×

พิษโควิด-19 รอบ 3 ฉุดความเชื่อมั่นค้าปลีกวูบต่อเนื่อง! ร้านค้าแบกต้นทุนไม่ไหว ส่วนใหญ่ลดลูกจ้างแล้ว 25% แถมมีเงินทุนอยู่ได้อีกเพียง 6 เดือน

05.06.2021
  • LOADING...
ผู้ประกอบการค้าปลีก

สมาคมผู้ค้าปลีกไทยร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย เผยผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการค้าปลีกและการคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคไทยประจำเดือนพฤษภาคม 2564 พบว่า แนวโน้มผู้บริโภคไทยยังคงระมัดระวังการจับจ่าย มีผลต่อยอดซื้อต่อบิล (Purchasing per Basket) และความถี่ในการจับจ่าย (Frequency Visit) ลดลงอย่างต่อเนื่อง แนวโน้มการใช้จ่ายลดลงเกือบทุกภูมิภาคและเกือบทุกช่องทางประเภทร้านค้าปลีก

 

โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกรวม (Retail Sentiment Index) เดือนพฤษภาคม ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องจากเดือนเมษายน และยังอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ระดับ 50 มาก สอดคล้องกับภาวะการค้าปลีกที่แย่ลงตามการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ที่รุนแรงขึ้น สะท้อนถึงความกังวลต่อแผนการกระจายวัคซีนและมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อที่ภาครัฐประกาศที่จะอัดฉีดเพิ่มเติมที่ยังไม่ชัดเจน

 

ด้านดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการต่อการเติบโตยอดขายสาขาเดิม เดือนพฤษภาคมมีทิศทางที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนได้จากข้อมูลยอดขายสาขาเดิมเดือนพฤษภาคมลดลงมากกว่า 30-50% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายนและมีนาคม ตามลำดับ โดยผู้ประกอบการกังวลถึงกำลังซื้อที่ลดลงและยังไม่ฟื้นตัวดี รวมถึงมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวด ส่งผลให้ผู้บริโภคระมัดระวังในการไปจับจ่ายที่ร้านค้า

 

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการต่อยอดขายเดิมเมื่อจำแนกตามรายภูมิภาค ปรากฏว่าปรับลดลงต่ำกว่าระดับค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 ในทุกภูมิภาค สะท้อนถึงแนวโน้มความต้องการในการใช้จ่ายลดลง โดยเฉพาะภูมิภาคกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ภาคเหนือ และภาคใต้ ที่ลดลงอย่างชัดเจน

 

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการจำแนกตามประเภทร้านค้าปลีกลดลงอย่างชัดเจน และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ระดับ 50 ในทุกประเภทร้านค้าปลีก โดยเฉพาะลดลงอย่างชัดเจนในร้านค้าประเภทสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้า 

 

ด้านร้านค้าปลีกประเภทไฮเปอร์มาร์ต ดัชนีความเชื่อมั่นดีขึ้นเล็กน้อย สะท้อนถึงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ ผู้บริโภคมีความกังวลที่จะยืดเยื้อส่งผลให้พฤติกรรมการซื้อเป็นแบบกักตุนสินค้ามากขึ้น และมุ่งใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น ทำให้มูลค่าการซื้อต่อครั้ง Per Spending หรือ Per Basket เพิ่มขึ้น แต่ความถี่ในการจับจ่ายกลับลดลง

 

สมาคมผู้ค้าปลีกไทยยังได้สำรวจผลกระทบต่อยอดขายและกำลังซื้อ การจ้างงาน และสภาพคล่องต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ จากมุมมองผู้ประกอบการ พบว่า 

 

  1. ผู้ประกอบการกว่าร้อยละ 29 ระบุว่า ยอดการจับจ่ายและการใช้บริการ (Traffic) ลดลงมากกว่า 25% การบริหารจัดการต้องปรับลดการจ้างงานหรือปรับลดชั่วโมงการทำงาน รวมถึงลดค่าธรรมเนียมการขาย เพื่อพยุงธุรกิจให้อยู่รอด

 

  1. ผู้ประกอบการร้อยละ 41 ระบุว่า มีการลดการจ้างงานมากกว่า 25% แล้ว ส่วนอีกร้อยละ 38 บอกว่าจะพยายามคงสภาวะการจ้างงานเดิม แต่คงไม่ได้นาน

 

  1. ผู้ประกอบการร้อยละ 39 ระบุว่า มีสภาพคล่องเงินทุนหมุนเวียนบริหารจัดการได้ไม่เกิน 6 เดือน ในจำนวนนี้ ร้อยละ 8 บอกว่ามีสภาพคล่องเหลือเพียงแค่ 1-3 เดือน

 

  1. มาตรการกระตุ้นการจับจ่าย ‘ยิ่งใช้ยิ่งได้’ ผู้ประกอบการร้อยละ 56 คาดหมายว่าอาจจะช่วยให้ยอดขายเพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการร้อยละ 38 คาดหมายว่ายอดขายคงเดิม เพราะกลไกการใช้จ่ายซับซ้อน ไม่เอื้ออำนวยให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้ที่นิยมจับจ่ายด้วยเครดิตการ์ดได้ใช้เพิ่มเติมจาก G-Wallet

 

นอกจากนี้สมาคมผู้ค้าปลีกไทยยังได้ออกข้อเสนอต่อภาครัฐทั้งหมด 4 ข้อ ได้แก่

 

  1. เร่งรัดแผนกระจายการฉีดวัคซีนให้ทั่วถึง เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นในการจับจ่ายผู้บริโภค

 

  1. เร่งรัดมาตรการเยียวยาช่วยจ่ายค่าแรงพนักงาน 50% แก่ร้านค้าที่ได้รับผลกระทบจากการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามประกาศภาครัฐ

 

  1. เร่งรัดธนาคารพาณิชย์ประสานงานกับห้างค้าปลีกพิจารณาสินเชื่อ Soft Loan แก่คู่ค้า-ซัพพลายเออร์ระดับ Micro SMEs ตามโมเดล Sand Box สมาคมผู้ค้าปลีกไทย

 

  1. เสนอให้ปรับแต่งกลไกเอื้อให้ผู้ที่ลงทะเบียนใช้สิทธิ์ ‘ยิ่งใช้ยิ่งได้’ สามารถใช้เครดิตการ์ดจับจ่ายเพิ่มเติมจาก G-Wallet ทั้งนี้ พฤติกรรมของผู้บริโภคกลุ่มนี้นิยมที่จะจับจ่ายสินค้าด้วยเครดิตการ์ดมากกว่าเงินสด

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X