เว็บไซต์ข่าว Global Times รายงานว่า ฤดูกาลทุเรียนปีนี้ในจีนกลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนโลกออนไลน์ ที่บรรดาชาวเน็ตจีนแบ่งปันประสบการณ์กล่องสุ่มทุเรียน (Durian Blind Boxes) กันอย่างสนุกสนาน เพื่อวัดดวงกันว่าใครจะโชคดีได้ทุเรียนเนื้อดี ส่วนใครที่ดวงไม่ถึงก็ได้ทุเรียนเนื้อเละเหี่ยว
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนถึงช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ยอดขายทุเรียนบนแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารของจีนอย่าง Meituan เพิ่มขึ้น 711% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2022 โดยยอดขายในอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ทางตอนกลางของจีน เพิ่มขึ้น 20 เท่าเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
ขณะที่ตัวเลขทางสถิติแสดงให้เห็นว่าจีนนำเข้าผลไม้ทุเรียนในปีนี้มากกว่าปีก่อนหน้ามาก โดยสำนักงานศุลกากรจีน (GAC) ระบุว่าลูกทุเรียนสดจำนวน 91,000 ตันถูกนำเข้าในไตรมาสแรกของปี 2023 เพิ่มขึ้น 154.3% จากปีที่แล้ว
รายงานระบุว่าการเติบโตของการนำเข้าทุเรียนได้รับความช่วยเหลือจากการเชื่อมโยงการค้าที่เพิ่มขึ้นของจีนกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ที่ต่างเพิ่มความพยายามในการขยับขยายผลผลิตของตนเข้าสู่ตลาดจีน
Hong Yong ผู้เชี่ยวชาญจาก Think Tank ‘Digital Real Economy Integration Forum 50’ กล่าวว่า การนำเข้าทุเรียนที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ได้รับแรงหนุนจากความต้องการผลไม้นำเข้าที่เพิ่มขึ้นและการดำเนินนโยบายนำเข้าและการลดภาษี มาตรการส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจนำเข้าทุเรียน
นับตั้งแต่ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีผลบังคับใช้ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระดับภูมิภาคได้เติบโตขยายตัวในระดับทวีคูณ เห็นได้จากสินค้าเกษตรจากอาเซียนที่ทะลักเข้าสู่ตลาดจีนเพิ่มมากขึ้น และได้รับการตอบรับอย่างดี
ทั้งนี้ ในเดือนกรกฎาคมปี 2022 ที่ผ่านมา ทุเรียนสดของเวียดนามได้รับอนุญาตให้เข้าสู่ตลาดจีนอย่างเป็นทางการ และในเดือนมกราคมปีนี้ ทางศุลกากรจีนเริ่มอนุญาตให้นำเข้าทุเรียนสดจากฟิลิปปินส์แล้ว ทำให้ปัจจุบัน ไทย มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ กลายเป็นซัพพลายเออร์หลักในการส่งออกทุเรียนไปยังประเทศจีน
Dole Food Co ผู้นำเข้ารายใหญ่กล่าวกับ Global Times ว่าฤดูกาลผลิตทุเรียนจากฟิลิปปินส์อยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน และตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงตุลาคมของทุกปี ซึ่งเข้ามาชดเชยกับตลาดทุเรียนไทยที่ขาดช่วงไปพอดี
ด้าน Chen Jia นักวิจัยอิสระด้านยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศกล่าวว่า การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและความเชื่อมโยงภายใต้โครงการ Belt and Road Initiative (BRI) และ RCEP ทำให้การขนส่งผลไม้ไปยังประเทศจีนง่ายขึ้นมากสำหรับผู้ส่งออก ซึ่งขับเคลื่อนธุรกิจ เช่น กรณีเส้นทางรถไฟ
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ‘รถไฟผลไม้’ ที่บรรทุกทุเรียนและมังคุด 23 ตู้มาถึงเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เนื่องจากผู้ส่งออกไทยหันไปใช้บริการรถไฟจีน-ลาวมากขึ้นเพื่อเข้าถึงตลาดจีนอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ การขนส่งทุเรียนที่ต้องแข่งกับเวลา ด้วยเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ทำให้ปัจจุบัน สินค้าสามารถไปถึงคุนหมิงได้ภายใน 3 วันหลังจากขนส่งผ่านทางรถไฟเส้นทางจีน-ลาวจากฝั่งไทย
ขณะที่ข้อมูลของ Dole Food Co พบว่า จีนเป็นผู้บริโภคทุเรียนรายใหญ่อันดับ 3 รองจากอินโดนีเซียและมาเลเซีย และคาดว่าจีนจะกลายเป็นผู้บริโภคทุเรียนรายใหญ่ที่สุดภายในปี 2030
ทุเรียนเป็นผลไม้ที่จีนนำเข้ามหาศาลในปี 2022 โดยมีมูลค่าถึง 4,030 ล้านดอลลาร์ โดยนำเข้า 825,000 ตัน เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจากปี 2014
สำหรับการส่งออกทุเรียนไปยังตลาดจีนคาดว่าจะเติบโตแบบทวีคูณโดยได้รับการสนับสนุนจากการดำเนินการอย่างต่อเนื่องของ BRI และ RCEP และประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ต่างก็พยายามยกระดับความพยายามเพื่อคว้าตลาดจีน
สำนักงานพาณิชย์ของสถานกงสุลไทยในหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ทางตอนใต้ของจีน กล่าวว่า ด้วยการดำเนินการตามข้อตกลง RCEP ที่มีประสิทธิภาพและช่องทางการขนส่งและพิธีการศุลกากรที่มีประสิทธิภาพและสะดวก คาดว่าการส่งออกทุเรียนไทยไปยังจีนจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอนาคต
ตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ของไทยจีนเป็นตลาดส่งออกทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดของไทยในปี 2022 คิดเป็น 96% ของการส่งออกทั้งหมด ขณะที่กรมวิชาการเกษตรของฟิลิปปินส์ระบุว่า ฟิลิปปินส์ตั้งเป้าส่งออกผลทุเรียนสดคุณภาพระดับพรีเมียมไปยังจีนอย่างน้อย 54,000 ตันในปีนี้
อ้างอิง: