×

เลขาฯ กกต. เผยขั้นตอนสอบหุ้นสื่อพิธาซับซ้อน เป็นอำนาจคณะกรรมการไต่สวนจะเชิญเข้าแจงหรือไม่

โดย THE STANDARD TEAM
29.06.2023
  • LOADING...
แสวง บุญมี

วันนี้ (29 มิถุนายน) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น แสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบคดีหุ้นสื่อของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล ว่าเรื่องนี้มีความซับซ้อนโดยเฉพาะตัวกฎหมาย เนื่องจากมีพื้นฐานมาจากคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร ส.ส. แต่เมื่อมาปรับใช้กับเหตุการณ์สามารถดำเนินการได้หลายวิธี โดยเงื่อนไขแรก ในช่วงเวลาก่อนการเลือกตั้ง คือการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร ตามกระบวนการจะต้องส่งให้ศาลฎีกาพิจารณา โดยจะเชิญผู้สมัครมาชี้แจงหรือไม่มาชี้แจงก็ได้ ซึ่งมี 37 คดีที่ศาลได้วินิจฉัยแล้ว 

 

เงื่อนไขที่ 2 หลังการเลือกตั้ง กรณีที่เห็นว่าผู้สมัครมีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามจะดำเนินการตามมาตรา 151 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งดำเนินคดีอาญา ซึ่งจะต้องแจ้งให้กับผู้ถูกกล่าวหาเข้ามาชี้แจง โดยการดำเนินการจะต้องดูเอกสารหลักฐานอย่างครบถ้วนปราศจากข้อสงสัย แล้วดูเจตนาประกอบด้วย 

 

เงื่อนไขที่ 3 หลังประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง วิธีการคือตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งกรณีนี้จะเชิญผู้ที่มีลักษณะต้องห้ามการเป็น ส.ส. มาชี้แจงหรือไม่ก็ได้ หาก กกต. มีหลักฐานหรือเห็นเป็นความปรากฏ ซึ่งในชั้นนี้ผู้ที่สามารถวินิจฉัยได้คือศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่ กกต.

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำจะมีการเชิญพิธามาชี้แจงหรือไม่นั้น แสวงกล่าวว่าเป็นอำนาจของคณะกรรมการสืบสวนไต่สวนที่ กกต. ตั้งขึ้น ว่าจะพิจารณาให้มาชี้แจงให้ข้อมูลหรือไม่ แต่ถ้าดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ซึ่งเป็นการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะเชิญหรือไม่เชิญมาก็ได้ หากมีหลักฐานเพียงพอที่จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญ

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า มีกระแสข่าวว่า กกต. จะเชิญพิธาเข้ามาชี้แจงข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร แสวงกล่าวยืนยันว่า เป็นอำนาจของคณะกรรมการสืบสวนไต่สวน เบื้องต้นคณะกรรมการสืบสวนยังไม่รายงานรายละเอียดการดำเนินการตรวจสอบให้ กกต. พิจารณา จนกว่าจะสืบสวนเสร็จ เนื่องจาก กกต. และสำนักงานไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายและแทรกแซงการทำงานของคณะกรรมการสืบสวนได้ โดยกรอบการพิจารณา 20 วันแรกจะครบกำหนดกรอบแรกในวันที่ 3 กรกฎาคม แต่หากพิจารณาไม่เสร็จสามารถยื่นขอขยายเวลาดำเนินการอีก 15 วันผ่านเลขาธิการ กกต. เบื้องต้นยังไม่เห็นว่ามีการยื่นหนังสือขอขยายเวลาตรวจสอบ

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า กกต. ได้มีการพิจารณายื่นศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 82 บ้างแล้วหรือไม่ แสวงกล่าวว่า ก่อนที่ กกต. จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ สิ่งสำคัญ กกต. ต้องเห็นก่อน แต่ยังไม่ใช่การวินิจฉัย เพียงเห็นว่ามีข้อมูลเพียงพอเพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ซึ่งอาจใช้ข้อมูลจากคณะกรรมการสืบสวนไต่สวนก็ได้ หรืออาจตั้งคณะกรรมการเข้ามาดูเรื่องนี้โดยเฉพาะก็ได้ แต่ให้แยกว่าเป็นการตรวจสอบข้อเท็จจริงไม่ใช่การแจ้งข้อกล่าวหา เบื้องต้นขณะนี้มีผู้มายื่นร้องให้ กกต. ดำเนินการตามมาตรา 82 แล้ว ดังนั้นต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุม กกต. ว่าจะใช้วิธีการดำเนินการอย่างไร เพราะเป็นการตรวจสอบข้อเท็จจริงซึ่งจะแตกต่างจากระเบียบสืบสวนไต่สวน

