×

จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อ Google วิจัย ‘คอมพิวเตอร์ควอนตัม’ สำเร็จ แก้ปัญหาซับซ้อนได้ใน 200 วินาที

25.10.2019
  • LOADING...
Google

นับเป็นการค้นพบที่สำคัญเป็นอย่างมาก ไม่ใช่แค่กับแวดวงวิทยาการคอมพิวเตอร์แต่รวมถึงมวลมนุษยชาติ เมื่อ Google ได้เปิดเผยความสำเร็จงานวิจัยหน่วยประมวลผล ‘Sycamore’ คอมพิวเตอร์ควอนตัมขั้นสูง (Quantum Supremacy) ออกมาเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ

 

Sycamore หรือหน่วยประมวลผลคอมพิวเตอร์ควอนตัม ขนาด 54 คิวบิต ที่ทาง Google พัฒนาขึ้นถูกเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ของ Google และตีพิมพ์ผ่านวารสารวิทยาศาสตร์ Nature โดยเคลมว่าสามารถวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนต่างๆ ได้ภายในระยะเวลาแค่ 200 วินาทีเท่านั้น! เร็วกว่าซูเปอร์คอมพิวเตอร์ทั่วไป ซึ่งอาจจะใช้นานแสนนานถึง 10,000 ปี

 

การค้นพบในครั้งนี้ถือเป็นหลักชัย (Milestone) ที่สำคัญเป็นอย่างมากของ Google หลังจากเมื่อ 13 ปีที่แล้วทีมงานของบริษัท นำโดยนักวิทยาศาสตร์ด้านคอมพิวเตอร์ควอนตัม ‘ฮาร์ตมุต เนเวน’ ได้เริ่มฟอร์มทีมบุกเบิกงานวิจัยเพื่อไขคำตอบว่า คอมพิวเตอร์ควอนตัมจะช่วยเร่งกระบวนการการพัฒนาแมชชีนเลิร์นนิงได้อย่างไร และนำไปสู่การตั้งทีม ‘Google AI Quantum’ ในปี 2014 เพื่อพัฒนาและวิจัยด้านคอมพิวเตอร์ควอนตัมโดยเฉพาะ

 

คำถามต่อมาคือ การค้นพบในครั้งนี้จะส่งผลอย่างไรกับคนทั่วๆ ไปอย่างเรา

 

เนเวน ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมของ Google AI Quantum บอกว่า คอมพิวเตอร์ควอนตัมของพวกเขาจะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ที่อาจจะยากเกินไปหรือไกลเกินความสามารถของคอมพิวเตอร์ทั่วไป 

 

ตัวอย่างเช่น การออกแบบแบตเตอรี่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม, ค้นหาว่าโมเลกุลแบบใดจะช่วยให้ยามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หรือแม้แต่การหาวิธีลดมลพิษจากการสร้างปุ๋ย รวมถึงยังช่วยพัฒนาศักยภาพของเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่างแมชชีนเลิร์นนิงได้ ซึ่งถือเป็นเป้าหมายใหญ่ของเนเวนในการริเริ่มวิจัยด้านนี้เมื่อ 13 ปีที่แล้ว

 

โดยต่อจากนี้ทีมงาน Google AI Quantum จะเร่งพัฒนาคอมพิวเตอร์ควอนตัมของพวกเขาต่อไป เพื่อให้หน่วยประมวลผลขั้นสูงระดับ Supremacy พร้อมสำหรับการใช้งานกับกลุ่มผู้ทำงานร่วมกับทาง Google, นักวิจัยด้านวิชาการต่างๆ ตลอดจนบริษัทที่สนใจจะร่วมพัฒนาอัลกอริทึม หรือนักวิจัยที่มีไอเดียพัฒนาและต่อยอดไปสู่การประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆ ที่จะเกิดประโยชน์ได้

 

พร้อมกันนี้ยังเปิดเผยอีกด้วยว่าจะเร่งลงทุนเพิ่มเติมในด้านคนและเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาคอมพิวเตอร์ควอนตัมแบบ ‘Fault-tolerant’ ให้สำเร็จเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เนื่องจากเทคโนโลยีของคอมพิวเตอร์ควอนตัมรูปแบบนี้จะสามารถช่วยให้นักพัฒนาสามารถคิดค้นและประดิษฐ์นวัตกรรมออกมาสู่ท้องตลาดได้

 

เช่น การออกแบบวัสดุชนิดใหม่, ทำให้น้ำหนักของแบตเตอรี่ที่ใช้ในรถยนต์และเครื่องบินมีน้ำหนักเบาลง หรือการค้นพบสูตรยารักษาโรคตัวใหม่ ซึ่งจะมีประโยชน์มหาศาลกับวิทยาการด้านการแพทย์ ช่วยย่นระยะเวลาในการคิดค้นสูตรยาให้เร็วขึ้นกว่าเดิม 

 

รวมไปถึงการพัฒนาเทคโนโลยีในการพยากรณ์อากาศที่แม่นยำ รวมถึงการพัฒนาแบบจำลองทางการเงินซึ่งมีตัวแปรเป็นจำนวนมาก เพื่อช่วยให้สามารถคาดเดาทิศทางและความเคลื่อนไหวของตลาดได้

 

“การบรรลุการพัฒนาศักยภาพในการคิดคำนวณที่จำเป็นยังต้องใช้ระยะเวลาอีกหลายปี เนื่องจาก ‘ความยาก’ ในเชิงวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ แต่พวกเราทุกคนล้วนแล้วแต่เห็นเส้นทางข้างหน้าที่ชัดเจนและพร้อมจะมุ่งไปยังเส้นทางนั้นร่วมกัน” ทีมงาน Google AI Quantum กล่าว

 

อย่างไรก็ดี ต่อประเด็นการพัฒนาคอมพิวเตอร์ควอนตัมนี้ IBM บริษัทผู้พัฒนาซูเปอร์ควอนตัมก็ออกมาโต้แย้งข้อครหาที่ Google ระบุว่า หน่วยประมวลผลของพวกเขาสามารถคิดแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ในเวลาเพียง 200 วินาที ซึ่งต่างจากซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ต้องใช้เวลามากถึง 10,000 ปีว่าไม่เป็นความจริง

 

เพราะ IBM ระบุว่า จริงๆ แล้วซูเปอร์คอมพิวเตอร์ก็สามารถแก้ไขปัญหาทั้งหมดที่ว่าได้ในระยะเวลาเพียงแค่ 2 วันครึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ 10,000 ปีอย่างที่มีการกล่าวอ้าง 

 

อีกประเด็นสำคัญที่ CNN ชี้ให้เห็นคือ การที่จีนและสหรัฐฯ ถือเป็นสองประเทศที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ควอนตัมเป็นอย่างมาก เพราะมิติเชิงลึกเบื้องหลังการพัฒนานวัตกรรมและความสามารถในการคำนวณของคอมพิวเตอร์เหล่านี้อาจต่อยอดไปสู่ความได้เปรียบในเชิงยุทโธปกรณ์ทางการทหารได้อย่างมีนัยสำคัญเลยก็ว่าได้ 

 

โดย ณ ปัจจุบัน จีนเป็นฝ่ายที่ถือไพ่เหนือสหรัฐฯ ด้านคอมพิวเตอร์ควอนตัมอยู่พอสมควร

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X