×

ไขคำตอบ ทำไม ‘บัตรคอนเสิร์ต’ ถึงราคาพุ่งสูงปรี๊ด! ต้นตอมาจากเงินเฟ้อที่ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นหรือไม่?

18.10.2022
  • LOADING...
บัตรคอนเสิร์ต

ท่ามกลางความคึกคักของการจัดคอนเสิร์ต เห็นได้จากเฉพาะวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมามีการจัดงานพร้อมกันนับ 10 งาน แต่เสียงที่เกิดขึ้นพร้อมกับการกรี๊ดต้อนรับศิลปินคนโปรดคือ ราคาตั๋วที่กำลังพุ่งทะยานเหมือนจรวดและยังไม่มีแนวโน้มที่จะหยุดในเร็ววัน 

 

ผู้จัดอ้าง ‘ต้นทุนเพิ่ม 15-20%’ 

ญาณกร อภิราชกมล กรรมการบริหาร บริษัท ครีเอท อินเทลลิเจ้นซ์ จำกัด หรือ ซีไอ (CI) ผู้จัดงานคอนเสิร์ตและอีเวนต์เอาต์ดอร์เฟสติวัล เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง ผู้จัดเริ่มจัดงานคอนเสิร์ต งานเฟสติวัล ทั้งศิลปินไทยและต่างประเทศอัดแน่นมาตั้งแต่เดือนกันยายน ลากยาวถึงปลายปี โดยเฉพาะไตรมาส 4 ที่เป็นไฮซีซันของการจัดงาน แน่นอนว่าผู้จัดต้องงัดจุดขายเพื่อแย่งเม็ดเงินในกระเป๋าคนดู 

 

“จะเห็นว่าบัตรคนเสิร์ตมีราคาสูงขึ้น โดยมีตัวแปรหลักจากต้นทุน ราคาน้ำมัน และเงินเฟ้อ ส่งผลให้ค่าจ้างศิลปิน ค่าลิขสิทธิ์เพลง สถานที่จัดงาน และระบบ System ที่เกี่ยวกับโชว์ต่างๆ เพิ่มขึ้น ส่งผลให้รวมๆ ราคาต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น 10-20%”

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

ยกตัวอย่างเพลงไทย ที่ผ่านมาต้นทุนค่าลิขสิทธิ์ไม่ได้สูงมากนัก แต่ปัจจุบันได้มีระบบการจัดเก็บเป็นรูปธรรมมากขึ้น ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง ขณะที่การนำศิลปินต่างประเทศเข้ามาก็มีต้นทุนสูง โดยเฉพาะค่าตัวศิลปินที่เป็นแถวหน้าของวงการ

 

เช่นเดียวกับ ‘ซีไอ’ ได้ปรับขึ้นราคาบัตรในงาน Samed in Love 2022 ที่เตรียมจะจัดขึ้นในวันที่ 29 ตุลาคม รวมถึง Season of Love Song เทศกาลดนตรีฤดูหนาว ที่จะขยับการจัดงานจากปลายเดือนพฤศจิกายนปีนี้ 

 

อีกด้านหนึ่งผู้จัดยังต้องเผชิญความท้าทายเรื่องกำลังซื้อที่ลดลง จึงต้องบริหารจัดการค่าใช้จ่าย เพื่อจะได้ไม่ต้องขึ้นราคาบัตรสูงเกินไป เพื่อดึงดูดฐานคนดู แม้อาจจะเห็นบางงานที่ผู้จัดตั้งราคาสูงๆ อาจเป็นเพราะได้ประเมินฐานลูกค้าไว้แล้ว

 

อย่างศิลปินต่างชาติ ในการออนทัวร์แต่ละครั้งราคาบัตรค่อนข้างสูง เชื่อว่าผู้จัดงานได้ศึกษากลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะวงเบอร์ใหญ่ๆ ที่มีฐานแฟนคลับจำนวนมาก โดยจะเห็นว่าเมื่อเปิดขายบัตรในวันแรก ก็ Sold Out ในทันที  

 

สำรวจพบบัตรคอนเสิร์ต ‘แพงทั่วโลก’

ราคาบัตรคอนเสิร์ตที่เพิ่มสูงขึ้นไม่ได้เป็นเทรนด์ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ในต่างประเทศ โดยเฉพาะในอเมริกา เสียงบ่นก็ได้เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน 

 

Last Week Tonight ได้ออกมาเผยว่า ราคาเฉลี่ยของคอนเสิร์ตที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษที่ 1990 ซึ่งสูงกว่าอัตราเงินเฟ้ออย่างมาก

 

โดยยอดขายบัตรคอนเสิร์ตเพิ่มขึ้น 45% จนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ของปี 2022 เทียบกับปี 2019 ตามรายงานของ Live Nation Entertainment ซึ่งเป็นโปรโมเตอร์คอนเสิร์ตที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยราคาตั๋วเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% เมื่อเทียบกับปี 2019

 

Billboard ถึงกับทำคลิปวิดีโอเพื่ออธิบายว่าทำไมราคาตั๋วคอนเสิร์ตถึงสูงมาก โดยระบุว่า ราคาตั๋วเพิ่มขึ้นตามต้นทุน เช่น พนักงาน น้ำมัน และรถบรรทุก ซึ่งล้วนประสบกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและการขาดแคลน