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามจะต้องมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในกรณีดังกล่าวก่อนการโหวตเลือกนายกฯ หรือไม่ แสวงกล่าวว่า เมื่อ กกต. เห็นจะต้องมีการประชุมอย่างแน่นอน แต่ท่านจะต้องดูว่ามีข้อมูลพยานหลักฐานแค่ไหน เพียงพอที่จะส่งให้ศาลวินิจฉัยได้หรือไม่ ต้องมีพยานหลักฐานและต้องเห็นด้วย ส่วนจะต้องยื่นให้ศาลพิจารณาก่อนการโหวตนายกฯ นั้นไม่เกี่ยวกับประเด็นที่ กกต. ที่จะต้องมาพิจารณา 

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำอีกว่า กระบวนการทุกอย่างจะต้องแล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคมหรือไม่ แสวงกล่าวว่า สำนักงาน กกต. ทำงานตามเวลาที่ควรจะเป็น ไม่ว่าจะเป็นกรณีการตรวจสอบตามมาตรา 151 ซึ่งต้องหาพยานหลักฐานให้ครบถ้วนรวมทั้งดูเจตนาด้วย เพราะเป็นคดีอาญา ส่วนรัฐธรรมนูญมาตรา 82 กกต. ประกาศรับรองผลได้เพียง 1 สัปดาห์ และเมื่อมีผู้มายื่นร้อง กกต. ก็คงจะพิจารณา 

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ เสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา เข้าหารือ เข้ามอบหลักฐานกับ กกต. กรณีพิธา เมื่อวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้มีการพูดคุยในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง แสวงกล่าวว่า ท่านไม่ได้มาตามเรื่องพิธา แต่ท่านได้มาพูดเรื่องการเมือง การเลือกตั้งเกิดปัญหาต้องการการสนับสนุนอย่างไรบ้าง และได้นำหลักฐานประกอบคดีหุ้นพิธามามอบให้ 

 

จากนี้ สำนักงาน กกต. ก็จะนำหลักฐานไปประกอบการพิจารณาคดี ทั้งกรณีรู้อยู่แล้วว่าไม่มีคุณสมบัติแต่ยังลงสมัครรับเลือกตั้ง ตามมาตรา 151 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 และรัฐธรรมนูญมาตรา 82 กรณีสงสัยคุณสมบัติของ ส.ส. จะต้องมีการเข้าชื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งกรณีมาตรา 82 นั้นมีคนร้องเข้ามาแล้ว แต่ขณะนี้ ทางสำนักงานยังไม่ได้สรุปเรื่องส่งคณะกรรมการ อย่างไรก็ตามแสวงได้เลี่ยงการตอบคำถาม ว่าเหตุใดกรณีนี้ถึงใช้เวลานาน  

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีของพิธา กกต. สามารถดำเนินการกรณี ‘ความปรากฏต่อ กกต.’ ได้หรือไม่ แสวงกล่าวว่า ไม่ต้องมีความปรากฏเลย โช้ะเลย แต่ต้องมีหลักฐาน กกต. ไม่ใช่ผู้ตัดสิน ก่อนเลือกตั้งจะต้องส่งให้ศาลฎีกา ถ้าไม่ได้รับการเลือกตั้งก็อยู่ในชั้นศาลยุติธรรม ส่วนได้รับเลือกตั้งแล้วก็ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ เหมือน กกต. เป็นคนฟ้องว่าข้อมูลหลัก เหตุเพียงพอให้ฟ้องหรือไม่ ก็เหมือนกับกรณีส่งศาลฎีกาพิจารณากรณี 37 ผู้สมัคร ส.ส. ไม่ต้องเชิญใครมาชี้แจง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องเดียวกัน เมื่อเห็นว่าพอฟ้อง มีหลักฐานก็ฟ้อง แต่ตอนนี้ กกต. ยังไม่เห็น แต่กรณี 37 ผู้สมัคร ส.ส. นั้น กกต. เห็นแล้วก็ส่งศาลฎีกาโดยไม่ได้เชิญใครมาชี้แจง แต่กรณีการดำเนินคดีอาญาตามมาตรา 151 เป็นระเบียบสืบสวนหากมีการกล่าวหาก็ต้องเชิญผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจง 

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรณี ส.ส.เขตทวีวัฒนา-ตลิ่งชัน พรรคก้าวไกล ทำร้ายร่างกายผู้ช่วยหาเสียง หากมีเหตุทำให้พ้นสมาชิกภาพ จำเป็นต้องมีการเลือกตั้งใหม่หรือไม่ แสวงกล่าวว่า ต้องดูว่ากรณีที่เป็นข่าวจะเป็นเหตุให้ ส.ส. ว่างลงหรือไม่ ถ้าตามกฎหมายขณะนี้ยังถือเป็นการกล่าวหา อย่างไรก็ตาม กรณีตำแหน่งว่างนั้นเกิดได้ 3 กรณี 1. ตัว ส.ส. แสดงเจตจำนง 2. ว่างเพราะสภาพตามกฎหมาย กรณีคดีถึงที่สุด และ 3. พรรคดำเนินการ ซึ่งต้องรอว่าจะออกมาเป็นอย่างไร หากตำแหน่งว่างลง กกต. ก็ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ 

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า หากพรรคมีมติขับออกการดำเนินการตามกฎหมายจะเป็นอย่างไร แสวงกล่าวว่า หากพรรคขับออก การขับถูกต้องตามข้อบังคับ สมาชิกพรรคคนนั้นต้องไปหาพรรคใหม่อยู่ภายใน 30 วัน หากไม่สามารถหาพรรคได้ตามเงื่อนเวลาก็ต้องพ้นจากสมาชิก และต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ และหากลาออกจากสมาชิกพรรคจะพ้นจาก ส.ส. ทันที  

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เนื่องจากเป็นเรื่องส่วนตัวจำเป็นต้องเรียกค่าเสียหายในการจัดการเลือกตั้งใหม่หรือไม่ แสวงกล่าวว่า กกต. ก็ต้องพิจารณา เพราะกรณีการฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหาย ซึ่งแนว กกต. คือรักษาผลประโยชน์ของหลวง อย่างแรก คือถ้าเลือกตั้งสุจริต กฎหมายรองรับอยู่แล้ว หากเกิดเรื่องอื่นที่ทำให้ว่าง ถ้าเรารู้สึกว่าต้องเสียงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งก็จะมีพิจารณาใช้วิธีการทางแพ่ง ซึ่งได้ดำเนินมาหลายคดี 

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า กรณีนี้เข้าข่ายหรือไม่ แสวงกล่าวว่า ขออย่าให้ตอบแบบตรงๆ เลย แต่สำนักงานฯ รักษาผลประโยชน์ของรัฐอยู่แล้ว ซึ่งเราฟ้องแพ่งไปหลายคดีแล้วกรณีเกิดจากตำแหน่งว่าง ไม่เฉพาะคดีที่เกิดจากการเลือกตั้ง ส่วนการฟ้องชดใช้ค่าเสียหาย เรื่องการลาออกจากสมาชิกพรรคแล้วทำให้สิ้นสภาพ แสวงกล่าวว่า ยังไม่เห็นข้อเท็จจริงที่ว่าถ้าลาออก ซึ่งยังไม่เกิดขึ้น และสภาชุดที่แล้วก็ไม่มีที่ลาออกแล้วตำแหน่งว่าง 

 

แสวงยังกล่าวถึงกรณีก่อนหน้านี้ นายทะเบียนพรรคการเมืองมีความเห็นไม่รับคำร้องยุบพรรคก้าวไกลจากเหตุมีนโยบายหาเสียงแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับสั่งอัยการสูงสุดชี้แจงว่ารับหรือไม่รับคำร้องของผู้ที่ยื่นร้องเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ในชั้นของกฎหมายพรรค เราจะพิจารณาว่าการกระทำนั้นมีอำนาจให้พรรคกระทำหรือไม่ และกระทำตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ซึ่งเขียนต่างจากรัฐธรรมนูญ แต่ถ้ามีผู้เห็นว่าการกระทำนั้นใช้สิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ทำให้เป็นการล้มล้างระบบการปกครอง ต้องไปร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 49 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง จึงเป็นคนละขั้นตอนกัน และแม้นายทะเบียนพรรคการเมืองจะมีความเห็นไม่รับคำร้องกรณีดังกล่าวไปแล้ว แต่ขณะนี้นายทะเบียนฯ ก็ได้ให้สำนักงานฯ ไปตรวจสอบเพิ่มเติมว่าการกระทำตามคำร้องนั้นๆ เป็นความผิดฐานไหนอีกหรือไม่ตามกฎหมายพรรค ซึ่งยังบอกไม่ได้ว่าจะเป็นฐานความผิดใดได้อีก ขอตรวจสอบก่อน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising