×

แนวโน้มความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจไทย

12.07.2023
  • LOADING...
ธุรกิจไทย

World Competitiveness Ranking 2023 หรืออันดับความสามารถในการแข่งขันที่จัดทำโดยสถาบัน IMD (International Institute for Management Development) ชี้ให้เห็นถึงประเทศส่วนใหญ่ล้วนมีอันดับที่ดีขึ้น สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกจากสถานการณ์โควิด รวมทั้งประเทศไทยที่ปรับจากอันดับ 33 ในปีก่อนมาอยู่อันดับที่ 30 ในปี 2566 (จากทั้งหมด 64 ประเทศ) แต่ยังคงอยู่ในอันดับ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย โดยเป็นการปรับที่ดีขึ้นในทุกมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐาน ในบทความนี้จะขอกล่าวถึงมิติประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ โดยมองให้ลึกขึ้นถึงแนวโน้มของปัจจัย

 

ต่างๆ ที่เป็นโอกาสในการพัฒนาขีดความสามารถด้านนี้ให้เพิ่มขึ้น

 

IMD วิเคราะห์และจัดอันดับจาก ‘ความสามารถของประเทศในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้องค์กรธุรกิจสามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน’ โดยแบ่งปัจจัยออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่ 

 

  1. สมรรถนะทางเศรษฐกิจ เช่น ภาวะเศรษฐกิจ การค้าระหว่างประเทศ 
  2. ประสิทธิภาพของภาครัฐ เช่น ฐานะการคลัง ภาษี กฎหมายธุรกิจ 
  3. ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ เช่น ประสิทธิภาพการผลิต ตลาดแรงงาน 
  4. โครงสร้างพื้นฐาน เช่น ด้านกายภาพ ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี 

 

ทั้งนี้ IMD ใช้ทั้งข้อมูลสถิติและการสำรวจความคิดเห็นประกอบกันในการวิเคราะห์

 

ในภาพรวมทุกองค์ประกอบหนุนให้ไทยมีอันดับความสามารถในการแข่งขันดีขึ้นในปี 2566 ด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมาอยู่อันดับ 16 โดย IMD พิจารณาข้อมูลในปี 2565 พบว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ดีหลังจากวิกฤตโควิด ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐเพิ่มขึ้นเป็นอันดับที่ 24 จากกรอบการบริหารภาครัฐและกฎหมายธุรกิจที่ดีขึ้น ด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น 7 อันดับมาอยู่ที่ 23 ซึ่งไทยได้อันดับในด้านนี้ดีกว่ามาเลเซียแม้อันดับรวมของไทยจะอยู่ต่ำกว่าก็ตาม อย่างไรก็ดี โครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ ยังเป็นสิ่งที่ไทยต้องพัฒนาเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยอยู่อันดับ 43 เพิ่มขึ้นเพียง 1 อันดับ 

 

เจาะลึกในมิติประสิทธิภาพของภาคธุรกิจไทย โดยองค์ประกอบย่อยหรือเกณฑ์ที่ใช้ชี้วัดความสามารถ ได้แก่ ผลิตภาพและประสิทธิภาพ (Productivity and Efficiency) ตลาดแรงงาน (Labour Market) การเงิน (Finance) การบริหาร (Management Practices) และทัศนคติ (Attitudes & Values) ซึ่งภาพรวมมิตินี้ประเทศไทยครองอันดับ 23 ซึ่งดีกว่ามาเลเซียที่อยู่ที่อันดับ 32 แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าอินโดนีเซียแซงขึ้นมาอยู่ในอันดับ 20 ซึ่งดีกว่าไทย โดยพบว่าปัจจัยย่อยที่เป็นองค์ประกอบผลักดัน ได้แก่ ตลาดแรงงานของอินโดนีเซียโดดเด่นได้เป็นอันดับ 1 จากจุดเด่นที่มีประชากรในวัยทำงาน (Labour Force) กว่า 140 ล้านคนและค่าแรงอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ปัจจัยด้านอื่นทั้งผลิตภาพและประสิทธิภาพ รวมทั้งด้านการเงินของอินโดนีเซียอยู่ในอันดับต่ำกว่าไทย 

 

มองแนวโน้มภาคธุรกิจไทยมีศักยภาพที่เติบโตได้อีกมาก แม้เผชิญการแข่งขันที่ซับซ้อนในโลกธุรกิจยุคใหม่ ด้วยแรงส่งจากหลายปัจจัยขับเคลื่อน เริ่มจากด้านผลผลิตและประสิทธิภาพ จากปัจจัยท้าทายสำคัญที่ภาคธุรกิจต้องเผชิญ ได้แก่ การแข่งขันที่สูงและเงื่อนไขการค้าโลกยุคใหม่ โดยเฉพาะมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น อาทิ มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป ซึ่งภาคธุรกิจส่งออกไทยควรมีการเตรียมความพร้อมในการปรับตัวเข้าสู่การผลิตหรือทำธุรกิจที่คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือสิ่งแวดล้อม เนื่องจากจะถูกกีดกันทางการค้าและอาจต้องรับต้นทุนเพิ่มขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจสีเขียว 

 

นอกจากนี้ การนำดิจิทัลและเทคโนโลยีทันสมัยมาปรับใช้ในกระบวนการผลิตและการตลาดเพิ่มขึ้น อาทิ การใช้ Big Data ในการวิเคราะห์ความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภค ซึ่งจะนำไปสู่การเป็นตัวช่วยในการกำหนดกลยุทธ์ในโลกการตลาดที่เน้นความต้องการแบบเฉพาะเจาะจง (Personalization) มากขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งการให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ และการสร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง ตลอดจนในการลงทุนใหม่ควรมองโอกาสลงทุนในธุรกิจอุตสาหกรรมที่เป็นไปในทิศทางของ S-Curve และ New S-Curve ซึ่งจะได้สิทธิประโยชน์ต่างๆ จากการที่ภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมดังกล่าวเพื่อเป็นเครื่องยนต์ใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเป็นอุตสาหกรรมที่ตอบโจทย์โลกการค้ายุคใหม่ 

 

ด้านตลาดแรงงานของไทยเป็นปัจจัยการผลิตที่ฟื้นตัวได้เร็ว สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 ในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และจำนวนผู้ว่างงานปรับลดลงใกล้เคียงระดับก่อนสถานการณ์โควิด อย่างไรก็ดี ในอนาคตตลาดแรงงานไทยยังคงมีความท้าทายด้านต่างๆ ที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมพร้อมรองรับ ได้แก่ 1. การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์ สิ่งที่จะตามมาคือการขาดแคลนประชากรวัยแรงงานทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม และภาคบริการ โดยแรงงานที่มีแนวโน้มความต้องการสูงขึ้นมากในระยะยาว คือแรงงานในภาคบริการและแรงงานประเภทแรงงานทักษะสูงในอุตสาหกรรมไฮเทคต่างๆ 2. เทคโนโลยีทรานส์ฟอร์เมชัน รวมถึงความต้องการทักษะแรงงานใหม่ๆ และรูปแบบการทำงาน พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ภาคธุรกิจและแรงงานต้องวางแผนรับมือให้พร้อมทั้งในโลกการทำงานปัจจุบันและอนาคตที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และ 3. กระแสธุรกิจใหม่ ทำให้ความต้องการแรงงานที่มีทักษะเฉพาะด้านเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น การยกระดับและเรียนรู้ทักษะใหม่ (Up-Skill & Re-Skill) จึงเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับแรงงานเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในอนาคต 

 

ในด้านการเงิน ภาพรวมระบบธนาคารพาณิชย์มีความแข็งแกร่งเป็นกลไกสนับสนุนทางการเงินแก่ภาคธุรกิจได้ดี โดยในปี 2565 ยอดสินเชื่ออยู่ที่ 18.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากช่วงสถานการณ์โควิด ในช่วงปี 2563-2564 และการระดมทุนในตลาดทุนมีแนวโน้มที่ดีเช่นกัน สะท้อนจากมูลค่าตลาดทั้งตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้อยู่ที่ 35.7 ล้านล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 10% สำหรับในปี 2566 คาดความต้องการสินเชื่อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังเพิ่มขึ้นในเกือบทุกสาขาธุรกิจ โดยเฉพาะภาคการผลิต อาทิ ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และธุรกิจบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี ต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อาจส่งผลให้ความต้องการสินเชื่อของภาคธุรกิจไม่ขยายตัวในอัตราเร่ง แต่เชื่อว่าจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของภาคธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ คุณภาพสินเชื่อของธุรกิจในภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี

 

การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในมิติด้านอื่นๆ ทั้งสมรรถนะด้านเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของภาครัฐ และโครงสร้างพื้นฐานเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการควบคู่ไปพร้อมๆ กัน เพื่อเป็นปัจจัยหรือสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ภาคธุรกิจมีศักยภาพในการเติบโตและมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น จนนำไปสู่การมีอันดับความสามารถในการแข่งขันในภาพรวมที่ดีขึ้นต่อเนื่องในอนาคต

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X