ผู้นำในสภาคองเกรสของสหรัฐฯ บรรลุข้อตกลงในการผ่านแพ็กเกจเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 26.98 ล้านล้านบาท) หลังการเจรจาระหว่างสองพรรคการเมืองใหญ่ยืดเยื้อและชะงักงันมานานหลายเดือน โดยหลังจากนี้สภาผู้แทนราษฎรจะประชุมกันต่อเพื่อพิจารณาว่าจะรับรองแพ็กเกจดังกล่าวหรือไม่ในวันนี้ (21 ธันวาคม)
แพ็กเกจเยียวยาดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อพยุงธุรกิจขนาดเล็กให้ดำเนินกิจการต่อได้ รวมถึงช่วยเหลือชาวอเมริกันที่ตกงาน และสนับสนุนการทำงานของบุคลากรแพทย์ ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังขยายขอบเขตการแจกจ่ายวัคซีนให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง
มิตช์ แม็กคอนเนลล์ ผู้นำเสียงข้างมากของพรรครีพับลิกันในวุฒิสภา ประกาศเมื่อช่วงค่ำวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (20 ธันวาคม) ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ หรือตรงกับช่วงเช้าวันนี้ตามเวลาประเทศไทย (21 ธันวาคม) ว่าผู้นำจากสองสภา (สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา) ได้บรรลุข้อตกลงขั้นสุดท้ายในการช่วยเหลือชาวอเมริกันที่กำลังทุกข์ยากและรอคอยความช่วยเหลือจากรัฐบาลมายาวนาน
ด้าน แนนซี เปโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเดโมแครต และชัค ชูเมอร์ ผู้นำเสียงข้างน้อยของพรรคเดโมแครตในวุฒิสภา ระบุในแถลงการณ์ร่วมว่า “เราจะทำลายไวรัสและนำเงินใส่กระเป๋าของชาวอเมริกัน”
สำหรับรายละเอียดทั้งหมดของแพ็กเกจเยียวยารอบนี้ยังไม่มีการเปิดเผย แต่คาดว่าจะประกอบด้วยเช็คเงินสดกระตุ้นเศรษฐกิจที่จ่ายให้ประชาชนโดยตรงคนละ 600 ดอลลาร์ (ประมาณเกือบ 18,000 บาท) ขึ้นอยู่กับรายได้, เงินประกันการตกงาน 300 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์, งบประมาณสนับสนุนการแจกจ่ายวัคซีน, เงินกู้สำหรับธุรกิจที่ประสบปัญหาในการจ่ายค่าเช่าและจ้างพนักงานรวม 2.84 แสนล้านดอลลาร์ และเงินช่วยเหลือสำหรับมหาวิทยาลัยและโรงเรียนอีก 8.2 หมื่นล้านดอลลาร์
นอกจากแพ็กเกจเยียวยาเร่งด่วนแล้ว สมาชิกสภาคองเกรสยังต้องเร่งพิจารณามาตรการชดเชยเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะชัตดาวน์ของรัฐบาลก่อนเส้นตายเวลาเที่ยงคืนของวันอาทิตย์ด้วย
โดยสภาผู้แทนราษฎรมีกำหนดจะประชุมเพื่อพิจารณาลงมติผ่านร่างแพ็กเกจเยียวยาในวันนี้ ตามเวลาท้องถิ่น (21 ธันวาคม) รวมถึงร่างงบประมาณรายจ่ายทั่วไปวงเงิน 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สำหรับปีงบประมาณหน้าด้วย
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: