ปัญหามลพิษทางอากาศทวีความรุนแรงมากขึ้น แต่ที่ผ่านมาการแก้ปัญหายังเป็นแบบเดิม ภายใต้หน่วยงานที่ไม่บูรณาการ กฎหมายล้าสมัยไม่ช่วยให้ปัญหา PM2.5 ทุเลาลง
เพื่อคืนอากาศสะอาดให้กับประชาชน บรรดาภาครัฐ การเมือง และประชาชน ต่างพยายามขับเคลื่อนกฎหมายในแบบฉบับของตัวเอง และร่วมกันทำให้เกิดร่างกฎหมายอากาศสะอาดที่ก้าวไปอีกขั้น วานนี้ (11 มกราคม) มีร่างกฎหมายที่เข้าสู่การพิจารณาของสภาถึง 7 ฉบับด้วยกัน
โดย ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ ทั้ง 7 ฉบับ ประกอบด้วย
- ร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. …. หรือ พ.ร.บ.อากาศสะอาดฉบับประชาชน โดยเครือข่ายอากาศสะอาด หรือร่างฉบับประชาชน
- ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน พ.ศ. …. โดย จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ กับคณะ หรือร่างฉบับเพื่อไทย
- ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ. …. โดย อนุทิน ชาญวีรกูล กับคณะ พรรคภูมิใจไทย
- ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. ของสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) เสนอโดย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) หรือร่างฉบับรัฐบาล
- ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน โดย ตรีนุช เทียนทอง และคณะ พรรคพลังประชารัฐ
- ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ พ.ศ. …. โดย วทันยา บุนนาค และคณะ พรรคประชาธิปัตย์
- ร่าง พ.ร.บ.ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน พ.ศ. .… โดย ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ และคณะ พรรคก้าวไกล
แม้ร่างกฎหมายจะเพิ่งเข้าสู่การพิจารณาวาระที่ 1 ในการรับหลักการ และยังต้องรอการอภิปรายพร้อมลงมติในสัปดาห์หน้า แต่การอภิปรายนับว่าเป็นไปในทิศทางบวก คาดว่าจะมีการเห็นชอบร่างทั้ง 7 ฉบับ ซึ่งก็ยังต้องผ่านอีกหลายขั้นตอนกว่าจะมีกฎหมายเพื่อควบคุมคุณภาพอากาศออกมาบังคับใช้ได้จริง
THE STANDARD รวบรวมร่างกฎหมายอากาศสะอาดทั้ง 7 ฉบับ มาเปรียบเทียบจุดเด่น ความแตกต่างของแต่ละฉบับ เพื่อการจัดการปัญหาฝุ่นควันในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะอากาศสะอาดต้องเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของเราทุกคน
ภาพประกอบ: ธิดามาศ เขียวเหลือ