×

เปรียบเทียบข้อมูลวัคซีนโควิดในวัยรุ่น 12-17 ปี

20.09.2021
  • LOADING...

COVID vaccine data

 

ตุลาคม 2564 กระทรวงสาธารณสุขจะเริ่มฉีดวัคซีน Pfizer-BioNTech ให้กับวัยรุ่นอายุ 12 ปีขึ้นไป เพื่อเตรียมเปิดโรงเรียนในภาคเรียนหน้า แต่ผู้ปกครองหลายท่านน่าจะยังกังวลว่าควรให้บุตรหลานฉีดวัคซีนหรือไม่ หลายท่านน่าจะอยากให้ฉีด แต่ก็จะมีความสงสัยต่ออีกว่าควรฉีดวัคซีนยี่ห้อไหน ซึ่งตอนนี้น่าจะได้ยินอยู่ 2 ชนิด ระหว่างวัคซีนชนิด mRNA และวัคซีนชนิดเชื้อตาย

 

ประเด็นสำคัญคือ วัคซีนปลอดภัยหรือไม่ และมีประสิทธิผลหรือเปล่า โดยปกติแต่ละประเทศจะมีหน่วยงานเกี่ยวกับอาหารและยาพิจารณาประเด็นเหล่านี้ เพราะกฎหมายกำหนดให้บริษัทต้องยื่นขออนุญาต และหน่วยงานนั้นต้องพิจารณาว่าจะอนุมัติให้ใช้ได้หรือไม่ เดิมวัคซีนโควิดอนุมัติให้ใช้ในผู้มีอายุตั้งแต่ 16-18 ปีขึ้นไป แต่ถ้าบริษัททำการวิจัยในเด็กเพิ่มเติม ก็สามารถยื่นขยายกลุ่มอายุได้

 

ปัจจุบันในประเทศไทยมีวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติจาก อย.ให้ใช้ในวัยรุ่น 12 ปีขึ้นไปแล้ว 2 ยี่ห้อ คือ Pfizer และ Moderna เช่นเดียวกับในแคนาดาและสหภาพยุโรป (อนุมัติวัคซีน Pfizer ตั้งแต่พฤษภาคม 2564 และอนุมัติวัคซีน Moderna ในอีก 2 เดือนถัดมา ปัจจุบันฝรั่งเศส อิตาลี สเปน ฉีดวัคซีนในวัยรุ่นเกือบ 70% แล้ว) ส่วนในสหรัฐอเมริกาอนุมัติวัคซีน Pfizer เพียงยี่ห้อเดียว 

 

ในขณะที่วัคซีน Sinopharm ยื่นขออนุมัติจาก อย. เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2564 เพื่อขยายกลุ่มอายุเป็นตั้งแต่ 3 ขวบขึ้นไป แต่เมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ประชุมยังไม่อนุมัติ เนื่องจากทางบริษัทส่งเอกสารข้อมูลการวิจัยในระยะที่ 1-2 มา จึงยังสรุปเรื่องความปลอดภัยไม่ได้ และต้องรอให้บริษัทส่งข้อมูลการวิจัยในระยะที่ 3 เพิ่มเติม เพราะเป็นระยะที่ติดตามประเด็นความปลอดภัยและประสิทธิผลในประชากรจำนวนมาก

 

อย่างไรก็ตาม ประเทศที่อนุมัติการฉีดวัคซีน Sinopharm ในวัยรุ่นแล้ว ได้แก่ จีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ส่วนชิลีอนุมัติวัคซีน Sinovac ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายอีกยี่ห้อหนึ่ง ถึงตรงนี้อาจมีคำถามว่าแล้วองค์การอนามัยโลก (WHO) อนุมัติวัคซีนอะไร? คำตอบคือขณะนี้ยังมีวัคซีน Pfizer ยี่ห้อเดียว แต่แนะนำให้ฉีดก็ต่อเมื่อประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มเป็นสัดส่วนมากพอแล้ว

 

สำหรับผลการศึกษาในระยะที่ 1-3 สรุปได้ดังตาราง ประโยชน์ของวัคซีนสามารถพิจารณาได้จาก 1. ผลการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในระยะที่ 2 โดย NT50 เป็นการทดสอบระดับภูมิคุ้มกันที่สามารถยับยั้งไวรัสให้ห้องทดลอง พบว่าวัคซีน Moderna กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงที่สุด รองลงมาเป็น Pfizer และ Sinopharm แต่เป็นการทดสอบกับไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิม หากเป็นสายพันธุ์เดลตาน่าจะลดลง

 

และ 2. ประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อในระยะที่ 3 ซึ่งเป็นผลการป้องกันในคน ทั้งวัคซีน Pfizer และ Moderna สามารถป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการได้ 100% ทั้งนี้ เป็นการศึกษาที่สหรัฐอเมริกาในช่วงก่อนสายพันธุ์เดลตาจะระบาด แต่ถ้าเทียบกับประสิทธิผลในผู้ใหญ่ ประสิทธิผลในเด็กก็อาจลดลงไม่มากนัก ในขณะที่วัคซีน Sinopharm ยังไม่มีผลการศึกษาในระยะที่ 3 ออกมา

 

ความเสี่ยงของวัคซีน ผลข้างเคียงของวัคซีน Sinopharm ไม่ว่าจะเป็นไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ มีสัดส่วนน้อยกว่าวัคซีน Pfizer หรือ Moderna อย่างชัดเจน ส่วนผลข้างเคียงของวัคซีนชนิด mRNA ที่หลายคนกังวลคือ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ พบหลังจากฉีดเข็มที่ 2 สำหรับวัคซีน Pfizer พบประมาณ 20 รายต่อการฉีดวัคซีน 1 ล้านโดส ส่วนวัคซีน Moderna ไม่มีข้อมูลในกลุ่มอายุ 12-15 ปี

 

โดยสรุป สำหรับเด็กวัยรุ่น 12 ปีขึ้นไป วัคซีน Pfizer และ Moderna ผ่านการศึกษาในระยะที่ 3 มาแล้ว อยู่ระหว่างการติดตามประสิทธิผลในระยะยาว รวมถึงผลข้างเคียงที่พบยาก ซึ่งไม่สามารถตรวจพบในการศึกษาระยะที่ 3 ส่วนวัคซีน Sinopharm ยังมีข้อมูลถึงระยะที่ 2 ซึ่งยังมีกลุ่มตัวอย่างไม่มาก ทั้งนี้ ข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนโควิดยังเปลี่ยนแปลงได้ตามหลักฐานงานวิจัยในอนาคต

 

ภาพประกอบ: ธิดามาศ เขียวเหลือ

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X