×

ถอดแนวคิดวิธีสร้าง ‘ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ’ จาก SCGP สู่พฤติกรรม ‘ใช้น้อย ใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่’ อย่างยั่งยืน ของชุมชนในอำเภอบ้านโป่ง [ADVERTORIAL]

โดย THE STANDARD TEAM
14.12.2022
  • LOADING...

เคยสงสัยหรือไม่ว่า แค่ ‘แยกขยะ’ จะช่วยลดปริมาณขยะได้อย่างไร? 

 

การแยกสิ่งของให้ถูกวิธี และมีการบริหารจัดการที่ถูกต้อง เป็นจุดเริ่มต้นในการลดปริมาณ ‘ขยะ’ 

 

จะว่าไป ไอเดียการนำทรัพยากรธรรมชาติหรือวัสดุเหลือใช้กลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเป็นวิธีที่ดีที่เราจะอยู่ร่วมกับกระดาษ พลาสติก ขยะเศษอาหาร หรือแม้แต่วัสดุย่อยสลายได้อย่างสันติ  

 

 

นี่เป็นสิ่งที่ บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP องค์กรที่ให้ความสำคัญด้านการรีไซเคิลมาโดยตลอด

 

ซึ่งหนึ่งในโครงการที่ตอกย้ำแนวคิดการมุ่งสร้างสังคมไร้ขยะคือ การร่วมสร้างชุมชนต้นแบบที่มีการจัดการขยะ ด้วยการส่งเสริมความรู้ผ่านการจัดอบรม ส่งทีมงานไปช่วยในแต่ละพื้นที่ในเรื่องของการคัดแยกขยะ เพื่อหมุนเวียนนำขยะที่ดีกลับมาเป็นทรัพยากรใช้ใหม่อย่างคุ้มค่าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี โดยมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนอำเภอที่มีปัญหาขยะ ให้กลายเป็นอำเภอที่จัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่ต้นทาง   

 

 

ทำไมต้อง ‘บ้านโป่ง’?

หากพูดกันด้วยตัวเลข อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี มีจำนวนประชากรสูงถึง 173,000 คน และยังเป็นอำเภอหลักของจังหวัดที่ทำการเกษตร การค้า และมีโรงงานอุตสาหกรรมมากกว่า 600 แห่ง ส่งผลให้มีปริมาณขยะมากถึง 171 ตันต่อวัน หากไร้การจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพตั้งแต่ต้นทาง มีความเป็นไปได้ว่าที่นี่จะเป็นแหล่งผลิตขยะอันดับต้นๆ ของประเทศไทย 

 

จังหวะเหมาะที่หน่วยงานราชการมีแผนปฏิบัติการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน โดยมุ่งเน้นเรื่องการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง เริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนทัศนคติของคนในชุมชน สร้างความรู้เกี่ยวกับวิธีแยก จัดเก็บ และส่งกลับไปรีไซเคิล ซึ่ง บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP มีโรงงานผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ในพื้นที่อำเภอบ้านโป่งอยู่แล้ว และตลอดระยะเวลา SCGP ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนโครงการ CSR ของชุมชนรอบโรงงาน หรือการนำแนวปฏิบัติ SCG Circular Way เรื่องการจัดเก็บ คัดแยก และส่งขายกลับไปรีไซเคิลตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) 

 

 

ทุกอย่างลงตัวเข้าไปอีกเมื่อพบว่า ‘บ้านรางพลับ’ ชุมชนในอำเภอบ้านโป่ง มีชื่อเสียงเรื่องการจัดการขยะมานาน และยังเป็นเจ้าของรางวัลชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste) ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม SCGP จึงร่วมกับอำเภอบ้านโป่ง และ 17 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขยายผลการจัดการขยะจากชุมชนต้นแบบรางพลับ ส่งเสริมความรู้ในการจัดการขยะ โดยตั้งเป้าให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้ง 17 แห่ง มีความรู้และสามารถจัดการขยะในชุมชนของตนเองได้ ไปจนถึงการสร้างให้เกิดชุมชนต้นแบบในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งละ 1 ชุมชน และสร้างรูปแบบการจัดการขยะชุมชนระดับอำเภอได้อย่างมีประสิทธิภาพ กลายเป็นโครงการ ‘ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ’ เพื่อให้เกิดการขยายผลชุมชนต้นแบบไปทุกพื้นที่ของอำเภอ  

 

 

‘ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ’ อำเภอบ้านโป่ง ต้นแบบที่มุ่งสร้างพฤติกรรม ‘ใช้น้อย ใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่’

ความมุ่งหวังในการพัฒนาทุกชุมชนให้มีการจัดการขยะ และยกระดับเป็นบ้านโป่งโมเดล คือต้องการให้คนในชุมชนเกิดพฤติกรรม ใช้น้อย ใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่ และการนำขยะไปใช้ให้เกิดประโยชน์และเพิ่มมูลค่า และหวังที่จะสร้างต้นแบบการจัดการขยะชุมชนแบบ Zero Waste ให้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ของอำเภอ  

 

 

แต่ละชุมชนไม่เพียงแต่นำหลักการที่ได้จากชุมชนต้นแบบรางพลับมาปรับใช้ให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมและพฤติกรรมของคนในชุมชน ยังทำให้เห็นไอเดียการจัดการขยะในรูปแบบที่แตกต่าง

 

อย่างในชุมชนบ้านท่าศาลเจ้า ตำบลลาดบัวขาว พบว่ายางรถยนต์จำนวนมากจากอู่รถไถ ซึ่งโดยปกติแล้วไม่ได้มีการนำไปใช้ประโยชน์ และมักจบกระบวนการด้วยการเผาทำลายซึ่งก่อให้เกิดมลพิษ ก็มีการนำวัสดุส่วนนี้มาดัดแปลงเป็นรถมอเตอร์ไซค์ของเล่นให้กับเด็กๆ และทำกระถางต้นไม้ จึงทำให้ปริมาณขยะลดลง ลดการเผาทำลายยางรถยนต์จากการต่ออายุการใช้งานให้กับวัสดุเดิมที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว

 

ในขณะที่ชุมชนหัวทุ่งหนองโรง ที่มีการเพาะเห็ด ก็หันมาใช้ฟืนในการนึ่งเห็ดทดแทนก๊าซ LPG และนำขี้เถ้าที่ได้จากการเผาไหม้มาหมักทำน้ำด่าง ซึ่งสามารถผสมใช้ล้างจาน ซักผ้า และใช้ในครัวเรือน นอกจากนั้น เศษถ่านที่เกิดขึ้นก็นำมาอัดแท่ง ใช้เป็นพลังงานหมุนเวียน หรือขายสร้างรายได้ต่อไปได้ รวมทั้งกิ่งไม้เล็กๆ ในชุมชนก็สามารถนำมาเผาทำเป็นถ่านอัดแท่งใช้ได้เช่นกัน ถือเป็นการคิดอย่างรอบด้าน นอกจากได้พลังงานทดแทนมาใช้แล้ว ยังก่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนต่อไปได้อีก

 

และเพื่อกระตุ้นให้เกิดแรงกระเพื่อมและสร้างพฤติกรรมต่อเนื่อง อำเภอบ้านโป่งจึงจัดประกวด ‘ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ’ โดยให้ อปท. ทั้ง 17 แห่ง เลือกชุมชนหรือหมู่บ้านที่อยู่ในการปกครองมา 1 แห่ง หมู่บ้านไหนที่มีการจัดการขยะที่ดีที่สุดก็จะได้รับรางวัลชนะเลิศ

 

 

ปัจจุบัน ‘โครงการชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ’ ดำเนินโครงการเข้าสู่ปีที่ 3 โดยปี 2565 ได้ขยายผลชุมชนจัดการขยะได้รวม 61 ชุมชน สามารถลดปริมาณขยะทั่วไป และสร้างมูลค่าการจัดการขยะของชุมชนได้ ทำให้อำเภอที่เคยเผชิญปัญหาขยะล้น พลิกฟื้นเป็นเมืองแห่งความสะอาด และยังเป็นต้นแบบขยายผลไปยังชุมชนอื่นๆ พร้อมทั้งตั้งเป้าที่จะขยายผลชุมชนปลอดขยะให้ครบทั้ง 183 ชุมชนในอำเภอบ้านโป่ง ภายในปี 2573

 

 

อาจกล่าวได้ว่า ความสำเร็จของอำเภอบ้านโป่ง และการประกวด ‘ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ’ นอกจากพลังความร่วมมือของคนในอำเภอบ้านโป่งแล้ว SCGP ในฐานะองค์กรที่ตระหนักถึงความสำคัญของหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนก็มีส่วนช่วยผลักดัน ไม่ว่าจะเป็น การส่งต่อองค์ความรู้ที่จำเป็นเพื่อสร้างความเข้าใจ และสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตและการบริโภค เหล่าบุคลากรของ SCGP ที่ลงพื้นที่ และร่วมให้ความรู้อย่างใกล้ชิดในทุกชุมชน รวมไปถึงการนำนวัตกรรมต่างๆ เข้าไปช่วยให้เกิดการบริหารจัดการขยะภายในชุมชน อย่าง ‘ถังแยกเศษอาหารและไขมัน’ เพื่อคัดแยกเศษอาหารใส่ใน ‘ถังย่อยสลายเศษอาหาร’ ให้กลายเป็นปุ๋ย หรือใส่ใน ‘ถังเลี้ยงไส้เดือน’ สำหรับการจัดการเศษอาหาร เศษผัก ผลไม้ ส่วนน้ำที่ผ่านการแยกแล้ว นำไปพักไว้ที่ ‘บ่อพักรักษ์น้ำ’ เพื่อบำบัดแล้วนำมาใช้ซ้ำ เป็นต้น

 

 

 

ความสำเร็จของโมเดลนี้ หาใช่ตัวเลขของชุมชนที่ได้รับรางวัล แต่คือการสร้างพลังร่วมของคนในชุมชน ให้เห็นถึงความสำคัญของการจัดการขยะอย่างถูกวิธี เพราะเหนือสิ่งอื่นใด ‘ความร่วมมือ’ จะเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดขึ้นได้จริง 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X