนาแล้วและมีกองทัพที่ทันสมัย

ฤดูกาลตรวจเลือกทหารกองประจำการ 2561 เริ่มต้นขึ้นแล้วตั้งแต่วันที่ 1-12 เมษายนนี้ โดยปีนี้กองทัพจะคัดเลือกชายไทยเข้าประจำการจำนวน 104,734 คน จากชายไทยที่ถึงเกณฑ์ประมาณ 3 แสนคน

 

 

คำถามที่เริ่มส่งเสียงดังขึ้นทุกปีก็คือ ทำไมทุกวันนี้เรายังต้องมีการเกณฑ์ทหาร

เมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล อดีตประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินทางมาพร้อมนาฬิกาเต็มข้อมือรวม 14 เรือน เพื่อยื่นเอกสารขอผ่อนผันการเกณฑ์ทหารที่หน่วยคัดเลือกทหาร วัดราษฎร์โพธิ์ทอง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ

 

เนติวิทย์ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังเข้าผ่อนผันว่า วันนี้หมดยุคหมดสมัยที่จะมาเกณฑ์ทหาร ซึ่งมีลักษณะเหมือนไพร่เหมือนทาสไปถูกใช้แรงงานเป็นคนตัดหญ้า และถูกธำรงวินัยจนอาจเสียชีวิต ถึงเวลาที่จะรักชาติในยุคใหม่ให้เหมาะสม พร้อมเสนอให้เปลี่ยนการบังคับการเกณฑ์ทหารเป็นระบบสมัครใจ

 

วันเดียวกัน พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือไอติม หลานชายของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความแสดงความเห็นประเด็นการเกณฑ์ทหารลงเฟซบุ๊ก หลังเจ้าตัวตัดสินใจสมัครเป็นทหารผลัดแรก 6 เดือน

 

ไอติมระบุว่า การที่ตนสมัครไปเป็นทหารเกณฑ์ไม่ได้แสดงว่าตนคิดว่าชายไทยทุกคนต้องเกณฑ์ทหาร

 

แต่ไม่ว่าตนจะคิดอย่างไรเกี่ยวกับรูปแบบการเกณฑ์ทหารในอนาคต ก็มีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน

 

“ผมเชื่อว่าเจตนารมณ์ดั้งเดิมของการเกณฑ์ทหารนั้นคือการที่อยากเห็นประชาชนและเยาวชนทำประโยชน์เพื่อชาติ ประเด็นที่ผมว่าน่าสนใจก็คือประเทศควรจะมีทางเลือกในการทำประโยชน์เพื่อชาติในรูปแบบอื่นด้วยหรือไม่ (เช่น การดูแลผู้สูงอายุในช่วงที่ประเทศกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย) การที่ได้ไปสัมผัสการเป็นทหารเกณฑ์ด้วยตัวเองน่าจะเปิดมุมมองให้ผมมากขึ้นในเรื่องนี้”

 

 

เปิดข้อมูล ยอดสมัครเป็นทหารเกณฑ์สูงขึ้นทุกปี

THE STANDARD ติดต่อขอข้อมูลสถิติการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้าเป็นทหารกองประจำการจาก พลตรี คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม พบว่าตัวเลขการสมัครเข้าเป็นทหารเกณฑ์มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี

 

โดยโฆษกกระทรวงกลาโหมวิเคราะห์ว่าอาจเกิดจากความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อการเกณฑ์ทหารเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในยุครัฐบาล คสช. จะเห็นว่าตัวเลขผู้สมัครเป็นทหารมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

 

โฆษกกระทรวงกลาโหมชี้แจงถึงตัวเลขความต้องการทหารเกณฑ์ที่ไม่เท่ากันในแต่ละปีว่ากองทัพคำนวณจากกำลังพลทหารที่มีอยู่เดิม แม้แต่ละปีจะไม่เท่ากัน แต่เฉลี่ยอยู่ที่ 1 แสนคน รวม 3 เหล่าทัพ

 

ที่ตัวเลขไม่เท่ากันเพราะยอดปลดประจำการทหารแต่ละปีไม่เท่ากัน บางคนเกษียณ หรือบางคนเข้ามาสมัครเป็นแค่ 6 เดือน การเข้า-ออกตรงนี้ทำให้ตัวเลขมีการขยับไปมา

 

“ยืนยันว่าการเกณฑ์ทหารใช้อัตรากำลังพลที่ว่างลงเป็นตัวตั้ง ส่วนงบประมาณจะได้ใกล้เคียงกันทุกปีอยู่แล้ว งบประมาณตัวนี้เราใช้ดูแลทหารตั้งแต่เครื่องแต่งกายไปจนถึงเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง และสวัสดิการ นอกจากนี้ยังให้การศึกษา กศน. โดยกองทัพบังคับให้พลทหารต้องเรียน กศน. นั่นหมายความว่าถ้าอยู่กับเรา 2 ปี จะมีวุฒิการศึกษาเพิ่มขึ้น”

 

 

ส่วนเหตุผลที่ยังต้องมีการเกณฑ์ทหาร เนื่องจากมีกฎหมาย พ.ร.บ. รับราชการทหาร พ.ศ. 2497 อีกทั้งรัฐธรรมนูญเกือบทุกฉบับกำหนดให้รัฐต้องจัดให้มีกำลังทหาร และกำหนดให้จัดกำลังทหารไว้ช่วยพัฒนาประเทศด้วย

 

ที่สำคัญคือต้องยอมรับว่ากองทัพต้องการคนหนุ่มเข้ามาหมุนเวียนให้กำลังพลกองทัพมีความสดใหม่ ถ้าไม่ใช้วิธีเกณฑ์ทหารก็ต้องบรรจุทหารและแบกรับไปจนถึงวัยเกษียณ ทำให้มีกำลังพลที่สูงวัยอยู่ในกองทัพจำนวนมาก

 

 

ถ้ายกเลิกเกณฑ์ทหาร ประเทศต้องพัฒนาแล้ว กองทัพต้องทันสมัย

ส่วนข้อเสนอยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ยอมรับว่าเป็นแนวคิดที่เป็นไปได้ในอนาคต แต่ถ้าจะยกเลิกเกณฑ์ทหาร นั่นหมายความว่าประเทศจะต้องมีความพร้อม เป็นประเทศที่เจริญแล้ว กองทัพก็ต้องมีความพร้อมและทันสมัย มียุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งช่วยให้สามารถลดกำลังพลลงไปได้

“อย่าไปกลัวเลย ถ้าทุกคนคิดถึงตัวเองจะกลัว ความกลัวทำให้คุณสูญเสียทุกอย่าง วันนี้คุณกลัวเพราะคุณเข้ามาเป็นทหาร กลัวเพราะคุณต้องเข้ามารับใช้ชาติ ไม่รู้ว่าเข้าไปแล้วจะได้ออกไปหรือเปล่า

 

“ผมเชื่อว่าทหารเกณฑ์ทั้งหมดที่เข้ามาในกองทัพวันนี้ออกไป ทุกคนมีความภาคภูมิใจ ทุกคนมีอุดมการณ์ ทุกคนมีวินัยและความเป็นผู้นำ คนที่เป็นทหารแล้วเท่านั้นจึงจะพูดว่าได้ว่าเขามีความภูมิใจและเขาได้อะไร แต่คนที่ไม่ได้เป็นทหารก็อาจจะพูดได้ไม่เต็มปาก หรือไม่มีความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้” โฆษกกลาโหมกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising