ใกล้ได้บทสรุปแล้วสำหรับการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีทุจริตกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ซึ่งวานนี้ (2 พ.ค.) นายอรรถพล ตรึกตรอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีทุจริตกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ได้เปิดเผยภายหลังมีการหารือร่วมกับ นายสุชาติ เดชอิทธิรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย พร้อมคณะ และพลโท โกศล ประทุมชาติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ว่าขณะนี้ทางคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงได้ประมาณ 99% แล้ว เหลือเพียงข้อมูลจากวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี และวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี จักรีรัช และข้อมูลย่อยจากโรงเรียนราชประชานุเคราะห์บางแห่งเท่านั้น
ซึ่งข้อมูลล่าสุดพบว่ามีหลักฐานการโอนเงินทั้งหมด 34 ครั้ง จำนวน 240,173,163 บาท โอนถูกต้องจำนวน 134,425,281 บาท คิดเป็น 56% และจะต้องมีการเยียวยารวมทั้งสิ้น 19,573,869.50 บาทของจำนวนเงินทั้งหมด นอกจากนั้นเป็นการโอนที่ไม่ถูกต้อง และจากการตรวจสอบยังพบว่าเป็นการโอนอ้อมหรือหมุนเงิน ซึ่งตัวเลขความเสียหายสูงสุดในขณะนี้อยู่ที่ 77,340,907 บาท โดยมีสถานศึกษาแจ้งว่าเงินขาดและทางกองทุนฯ ต้องเยียวยารวม 19,573,869 บาท โดยจากการตรวจสอบบัญชีพบว่ากองทุนฯ มีเงินซึ่งฝากอยู่ในบัญชีเงินฝากประจำ 648,398,957 บาท เพราะฉะนั้นเงินที่ได้จากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลยังอยู่ครบ และยังมีดอกเบี้ยจากเงินฝากประจำ ซึ่งคณะกรรมการกองทุนฯ จะพิจารณาอนุมัติเงินเยียวยาต่อไป
ภายหลังการแถลงความคืบหน้า นายอรรถพลให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ว่า ในฐานะผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการและประธานคณะกรรมการชุดนี้ ยอมรับว่าการตรวจสอบการทุจริตดังกล่าวทำได้ค่อนข้างยาก เพราะต้องย้อนกลับไปดูเส้นทางการเงินของแต่ละปีงบประมาณว่าจ่ายไปเท่าไรบ้าง อีกทั้งยังมีการเชื่อมโยงกับหน่วยงานภายนอกอีกจำนวนมาก เช่น วิทยาลัยพยาบาล โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ซึ่งกระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ขั้นตอนการรวบรวมเอกสารก็ทำได้ลำบาก เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นนานมาแล้ว หลายหน่วยงานไม่มีระบบการเก็บเอกสารที่ดีพอ อีกทั้งบางหน่วยงานยังใช้บัญชีเดียวรับเงินหลายประเภท ซึ่งผิดกฎเกณฑ์ของกองทุนฯ ที่ตั้งไว้ตั้งแต่แรกด้วย
แต่หลังจากใช้เวลารวบรวมเอกสารและหลักฐาน พร้อมไล่ตรวจสอบที่มาที่ไปของเงินกองทุนฯ อยู่นานนับเดือน ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการมั่นใจว่าขณะนี้เอกสารค่อนข้างสมบูรณ์ ทำให้เห็นตัวละครและเครือข่ายที่เกี่ยวพันกับการทุจริตนี้ได้อย่างชัดเจน โดยเครือข่ายการทุจริตกองทุนเสมาฯ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม 1. กลุ่มนางรจนา สินที และเครือญาติ 2. กลุ่มเพื่อนของนางรจนาขณะเรียนปริญญาโท ซึ่งหลายคนเข้าให้ปากคำแล้ว โดยยอมรับว่าได้รับโอนเงินจริง แต่ไม่ทราบว่าเป็นค่าอะไร 3. กลุ่มสมาชิกมูลนิธิที่นางรจนาเข้าไปเป็นรองประธาน 4. กลุ่มนักเรียนทุนที่มีความใกล้ชิดกับนางรจนา และถูกไหว้วานให้นำเลขที่บัญชีของเพื่อนๆ มาสวมรอยรับโอนเงิน
“เราใช้เวลาตรวจสอบจริงๆ แค่ 1 เดือน แต่ที่เสียเวลามากคือการรวบรวมเอกสาร ลองคิดดูว่าจำนวนพันกว่าเลขบัญชีที่มีการโอนเงิน เราต้องมานั่งเช็กทีละรายการว่าใครเป็นเจ้าของบัญชีบ้าง จนกระทั่งล่าสุดเราเจอชื่อเจ้าของบัญชีหมดแล้ว ที่ค้นไม่เจอมีแค่ 68 บัญชีเท่านั้น เพราะเขาปิดบัญชีหนีไปก่อน ก็เลยต้องพึ่งทาง ปปง., ป.ป.ท. และธนาคารกรุงไทย ช่วยประสานข้อมูลต่อไป”
โดยนายอรรถพลยังเผยอีกว่า ขณะนี้มีข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตประมาณ 10 ราย ซึ่งคณะกรรมการเตรียมทำข้อสรุปเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการผ่านทางปลัดกระทรวงศึกษาธิการ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในวันที่ 7 พฤษภาคมนี้
“ผมมั่นใจตั้งแต่นาทีแรกที่ผมรับงานนี้ว่าจะต้องหาคนผิดมาลงโทษให้ได้ เงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิตเป็นเงินช่วยเหลือเด็กผู้ด้อยโอกาส สิ่งที่ทำให้ผมมีพลังในการทำงานเรื่องนี้อย่างมากคือผมเคยมีชีวิตแบบนี้มาก่อน เพราะฉะนั้นความลำบากในอดีตมันเหมือนแส้ที่คอยเฆี่ยนตีให้ผมต้องทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำ เพราะฉะนั้นงานนี้ผมทุ่มหมดหน้าตัก ยังไงคนผิดก็ต้องได้รับผิด
“ผมเข้าใจหัวอกเด็กที่นั่งรอเงิน รู้เลยว่าเงินพันสองพันบาทมันมีค่ากับเขาขนาดไหน เพราะผมเคยลำบากแบบเขามาก่อน ถ้าคนอย่างผมไม่ทำเรื่องนี้ให้โปร่งใส แล้วบ้านเมืองจะหวังพึ่งใครได้ เพราะฉะนั้นงานนี้ผมทำด้วยความมุ่งมั่นกับอุดมการณ์ งานที่ออกมามันก็เลยต้องเร็วและแรง” ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวทิ้งท้าย