เปรียบเทียบวัคซีน Sinopharm วัคซีนทางเลือกที่กำลังจะมีการนำเข้าโดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ระหว่างวัคซีนที่ผลิตจากบริษัทที่ ‘อู่ฮั่น’ กับ ‘ปักกิ่ง’ เพราะถึงแม้จะเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายเหมือนกัน แต่ใช้ไวรัสโควิด-19 คนละสายพันธุ์ในการผลิต โดยวัคซีนที่ผลิตจากบริษัทที่ปักกิ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่า และได้รับการอนุมัติขึ้นทะเบียนจากองค์การอนามัยโลก (WHO) แล้ว
วัคซีน Sinopharm มี 2 แหล่งผลิตคือบริษัทที่อู่ฮั่น (Wuhan Institute of Biological Products) ใช้ชื่อวัคซีนว่า WIBP-CorV ผลิตจากไวรัสสายพันธุ์ WIV04 ส่วนบริษัทที่ปักกิ่ง (Beijing Institute of Biological Products) ใช้ชื่อวัคซีนว่า BBIBP-CorV ผลิตจากไวรัสสายพันธุ์ HB02 แต่ทั้ง 2 สายพันธุ์นี้เป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมที่แยกจากผู้ป่วยในเมืองอู่ฮั่น
วัคซีนเชื้อตายจากไวรัสทั้ง 2 สายพันธุ์ได้รับการศึกษาในมนุษย์เฟส 1/2 ในประเทศจีน และเฟส 3 ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และบาห์เรน เพิ่งตีพิมพ์ผลการศึกษาในวารสารทางการแพทย์ JAMA เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 พบว่าการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการมากกว่าการฉีดเพียงเข็มเดียว ดังนี้
ประสิทธิภาพของวัคซีนเข็มที่ 1
- บริษัทที่อู่ฮั่น 50.3% (33.6-62.7)*
- บริษัทที่ปักกิ่ง 65.5% (52.0-75.1)*
ประสิทธิภาพของวัคซีนเมื่อฉีดครบ 2 เข็ม
- บริษัทที่อู่ฮั่น 72.8% (58.1-82.4)*
- บริษัทที่ปักกิ่ง 78.1% (64.8-86.3)*
แต่วัคซีนทั้ง 2 สายพันธุ์มีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการรุนแรง 100% (ต้องระมัดระวังการแปลผล เนื่องจากในการศึกษาพบผู้ป่วยอาการรุนแรงเพียง 2 รายในกลุ่มควบคุม) ส่วนอาการข้างเคียงภายใน 7 วันหลังได้รับวัคซีน พบว่าสัดส่วนของผู้ที่มีอาการใกล้เคียงกัน ส่วนใหญ่เป็นอาการเพียงเล็กน้อย เช่น ปวดบริเวณที่ฉีด ปวดศีรษะ ซึ่งสามารถหายได้เอง
ทั้งคู่ได้รับการรับรองจากทางการจีนแล้ว แต่วัคซีน Sinopharm จากบริษัทที่ปักกิ่งได้รับอนุมัติขึ้นทะเบียนการใช้กรณีฉุกเฉิน (EUL) จากองค์การอนามัยโลก เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 ในขณะที่วัคซีนจากบริษัทที่อู่ฮั่นอยู่ระหว่างการยื่นเอกสารแสดงความสนใจ (EOI) จึงต้องจับตามองว่าวัคซีนทางเลือกที่กำลังจะมีการนำเข้าในไทยเป็นวัคซีนจากแหล่งใด
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก อย. เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2564 ระบุว่าวัคซีน COVILO ของ Sinopharm นำเข้าโดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด อยู่ระหว่างประเมินคำขอขึ้นทะเบียน ซึ่งงานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสารเครือ Nature ระบุว่าวัคซีน COVILO พัฒนาโดยบริษัท Sinopharm ที่อู่ฮั่น แต่เอกสารของ WHO เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ระบุว่าเป็นชื่อการค้าของ BBIBP-CorV ที่ปักกิ่ง
หมายเหตุ: *วงเล็บช่วงความเชื่อมั่น 95% (95% CI)
ภาพประกอบ: เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง:
- Safety and immunogenicity of an inactivated SARS-CoV-2 vaccine, BBIBP-CorV: a randomised, double-blind, placebo-controlled, phase 1/2 trial https://www.thelancet.com/journals/laninf/article/PIIS1473-3099(20)30831-8/fulltext
- Effect of an Inactivated Vaccine Against SARS-CoV-2 on Safety and Immunogenicity Outcomes: Interim Analysis of 2 Randomized Clinical Trials https://jamanetwork.com/journals/jama/fullarticle/2769612
- Effect of 2 Inactivated SARS-CoV-2 Vaccines on Symptomatic COVID-19 Infection in Adults: A Randomized Clinical Trial https://jamanetwork.com/journals/jama/fullarticle/2780562
- COVID-19 Vaccines: A Review of the Safety and Efficacy of Current Clinical Trials https://www.mdpi.com/1424-8247/14/5/406/pdf
- China gives conditional approval to Sinopharm COVID-19 vaccine https://www.reuters.com/world/china/view-3-china-gives-conditional-approval-sinopharm-covid-19-vaccine-2020-12-31/
- China approves two more domestic COVID-19 vaccines for public use https://www.reuters.com/article/us-health-coronavirus-china-vaccine-idUSKBN2AP1MW
- Status of COVID-19 Vaccines within WHO EUL/PQ evaluation process https://extranet.who.int/pqweb/sites/default/files/documents/Status_COVID_VAX_18May2021.pdf
- COVID-19 vaccines: progress and understanding on quality control and evaluation https://www.nature.com/articles/s41392-021-00621-4
- Interim recommendations for use of the inactivated COVID-19 vaccine BIBP developed by China National Biotec Group (CNBG), Sinopharm https://apps.who.int/iris/rest/bitstreams/1346940/retrieve