×

เทียบฟอร์ม ‘3 หุ้นลีสซิ่ง’ ท่ามกลางวิกฤตโควิด โบรกชู MTC พื้นฐานแกร่ง แนวโน้ม ‘สินเชื่อ-กำไรสุทธิ’ เติบโตสูง

24.08.2021
  • LOADING...
3 Leasing Shares

‘หุ้นลีสซิ่ง’ นับเป็นหนึ่งในกลุ่มที่เผชิญปัจจัยลบจากการระบาดของโรคโควิดที่ลากยาวมานานกว่า 4 เดือน อีกทั้งยังเผชิญแรงกดดันจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทยอยประกาศใช้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการยืดเวลาผ่อนชำระหนี้ การลดค่างวดในการชำระหนี้ รวมไปถึงการพักชำระหนี้ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นกลุ่มลีสซิ่งในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทำให้แกว่งตัวในทิศทางขาลง

 

ทีมข่าว THE STANDARD WEALTH พาไปสำรวจความเคลื่อนไหวของ 3 หุ้นในกลุ่มลีสซิ่ง คือ บมจ.ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น (SAWAD), บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล (MTC), และ บมจ.เงินติดล้อ (TIDLOR) พบว่า หุ้นเหล่านี้ยังพอที่จะให้ผลตอบแทนแก่ผู้ลงทุนในระดับ 7% นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ในขณะที่หุ้น TIDLOR ให้ผลตอบแทนราว 5% เมื่อเทียบกับราคาที่เสนอขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) 

 

สำหรับหุ้น SAWAD ช่วงไตรมาสแรก ราคาหุ้นปิดการซื้อขายที่ระดับ 85.25 บาท โดยระหว่างช่วงไตรมาสแรก ราคาหุ้นพุ่งขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 89.25 บาท ณ วันที่ 8 มีนาคม ซึ่งเป็นการไตร่ระดับขึ้นจากจุดต่ำสุดที่ 62.25 บาท ณ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ โดยในเวลานั้นหุ้น SAWAD มีค่า P/E อยู่ที่ 25.97 เท่า ขณะที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม (มาร์เก็ตแคป) อยู่ที่ 1.17 หมื่นล้านบาท และมีสินทรัพย์รวม ณ สิ้นไตรมาสแรกอยู่ที่ 5.36 หมื่นล้านบาท

 

ราคาหุ้น SAWAD ยังเดินหน้าสร้างสถิติสูงสุดใหม่ในไตรมาส 2 โดยขยับขึ้นไปแตะระดับ 94.25 บาท เมื่อวันที่ 20 เมษายน ก่อนจะปรับตัวลดลงมาจากการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่จากคลัสเตอร์ทองหล่อ ซึ่งต่อมาได้แพร่กระจายออกไปในวงกว้าง อันเป็นผลจากการเดินทางท่องเที่ยวและกลับบ้านของประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพราะในขณะนั้นยังไม่มีการประกาศมาตรการล็อกดาวน์

 

การระบาดของโควิดระลอกใหม่กดดันให้ราคาหุ้น SAWAD ปรับตัวลดลงสู่จุดต่ำสุดของไตรมาสนี้ที่ 67.50 บาท (28 พฤษภาคม) และปิดการซื้อขายสิ้นไตรมาสที่ราคา 68.75 บาท ค่า P/E ของหุ้น SAWAD ปรับตัวลดลงเหลือ 19.52 เท่า ส่วนมาร์เก็ตแคปหดหายเหลือ 9.44 หมื่นล้านบาท กระทั้งปัจจุบัน (24 สิงหาคม) ราคาหุ้น SAWAD ยังคงถูกกดดันจากปัจจัยลบโดยเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 69.50 บาท ลดลง 26.25% จากระดับสูงสุดที่เคยทำไว้ 

 

ส่วนความเคลื่อนไหวราคาหุ้น MTC เปิดศักราชใหม่ปี 2564 ที่จุดสุดต่ำ 57 บาท (4 มกราคม) ก่อนจะพุ่งขึ้นไปทำจุดสูงสุดในไตรมาสแรกที่ 73.75 บาท (8 มีนาคม) และยังคงยืนสูงกว่าระดับ 70 บาทได้ในช่วงเดือนเมษายน แต่ผลกระทบจากวิกฤตโควิดรอบใหม่ฉุดราคาหุ้น MTC ลงทำจุดต่ำสุดที่ 54.74 บาทในไตรมาสที่ 2 (13 พฤษภาคม) และแม้ล่าสุดราคาจะขยับขึ้นมาปิดที่ 62.75 บาท (24 สิงหาคม) ได้ แต่พบว่าราคาหุ้น MTC มีการปรับตัวลดลงราว 15% จากระดับสูงสุดที่เคยทำไว้เช่นกัน

 

ขณะที่หุ้น TIDLOR หุ้นลีสซิ่งน้องใหม่ที่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นทำจุดสูงสุดที่ 55.50 บาท จากราคา IPO ที่เสนอขายให้กับประชาชนทั่วไป 36.50 บาท นับเป็นหุ้นลีสซิ่งที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบมากที่สุด ฉุดให้ราคาปรับตัวลดลงต่ำกว่าราคาจองก่อนจะขยับขึ้นมายืนที่ 39 บาทได้ในปัจจุบัน (24 สิงหาคม) โดยราคาหุ้นลดลงจากจุดสูงสุดราว 30%

 

เอนกพงศ์ พุทธาภิบาล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า หากเปรียบเทียบความน่าสนใจของหุ้นลีสซิ่งทั้ง 3 บริษัทพบว่า หุ้น MTC มีความน่าสนใจมากที่สุด เนื่องจากพอร์ตสินเชื่อมีการเติบโตต่อเนื่อง สอดคล้องกับนโยบายการขยายสาขา และการให้ความสำคัญกับการปล่อยสินเชื่อรถจักรยานยนต์ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง และการปรับเรตการจัดเก็บอัตราดอกเบี้ยจาก 15% เป็น 16% ซึ่งจะส่งผลดีต่อความสามารถในการทำกำไรในอนาคต

 

โดย 6 เดือนแรกของปี 2564 ที่ผ่านมา MTC มีสินทรัพย์รวม 8.65 หมื่นล้านบาท สินทรัพย์ส่วนใหญ่เป็นพอร์ตสินเชื่อ ขณะที่มีหนี้สินรวม 6.4 หมื่นล้านบาท โดยมีรายได้รวม 7.75 พันล้านบาท มีกำไรสุทธิ 2.64 พันล้านบาท และมีอัตราการทำกำไรสุทธิสูงถึง 34.10% ซึ่งประเมินว่าทั้งปี 2564 นี้ MTC จะมีกำไรสุทธิ 5.47 พันล้านบาท เติบโตได้ 5% และเพิ่มเป็น 6.45 พันล้านบาท คิดเป็นการเติบโตถึง 18% ในปี 2565

 

สำหรับหุ้น SAWAD พบว่าพอร์ตสินเชื่อในไตรมาส 2 ที่ผ่านมาเติบโตเพียงเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ลดลงถึง 49% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ถือเป็นการปรับตัวลดลงอย่างมาก ภายหลังการปรับโครงสร้างลดการถือหุ้นในธุรกิจเงินสดทันใจเหลือ 50% โดยเปิดโอกาสให้ธนาคารออมสินเข้ามาถือหุ้นในสัดส่วนที่เท่ากัน ทำให้ในปีนี้คาดว่า SAWAD จะมีกำไรสุทธิราว 4.93 พันล้านบาท เติบโต 9.5% และขยับเป็น 5.40 พันล้านบาท คิดเป็นการเติบโต 9.4% ในปีหน้า

 

“ปีนี้ SAWAD ดูเหมือนจะเติบโต แต่จริงๆ มาจากกำไรพิเศษจากการขายธุรกิจเงินสดทันใจ รับรู้เป็นกำไรประมาณ 200 ล้านบาท ถ้าหักส่วนนี้ออกไปก็น่าจะเติบโตไม่ถึง5%”

 

สำหรับหุ้น TIDLOR ภายหลังการประชุมร่วมกันระหว่างผู้บริหารบริษัทและนักวิเคราะห์เมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา พบว่าการปล่อยสินเชื่อจะเติบโตได้ช้ากว่าเป้าหมาย โดยมุมมองของผู้บริหารคาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งจะส่งผลกระทบให้ลูกหนี้ชะลอการขอกู้ยืม เพราะไม่มั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจและธุรกิจ ขณะเดียวกันยังพบว่ารายได้จากธุรกิจประกันในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ไม่ได้เติบโตตามเป้าหมาย เนื่องจากลูกค้ามีการปรับลดการทำประกันรถยนต์จากชั้น 1 เป็นชั้น 2 และชั้น 3 เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย

 

อย่างไรก็ตามโดยภาพรวมทั้งปีนี้คาดว่า TIDLOR จะยังคงมีกำไรเติบโตได้ถึง 25.5% หรือราว 3.03 พันล้านบาท และเพิ่มเป็น 3.89 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตระดับ 28.4% ได้ในปีหน้า

 

“หุ้นของทั้ง MTC, SAWAD และ TIDLOR ยังสามารถลงทุนได้ถ้าเทียบกับราคาที่ปรับลดลงมามาก แต่เราชอบและคิดว่า MTC มีความโดดเด่นน่าลงทุนมากที่สุด เมื่อเทียบกับศักยภาพและการเติบโตในอนาคต เรามองว่าเมื่อการฉีดวัคซีน

ครอบคลุม เริ่มคลายล็อกดาวน์ เศรษฐกิจเริ่มฟื้น หุ้นตัวนี้น่าจะไปได้เพราะราคาไม่แพง”

 

เอนกพงศ์กล่าวด้วยว่า การลงทุนในหุ้นลีสซิ่งยังต้องติดตาม 4 ปัจจัยเสี่ยง คือ 1. สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ และมาตรการล็อกดาวน์จะยืดเยื้อยาวนานแค่ไหน เพราะจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ และทำให้ผู้ประกอบการต้องตั้งสำรองเพิ่มขึ้น

 

  1. ติดตามการออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของภาครัฐว่าจะมีมาตรการใดเพิ่มเติมอีกไหม หลังจากล่าสุดได้ออกมาตรการปรับลดค่าธรรมเนียมการทวงถาม นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มว่าธนาคารแห่งประเทศไทยอาจออกมาตรการเพิ่มเติมใหม่ คือการปรับลดเพดานการจัดเก็บดอกเบี้ยลงเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้

 

“มาตรการที่ภาครัฐออกมาเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ส่งผลกระทบกับแบงก์และนอนแบงก์ บางมาตรการกระทบมาก บางมาตรการกระทบน้อย บางมาตรการกระทบเชิงเซนติเมนต์ ตอนนี้มีการพิจารณาว่าอาจรับลดเพดานการจัดเก็บดอกเบี้ย ก็ต้องรอดูว่าแบงก์ชาติจะตัดสินใจอย่างไร” เอนกพงศ์กล่าว

 

 

ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย

 


 

เตรียมพบกับฟอรัมที่ผู้บริหารต้องดูก่อนวางแผนกลยุทธ์ปีหน้า! The Secret Sauce Strategy Forum คัมภีร์กลยุทธ์ฝ่าวิกฤตปี 2022


📌
เฟรมเวิร์กกลยุทธ์ใช้ได้จริง
📌
ฉากทัศน์เศรษฐกิจไทยโลก
📌
เทรนด์ผู้บริโภคการตลาด
📌
เคสจริงจากผู้บริหาร

 

พิเศษ! บัตร Early Bird 999 บาท วันนี้ถึง 27 สิงหาคมนี้เท่านั้น

 

ซื้อบัตรได้แล้วที่ www.zipeventapp.com/e/the-secret-sauce

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising