×

หารือลดค่าบริการมือถือยังไร้ข้อสรุป หลังผู้ให้บริการขอทบทวนก่อนแจ้ง กสทช. พรุ่งนี้

โดย SCB WEALTH
15.04.2020
  • LOADING...

เกิดอะไรขึ้น:

บ่ายวันนี้ (15 เมษายน) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่า การประชุมหารือกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ยังไม่ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการปรับลดอัตราค่าบริการให้แก่ประชาชนในทุกแพ็กเกจลง 10-30% เนื่องจากผู้เข้าร่วมประชุมในวันนี้ยังไม่สามารถตัดสินใจได้ทันที และจะนำนโยบายของ กสทช. ไปเสนอต่อที่ประชุมผู้บริหารของบริษัทก่อนที่จะตัดสินใจขานรับนโยบายนี้

 

กระทบอย่างไร:

วันนี้หุ้นกลุ่มสื่อสารไม่ตอบสนองต่อประเด็นนี้มากนัก แต่ได้ Sentiment เชิงลบจากทิศทางตลาดหุ้นไทย (SET Index) ที่ปรับลง 20.25 จุด หรือลดลง 1.61%DoD สู่ระดับ 1,236.10 จุด โดยราคาหุ้น 

  • บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ปรับลง 0.78%DoD จาก 191.50 บาท สู่ระดับ 190.00 บาท 
  • บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ปรับลง 1.27%DoD จาก 39.50 บาท สู่ระดับ 39.00 บาท
  • บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ปรับลง 1.18%DoD จาก 3.40 บาท สู่ระดับ 3.36 บาท

 

มุมมองระยะสั้น:

SCBS มองว่าประเด็นนี้จะช่วยคลายความกังวลในระยะสั้นต่อหุ้นกลุ่มสื่อสารได้ระดับหนึ่ง และมาตรการนี้ค่อนข้างทำได้ยาก เนื่องจาก 

 

  1. ผู้ให้บริการจะปรับลดอัตราค่าบริการให้กับลูกค้าระบบเติมเงินอย่างไร 
  2. ADVANC TRUE และ DTAC เป็นบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้นควรมีสิ่งตอบแทนให้กับบริษัทเหล่านี้เพื่อชดเชยผลกระทบต่อรายได้ ถ้าหาก กสทช. ต้องการให้ผู้ให้บริการปรับลดอัตราค่าบริการลง โดยทาง กสทช. คาดว่าจะได้ข้อสรุปจากทางผู้ให้บริการในวันพรุ่งนี้ (16 เมษายน)

 

อย่างไรก็ดี SCBS ได้ประเมินกรณีเลวร้ายบนสมมติฐานว่า ผู้ประกอบการทุกรายจะปรับลดอัตราค่าบริการของลูกค้าทุกรายลง 30% เป็นเวลา 1 เดือน พบว่า 

  • ADVANC จะได้รับผลกระทบต่อประมาณการกำไรหลังหักภาษีปี 2563 ที่ 2.5 พันล้านบาท คิดเป็น 7.7% ของประมาณการกำไรปี 2563
  • DTAC จะได้รับผลกระทบ 1.28 พันล้านบาท คิดเป็น 24.3% ของประมาณการกำไรปี 2563 
  • TRUE จะได้รับผลกระทบ 1.53 พันล้านบาท (จากเดิมคาดจะมีผลขาดทุนในปี 63 ที่ 754 ล้านบาท)

 

มุมมองระยะยาว:

สำหรับทิศทางผลประกอบการ SCBS คาดว่า ผู้ประกอบการกลุ่มสื่อสารจะได้รับผลกระทบจากรายได้บริการโรมมิ่งและยอดขาย SIM ท่องเที่ยวที่ลดลงตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากผลกระทบของมาตรการการแพร่ระบาดของโควิด-19

 

สำหรับการให้บริการ 5G SCBS ยังมีความกังวลต่อ DTAC เนื่องจากไม่มีบริการ 5G บนคลื่น 2600 MHz ซึ่งอาจทำให้ DTAC เริ่มสูญเสียลูกค้าในไตรมาส 4/64 ขณะที่การประมูลคลื่น 3500 MHz และ 28 GHz ซึ่งเป็นคลื่นที่ DTAC รอการประมูลนั้นยังไม่มีกำหนดการที่ชัดเจน ทั้งนี้ต้องติดตามว่า DTAC จะใช้กลยุทธ์ใดในการรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้ท่ามกลางการแข่งขันในอุตสาหกรรมทุ่นแรง

 

ข้อมูลเพิ่มเติม:

%YTD คือ % การเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน

%YoY คือ % การเปลี่ยนแปลงช่วงเวลาเดียวกันเทียบกับปีก่อนหน้า

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X