 

ปกติแล้วกำไรถูกแบ่งให้ศิลปิน 85% และ 15% เป็นของผู้จัด แต่ตอนนี้ศิลปินได้เพิ่มค่าตัวและรับส่วนแบ่งที่สูงขึ้น ซึ่งหากตีความตาม Billboard ก็แปลว่า ศิลปินเพียงคนเดียวกำลังบังคับราคาตั๋วให้สูงขึ้น ทำให้เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเพิ่มราคา

 

ราคาที่เพิ่มสูงนี้เองทำให้เกิดการเรียกร้องให้ควบคุมราคาตั๋วคอนเสิร์ต ซึ่งตอนนี้บางรัฐในอเมริกาได้ผ่านกฎหมายที่ควบคุมว่าใครจะเรียกเก็บเงินจากราคาตั๋วเดิมได้กี่เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ยังเป็นส่วนที่น้อยมาก

 

เพิ่ม ‘ออปชัน’ ด้วยการถ่ายรูปกับศิลปิน

ด้าน ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือ MI กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า การจัดงานคอนเสิร์ตในแต่ละครั้ง ผู้จัดส่วนใหญ่หวังกำไรจากการขายบัตร และสปอนเซอร์ใหญ่ๆ บางราย

 

สำหรับคอนเสิร์ตเกาหลีใต้หรือประเทศอื่นๆ ที่เข้ามาจัดที่ไทย ส่วนใหญ่ที่มีราคาสูง เนื่องจากผู้จัดได้คำนวณต้นทุน ทั้งค่าจ้างศิลปิน การจัดงานมาแล้ว ทั้งนี้ บัตรราคาสูงระดับ 10,000 บาทขึ้นไปจะมีออปชันพิเศษ เช่น การถ่ายรูปกับศิลปิน จับมือ หรือได้รับลายเซ็น เข้ามาตอบโจทย์แฟนคลับ ซึ่งถ้าเทียบกับในอดีตจะมีเพียงแค่ซื้อบัตรเข้าไปนั่งดูเท่านั้น

 

ขณะที่ภาพรวมการใช้เม็ดเงินสื่อโฆษณาในการโปรโมตคอนเสิร์ต ทอล์กโชว์ อยู่ที่ 164 ล้านบาท ถือว่าเติบโตขึ้นเป็น 10 เท่า ถ้าเทียบกับปี 2021 ในช่วงโควิดระบาดหนัก ที่มีการใช้เม็ดเงินอยู่ที่ประมาณ 17 ล้านบาท

 

หากย้อนกลับไปในช่วงก่อนโควิด มีการใช้เม็ดเงินในกลุ่มคอนเสิร์ตมากกว่า 1 พันล้านบาท ซึ่งคาดการณ์ว่าต้องใช้เวลามากกว่า 2 ปีขึ้นไปถึงจะรีคัฟเวอร์กลับมา เพราะปัจจุบันการจัดงานทั้งสเกลเล็ก สเกลใหญ่ อาจคึกคักมาก แต่ตัวดัชนีเม็ดเงินยังไม่ได้กลับมา รวมถึงปัจจุบันการโปรโมตจะเน้นไปใช้สื่อออนไลน์เป็นหลัก ดังนั้นสัดส่วนเม็ดเงินจะไม่ได้อยู่บนสื่อทีวีมากเหมือนในอดีต

 

เปิดลิสต์คอนเสิร์ต ‘ไตรมาส 4’ มาอีกเพียบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงไตรมาส 4 มีคอนเสิร์ตระดับโลกจากศิลปินชื่อดังกว่า 10 งาน เช่น Billie Eilish Happier Than Ever The World Tour ที่เลื่อนออกไป จากเดิมเตรียมจัดในวันที่ 6 พฤศจิกายน ตามด้วย Jackson Wang ได้จัดเวิลด์ทัวร์ Jackson Wang Magic Man World Tour 2022 Bangkok ในไทย ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2022

 

ต่อด้วย Maroon 5 World Tour 2022 ที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน ในวัน 10 ธันวาคม และ BLACKPINK เตรียมเวิลด์ทัวร์มาไทย ระหว่างวันที่ 7-8 มกราคม 2023 

 

ขณะที่ค่าย GMM Grammy มีคิวจัดงานมิวสิกเฟสติวัลกลางแจ้งตามหัวเมืองต่างๆ เช่น เชียงใหญ่เฟส 3 จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 19-20 พฤศจิกายน ตามด้วย Big Mountain Music Festival เขาใหญ่ วันที่ 10-11 ธันวาคม และนั่งเล่น มิวสิค เฟสติวัล เขาใหญ่ 17 ธันวาคม ส่วนปี 2023 เตรียมจัดงานเฉียงเหนือเฟส ขอนแก่น 4 กุมภาพันธ์ ถัดไปก็จะเป็นงาน Rock Mountain เพชรบูรณ์ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ต่อด้วยพุ่งใต้เฟส สงขลา และนั่งเล เพชรบุรี ในช่วงเดือนมีนาคม

 

ภาพ: Christian Bertrand / Shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X